รีเซต

SMEs รับอานิสงค์จากมาตรการ ธปท.เพิ่ม

SMEs รับอานิสงค์จากมาตรการ ธปท.เพิ่ม
TNN ช่อง16
23 มิถุนายน 2563 ( 10:49 )
233
SMEs รับอานิสงค์จากมาตรการ ธปท.เพิ่ม

มาตรการเพื่อไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ "การ์ดตก" ให้รักษาระดับเงินกองทุนให้เข้มแข็งต่อเนื่องจนกว่าจะจัดทำแผนบริหารจัดการเงินกองทุนใหม่ได้ชัดเจนขึ้น ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ที่ผ่านมา ยังมีคำถามสำหรับธุรกิจ SMEs ที่วงเงินไม่สูงมาก จะไปอาศัยหรือต่อยอดวงเงิน หรือกู้ให้จากธนาคารพาณิชย์ คงจะยากมากยิ่งขึ้น  ที่ผ่านมาการ์ดไม่สูง SMEs ก็เข้าถึงยากอยู่แล้ว แม้กระทั่งซอฟต์โลน ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ให้ธนาคารพาณิชย์นำไปปล่อยดอกเบี้ยต่ำให้กับ SMEs ที่ประสบปัญหาสภาพคล่องนั้น ธนาคารพาณิชย์ก็ไม่ได้ปล่อยเป็นการทั่วไป  เลือกช่วยเหลือเฉพาะลูกค้า SMEs ของตน ที่มีวงเงินก็จำนวนเยอะๆ  ต่ำจากนั้นไม่ได้  หลังจากนี้เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย มีมาตรการช่วยลูกหนี้ เฟส 1 เฟส 2 ออกมาและ จะลดภาระให้เอสเอ็มอีมากน้อยแค่ไหนต้องติดตามกัน ยาวๆ 

 

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ โออีซีดี (OECD) ได้เปิดเผยรายงาน “มาตราการช่วยเหลือ SMEs ทั่วโลก” เพื่อช่วยสนับสนุนด้านข้อมูลให้แก่รัฐบาลต่างๆ นำไปใช้เป็นแนวทาง เนื่องจาก การระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัททั้งขนาดใหญ่และเล็ก แต่ SMEs จะได้รับผลกระทบรุนแรงกว่า เนื่องจาก SMEs เหล่านี้มีความเปราะบาง และมีความยืดหยุ่นที่ต่ำกว่า ซึ่งตามการวิเคราะห์ของ OECD ระบุว่า SMEs ที่จะได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษจากวิกฤตไวรัสครั้งนี้ ได้แก่ ภาคการผลิตเพื่อการคมนาคม / การก่อสร้าง / การค้าส่งและค้าปลีก / การขนส่งทางอากาศ / ธุรกิจที่พักและบริการอาหาร / อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจด้านการบริการส่วนบุคคล (เช่น ร้านทำผม)

 

มาตรการสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กวงเงิน 50,000 ล้านยูโร ซึ่งในจำนวนนี้ ประกอบไปด้วย เงินช่วยเหลือ (ให้เปล่า) สำหรับธุรกิจขนาดเล็กในทุกภาคส่วน รวมถึง บุคคลที่ประกอบอาชีพอิสระ โดยธุรกิจที่มีพนักงานไม่เกิน 5 คน จะได้รับเงินช่วยเหลือครั้งเดียวสูงสุด 9,000 ยูโร เป็นระยะเวลา 3 เดือน / ธุรกิจที่มีพนักงานไม่เกิน 10 คน จะได้รับเงินช่วยเหลือครั้งเดียวสูงสุด 15,000 ยูโร เป็นระยะเวลา 3 เดือน

โครงการลดเวลาการทำงาน เพื่อช่วยภาคธุรกิจลดค่าใช้จ่าย และป้องกันไม่ให้บริษัทต่างๆ ปลดพนักงานออกจากงาน ในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง โดยบริษัทสามารถยื่นขอเงินสนับสนุนทันที หากมีพนักงานอย่างน้อย 10% ได้รับผลกระทบจากการหยุดงาน

ประกาศเพิ่มการลงทุนกว่า 3.1 พันล้านยูโร ระหว่างปี 2564-2567 เพื่อส่งเสริมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจ รวมไปถึงบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง

ประกาศลดหย่อนภาษี และระงับการคิดค่าปรับชั่วคราวในปีนี้

ในวันที่ 27 มีนาคม ประกาศให้ "การแก้ไขกฎหมายรล้มละลาย ในช่วง Covid-19 " 

 

