รีเซต

เงินบาทอ่อน ! นิวไฮรอบ 1 ปี กนง.ใช้นโยบายการเงินสวนทางเฟด

เงินบาทอ่อน ! นิวไฮรอบ 1 ปี กนง.ใช้นโยบายการเงินสวนทางเฟด
TNN Wealth
24 มิถุนายน 2564 ( 09:36 )
90

 

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 31.84 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ชี้วานนี้อ่อนค่าสุดทำนิวไฮรอบ 1 ปี หลังกนง.ใช้นโยบายดอกเบี้ยผ่อนคลายสวนทางเฟดเข้มงวด ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งไม่หยุด-การกระจายวัคซีนล่าช้า


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 31.84 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวานนี้ค่าเงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 31.86 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำสถิติอ่อนสุดในรอบ 1 ปี 24 วัน เดือนนับจากพ.ค.63 เป็นผลมาจากโควิดที่แพร่ระบาดไม่หยุดและจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ต้องคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% และปรับลดเป้าจีดีพีในปีนี้เติบโตเพียง 1.8% สวนทางธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดที่เตรียมทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น หลังเศรษฐกิจฟื้นตัว

 

สำหรับปัจจัยกดดันการอ่อนค่าของเงินบาท ยังคงเป็นประเด็นความกังวลสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 หลังยอดผู้ติดเชื้อรายวันปรับตัวสูงขึ้นและยังไม่มีทีท่าจะลดลง ขณะเดียวกัน การแจกจ่ายวัคซีนก็ดูจะล่าช้าและแผนการแจกจ่ายวัคซีนอาจไม่สามารถรับมือกับการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าได้ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติยังสามารถทยอยขายสินทรัพย์เสี่ยงไทย

 

ทั้งนี้มองว่าเงินบาทจะไม่อ่อนค่าทะลุระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นแนวต้านสำคัญ เพราะระดับดังกล่าวก็เป็นโซนที่ผู้ส่งออกบางส่วนต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ เมื่อเงินบาทอ่อนค่าลง ธนาคารแห่งประเทศไทย อาจใช้จังหวะนี้ทยอยลดการถือเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (FX Reserves) ลงบ้าง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สหรัฐฯมองว่า ไทยมีการแทรกแซงค่าเงินในทิศทางเดียว เพื่อให้ FX reserves มีการลดลงบ้าง มองกรอบเงินบาทวันนี้อยู่ที่ระดับ 31.80-31.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

 

ผู้เล่นในตลาดการเงินเริ่มกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น หลัง ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดทั้งที่เป็น Voting member ของ FOMC อาทิ Raphael Bostic และ Non-Voting mem ber อย่าง Robert Kaplan ต่างสนับสนุนการทยอยใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น (Tightening) ของเฟด โดยมองว่า การทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่องหรือลดการทำคิวอี สามารถทำได้ หลังเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

 

มุมมองสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นของเจ้าหน้าที่เฟดดังกล่าว ได้กดดันให้ ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงออกมาบ้าง กดดันให้ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.11% ขณะที่ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นราว +0.13% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้น Tesla กว่า +5% หลังผู้เล่นในตลาดเข้ามาก็งกำไรราคาหุ้น Tesla ผ่านตลาด Options มากขึ้น

 

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นในฝั่งยุโรป รายข้อมูลเศรษฐกิจ อย่าง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing & Services PMIs ) ที่ออกมาดีเกินคาดมาก กลับ กดดันให้ ผู้เล่นในตลาดกังวลแนวโน้มเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นและกังวลโอกาสที่ธนาคารกลางยุโรปจะทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่อง ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเลือกขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยง กดดันให้ ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ก็ปรับตัวลง -1.14% โดยเป็นการปรับตัวลงของหุ้นในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว 2bps สู่ระดับ 1.49% ตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ออกมาสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น โดยเฉพาะ การทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่อง อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะยังแกว่งตัวในกรอบต่อไป เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านข้อมูลการจ้างงานและเงินเฟ้อ รวมถึงตลาดจะรอการส่งสัญญาณการปรับนโยบายการเงินของเฟดที่อาจเกิดขึ้นในงานสัมมนาวิชาการประจำปีของเฟดที่ Jackson Hole

 

ฝั่งตลาดค่าเงินดอลลาร์ เคลื่อนไหวผันผวน จากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดที่ออกมาทั้งสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น ขณะที่เจ้าหน้าที่บางส่วน โดยเฉพาะประธานเฟดก็ยังคง ย้ำว่าเฟดยังไม่รีบใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัว ส่งผลให้ เงินดอลลาร์ยังคงทรงตัวในระดับเดิม โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 91.80 จุด

 

สำหรับวันนี้ตลาดจะให้ความสำคัญกับแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยนักวิเคราะห์ต่างมองว่า ตลาดแรงงานมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น จากความต้องการแรงงานที่เพิ่มขึ้น และการทยอยลดเงินสนับสนุนเพิ่มเติมกับผู้ว่างงาน เพื่อจูงใจให้คนกลับมาทำงานมากขึ้น ทำให้ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) มีแนวโน้มลดลงสู่ระดับ 3.8 แสนราย

 

ส่วนทางด้านฝั่งอังกฤษ ยังคงต้องติดตามการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่อาจกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจได้ หากการระบาดทวีความรุนแรงมากขึ้นและควบคุมไม่ได้ ซึ่งปัญหาการระบาดดังกล่าวจะกดดันให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Bank Rate) ที่ระดับ 0.10% และเดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการซื้อสินทรัพย์ (QE) เพื่อหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ แม้การแจกจ่ายวัคซีนจะครอบคลุมประชากรถึง 55%

 

ฝั่งไทยตลาดมองว่า ภาคการส่งออกยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังคงบอบช้ำจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 โดยตลาดคาดว่ายอดการส่งออก (Exports) เดือนพฤษภาคม อาจโตขึ้นกว่า 35% y/y หนุนโดยจากความต้องการสินค้าทั่วโลก ขณะที่ยอดการนำเข้า (Imports) จะโตกว่า 53% y/y ตามการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการส่งออกเป็นหลัก

 

ขณะที่เงินดอลลาร์ยังคงมีแรงหนุนในฝั่งแข็งค่าอยู่ ทำให้เงินดอลลาร์ สามารถกลับมาแข็งค่าได้อีกครั้ง หากตลาดกังวลแนวโน้มเฟดใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น หรือ ตลาดอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) มากขึ้น อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินดอลลาร์ก็มีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบ และจะกลับมาอ่อนค่าลงได้ เมื่อทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในฝั่งยุโรปหรือเอเชียจะกลับมาสดใสมากขึ้น ซึ่งต้องจับตาสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในยุโรปและเอเชียอย่างใกล้ชิด

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง