แบงก์ชาติ ปรับเกณฑ์ เปิดทางเอสเอ็มอีเข้าถึงซอฟต์โลน
วันที่ 28 ธันวาคม นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19) ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยบางกลุ่มยังมีรายได้ไม่เพียงพอเพื่อประคับประคองธุรกิจ ธปท. จึงปรับปรุงเกณฑ์ ซึ่งอยู่ในวิสัยที่ดำเนินการได้ในชั้นนี้เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 (ซอฟต์โลน) ให้มีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1.ปรับนิยามคำว่า ‘กลุ่มธุรกิจ’ ที่เป็นหนึ่งในเกณฑ์การพิจารณาให้สินเชื่อโดยแยกพิจารณาความสัมพันธ์ของบุคคลธรรมดาออกจากนิติบุคคล พร้อมทั้งนับความสัมพันธ์ให้เหลือเพียงลำดับเดียว ส่งผลให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อซอฟต์โลนได้ง่ายขึ้น
ประเภทการขอสินเชื่อ | นิยาม ‘กลุ่มธุรกิจ’ เกณฑ์เดิม | นิยาม ‘กลุ่มธุรกิจ’ เกณฑ์ปรับใหม่มีผล 1 ม.ค. 2564 |
บุคคลธรรมดา | พิจารณาจากบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดจนเปรียบเสมือนเป็นการให้สินเชื่อแก่บุคคลเดียวกัน | พิจารณาเฉพาะ สามี-ภรรยา ตามกฎหมาย |
นิติบุคคล | พิจารณาบริษัทร่วมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด | พิจารณาเฉพาะบริษัทแม่ที่ถือหุ้นอยู่ในบริษัทลูกเกินร้อยละ 50 เพียงลำดับเดียว |
บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล | พิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลธรรมดาร่วมกับนิติบุคคล | ไม่นับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลธรรมดาร่วมกับนิติบุคคล |
2.เปลี่ยนวิธีปฏิบัติเรื่องจำนวนครั้งในการขอสินเชื่อ โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอียื่นขอกู้ซอฟต์โลนได้ไม่เกิน 2 ครั้ง จากเดิมที่กำหนดให้ยื่นขอกู้ได้เพียงครั้งเดียว ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ยังมีวงเงินกู้ซอฟต์โลนเหลืออยู่ สามารถกลับมายื่นขอสินเชื่อได้อีกครั้ง
ทั้งนี้ เกณฑ์ดังกล่าวได้ผ่อนปรนเพิ่มเติมหลังจากที่ได้ขยายให้รองรับบริษัทที่มีหลักทรัพย์
จดทะเบียนในตลาด MAI และขยายเวลาขอสินเชื่ออีก 6 เดือนไปในช่วงก่อนหน้า ซึ่งผู้ประกอบการ
เอสเอ็มอีสามารถยื่นขอสินเชื่อซอฟต์โลนจากสถาบันการเงินได้แล้ว โดยสถาบันการเงินต้องยื่นขอสินเชื่อซอฟต์โลนให้ ธปท. อนุมัติก่อนวันที่ 18 เมษายน 2564