ด้านรัฐบาลจีนได้ประกาศมาตรการช่วยเหลือ SMEs จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น โครงการขยายเวลาการชำระภาษี / โครงการลดค่าเช่า / โครงการการยกเว้นค่าธรรมเนียมทางการต่างๆ / รวมไปถึงการอุดหนุนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาสำหรับผู้ประกอบการ SMEs / กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และความมั่นคงทางสังคมจีน ประกาศเปิดการเข้าถึงแพลตฟอร์มฝึกอบรม

ออนไลน์ฟรี สำหรับ SMEs

ธนาคารกลางจีนประกาศเพิ่มสภาพคล่องในภาคการธนาคารกว่า 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนการปล่อยกู้ให้แก่ภาคเอกชน

 

มาตรการเงินกู้ฉุกเฉินวงเงิน 3 แสน 3 หมื่นล้านปอนด์ โดยจำนวนนี้ 23 % เป็นโครงการเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจ ซึ่งรวมการปล่อยกู้ให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กวงเงินสูงสุด 5 ล้านปอนด์ต่อราย โดยรัฐบาลค้ำประกันเงินกู้ 80%

 

โครงการ “บาวซ์ แบค โลน” (Bounce Back Loans) ที่จะให้เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กในอังกฤษ เช่น ร้านตัดผม ร้านกาแฟ และร้านดอกไม้ สามารถกู้เงินตั้งแต่ 2,000 ถึง 50,000 ปอนด์ ในอัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.5% ต่อปี โดยธนาคารที่ปล่อยกู้ไม่ต้องตรวจสอบเครดิตของผู้กู้หรือประเมินว่าธุรกิจจะสามารถอยู่รอดในระยะยาวได้หรือไม่

 

มาตรการช่วยเหลือบริษัทสตาร์ทอัพวงเงินมูลค่าสูงถึง 1,250 ล้านปอนด์ (หรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท) โดยภายใต้งบประมาณก้อนนี้ ประกอบไปด้วย 1. งบประมาณช่วยเหลือบริษัท Start-ups ที่เติบโตเร็ว ที่รัฐบาลอังกฤษตั้งชื่อว่า “Future Fund” มูลค่า 500 ล้านปอนด์ และ 2. เงินสนับสนุนบริษัทเพื่อการวิจัยและพัฒนาอีก 750 ล้านปอนด์ โดยในจำนวนนี้จะเป็นทั้งเงินกู้และเงินให้เปล่า

 

มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพอิสระสูงสุดประมาณ 1 แสนบาทต่อเดือน โดยผู้จ้างงานตัวเอง / บุคคลที่ประกอบธุรกิจของตนเอง หรือเป็นเจ้าของกิจการโดยไม่มีผู้บังคับบัญชา สามารถสมัครขอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลอังกฤษได้ถึง 80 เปอร์เซนต์ของกำไรเฉลี่ยต่อเดือน แต่สูงสุดไม่เกิน 2 พัน 500 ปอนด์ต่อเดือน หรือประมาณ 1 แสนบาทต่อเดือน เพื่อรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ หลังจากรัฐบาลอังกฤษประกาศใช้มาตรการปิดเมือง เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

 

 

สภาคองเกรสของสหรัฐฯ ได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 62 ล้านล้านบาท เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยภายใต้งบประมาณก้อนดังกล่าว ประกอบไปด้วยโครงการช่วยเหลือ SMEs ได้แก่ 

 

1.โครงการประกันเงินเดือน หรือ The Payroll Protection Program วงเงินกว่า 3 แสน 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นโครงการปล่อยเงินกู้ให้กับธุรกิจขนาดเล็ก เพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้สามารถจ่ายค่าแรงและสิทธิประโยชน์ให้แก่พนักงาน

2.โครงการปล่อยเงินเงินกู้ให้กับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางกว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ 

3. โครงการลดภาษีและขยายระยะเวลาการชำระภาษีแก่ธุรกิจทุกขนาด มูลค่ากว่า 2 แสน 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

 

โครงการที่เผยแพร่ในระบบ “ThaiMe” ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เสนอโครงการภายใต้แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมตามบัญชีท้าย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ที่กันไว้สำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท   ประกอบด้วย

 

1.โครงการพลิกฟื้นธุรกิจเอสเอ็มอีที่เป็นเอ็นพีแอลให้กลับมาทำธุรกิจได้ ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี (เริ่มเดือน ส.ค.2563) วงเงิน 100,000 ล้านบาท ช่วยเอสเอ็มอี 110,000 ราย เพราะเอสเอ็มอีมีปัญหาเอ็นพีแอล รวมทั้งมีสถานะการเป็นผู้ที่มีหนี้ค้างชำระในรายงานของเครดิตบูโร ซึ่งเป็นสถานะที่เป็นลบส่งผลให้สถาบันการเงินไม่ให้สินเชื่อเพิ่ม และท้ายที่สุดธุรกิจที่ยังมีศักยภาพต้องล้มตายไป จึงต้องเร่งช่วยเหลือเอสเอ็มอีเป็นเอ็นพีแอลฟื้นธุรกิจได้

 

2.โครงการฟื้นฟูศักยภาพธุรกิจเอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี (เริ่มเดือน ส.ค.2563) วงเงิน 50,000 ล้านบาท ช่วยเหลือเอสเอ็มอี 55,000 ราย

 

โดยให้เอสเอ็มอีหรือกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกู้ยืมเพื่อก่อตั้ง ปรับปรุงและพัฒนากิจการของวิสาหกิจหรือกลุ่มวิสาหกิจให้มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น รวมถึงเป็นเงินช่วยเหลืออุดหนุนการดำเนินการ การร่วมกิจการ ร่วมทุน หรือลงทุนใดที่เกี่ยวกับการก่อตั้ง การขยายกิจการ การวิจัย พัฒนา และการส่งเสริมเอสเอ็มอีให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

 

ปิดรับความเห็นรอบแรกไปแล้ว สำหรับการยื่นข้อเสนอโครงการเบื้องต้น ภายใต้การใช้จ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ในส่วนของแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท ที่หน่วยงานต่างๆ ได้ เสนอเข้ามา 34,263 โครงการ วงเงิน 841,269 ล้านบาท   ส่วนโครงการจะใดจะได้รับอนุมัติหรือไม่นั้น ต้องขึ้นกับการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 7 กรกฎาคม 2563

          

ทั้งนี้ โครงการขนาดใหญ่ พบว่า หน่วยงานภายใต้การกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี ที่น่าสนใจเป็นโครงการพลิกฟื้นธุรกิจเอสเอ็มอีที่เป็นเอ็นพีแอลให้กลับมาดำเนินธุรกิจได้ ของ  สสว. โดยเป็นการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีสถานะเป็น NPL ให้สามารถฟื้นธุรกิจได้ โดยให้กู้ยืมเงินไปปรับปรุงกิจการ มีเป้าหมาย 1.1 แสนราย

                   

ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรม มีโครงการที่เสนอเข้ามา 71 โครงการ รวมวงเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่ นำไปช่วยเหลือเอสเอ็มอี อย่างโครงการย่อย พลิกฟื้นธุรกิจเอสเอ็มอี สู่วิถีความปกติใหม่ วงเงิน 3.8 พันล้านบาท ที่จะเข้าไปช่วยยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการจำนวน 9,150 กิจการ และผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ 4.04 แสนราย ก่อให้เกิดการสร้างโอกาสทางธุรกิจ คิดเป็นมูลค่าราว 1.22 หมื่นล้านบาท

และที่น่าสนใจ คือ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB ได้เก็บตัวเลขและประเมิน ธุรกิจ SME ภูมิภาคใด “ฟื้นช้า ฟื้นเร็ว” หลังโควิด-19 ภายหลังการทยอยผ่อนคลายล็อกดาวน์ โดยพิจารณานโยบายปลดล็อกประเทศทั้งในประเทศและตลาดส่งออกของแต่ละธุรกิจ ความจำเป็นของลักษณะสินค้าต่อการดำรงชีวิตประจำวันของผู้บริโภค และปัจจัยเสี่ยงด้านโครงสร้างธุรกิจที่มีอยู่เดิมที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบอย่างหนักแม้ปลดล็อกดาวน์ไปแล้ว โดยประเมินการฟื้นตัวของธุรกิจ SMEs ที่มีจำนวนเกือบ 3 ล้านรายในปัจจุบัน ตามประเภทธุรกิจ SMEs ในแต่ละภูมิภาคว่าจะสามารถฟื้นอย่างไร ซึ่งแบ่งลักษณะการฟื้นตัวของธุรกิจ SMEs ในแต่ละภูมิภาคออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ 

 

 

กลุ่มที่ 1 ภูมิภาคที่ SMEs ฟื้นตัวช่วงนี้(ไตรมาส 3)  มีผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 1.73 ล้านราย และมีการจ้างงานรวม 6.1 ล้านคน แยกออกเป็นสองกลุ่มย่อย คือ

 

กลุ่มฟื้นตัวแล้ว คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 12% ของรายได้ทั้งหมดของ SMEs ทั้งประเทศ โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ กรุงเทพและปริมณฑล”  ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ผู้ประกอบการ SMEs ที่ฟื้นตัวคิดเป็น 14% 13% และ 12% ของรายได้ทั้งหมดของธุรกิจ SMEs ในภูมิภาคนั้นๆ ตามลำดับ เนื่องจากประเภทธุรกิจของ SMEs ในสามภูมิภาคนี้ มีความเกี่ยวโยงกับสินค้าที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ที่สำคัญคือมีการพึ่งพิงตลาดในประเทศเป็นหลัก เช่น การซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภคกลุ่มสินค้าจำเป็น ธุรกิจฟาร์มปศุสัตว์ โรงพยาบาล/ คลินิก ยารักษาโรค และวัสดุก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างภาครัฐ

 

กลุ่มกำลังฟื้นตัว คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 61% ของรายได้ทั้งหมดของ SMEs ทั้งประเทศ ส่วนใหญ่จะอยู่ใน “ภาคกลาง และภาคตะวันออก” โดยการฟื้นตัวคิดเป็น 65% และ 63% ของรายได้ทั้งหมดของธุรกิจ SMEs ในภูมิภาคนั้นๆ ตามลำดับ เนื่องจากธุรกิจในพื้นที่จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปจากการคลายล็อกดาวน์ของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก โดยจะอยู่ในภาคธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม การให้บริการทางธุรกิจ การรับเหมาก่อสร้าง ชิ้นส่วนอุปการณ์เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอาจใช้เวลาพอสมควรในการคลายล็อกดาวน์จึงจะครอบคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

 

กลุ่มที่ 2 ภูมิภาคที่ SMEs จะฟื้นตัวได้ปลายปีนี้ มีผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 1.03 ล้านราย โดยมีสัดส่วนรายได้คิดเป็น 27% ของรายได้ทั้งหมดของ SMEs ทั้งประเทศ และมีการจ้างงานรวม 2.9 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร การบริการส่วนบุคคล และสินค้าแฟชั่น หากมองการกระจุกตัวของผู้ประกอบการในธุรกิจดังกล่าว ส่วนใหญ่จะกระจุกอยู่ใน “ภาคใต้” ซึ่งการฟื้นตัวคิดเป็นสัดส่วนรายได้ 36% ของรายได้ทั้งหมดของธุรกิจ SMEs ที่อยู่ในภาคใต้ เนื่องจากโครงสร้างธุรกิจภาคใต้มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ 

สรุปผลการศึกษาแนวโน้มการฟื้นตัวของธุรกิจ SMEs ของแต่ละภูมิภาค พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ กรุงเทพและปริมณฑล มีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็ว ตามสัดส่วนธุรกิจ SMEs ที่ฟื้นตัวแล้วและกำลังฟื้นตัวที่มีสัดส่วนที่สูง และธุรกิจส่วนใหญ่ของ SMEs เป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันซึ่งพึ่งพิงตลาดในประเทศเป็นหลัก สำหรับภาคกลางและภาคตะวันออก แนวโน้มฟื้นตัวอย่างฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับภาคการผลิตสูงซึ่งต้องพึ่งพิงทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ซึ่งคาดว่าประเทศคู่ค้ากำลังทยอยปลดล็อกหลังโควิด-19 เช่นเดียวกัน ส่วน ภาคใต้ แนวโน้มจะกลับฟื้นตัวได้ช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจพึ่งพิงการท่องเที่ยวจากต่างประเทศและพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ซึ่งทิศทางราคาไม่ดีนักตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและราคาพลังงานที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน

 

 ทั้งนี้ โจทย์ใหญ่สำคัญของประเทศในการเดินหน้าต่อไปคือ จะต้องสร้างเงื่อนไขเพื่อให้ทุกพื้นที่ของไทยเติบโตอย่างเท่าเทียมกันในยามที่ต้องพึ่งพิงการบริโภคในประเทศเป็นหลัก ซึ่งภาครัฐและเอกชนต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการณ์กระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคด้วยการพัฒนาจุดเด่นของแต่ละพื้นที่ อาทิเช่น สินค้าเด่น วัตถุดิบของแต่ละพื้นที่ที่มี สถานที่ท่องเที่ยว ฯลฯ เพื่อให้ทุกภูมิภาคฟื้นตัวจากปัญหาโควิด-19 ในยามที่เศรษฐกิจต้องพึ่งการบริโภคในประเทศ เพื่อ “ให้ภาคธุรกิจ SMEs ของภูมิภาคต่างๆ ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

 เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง