รีเซต

ส่องแบงก์ แก้ซอฟต์โลนเอสเอ็มอี

ส่องแบงก์ แก้ซอฟต์โลนเอสเอ็มอี
มติชน
1 มิถุนายน 2564 ( 07:02 )
112
ส่องแบงก์ แก้ซอฟต์โลนเอสเอ็มอี

 

มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู หรือซอฟต์โลนตัวใหม่ ของทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท ได้คลอดออกมาเดือนกว่าแล้ว แต่ผลปรากฏว่าตัวเลขการอนุมัติวงเงินสินเชื่อมีจำนวนน้อยเพียง 15,8545 ล้านบาท มีจำนวนลูกหนี้ 6,611 ราย คิดเป็นยอดสินเชื่อเฉลี่ย 2.4 ล้านบาทต่อราย ประกอบกับเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะ ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้

 

 

 

นายพรชัย รัตนตรัยภพ ประธานคณะกรรมการบริหารเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ระบุว่า เงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินตอนนี้ คือ 1.ธุรกิจต้องมีผลการดำเนินงานที่ดี 2.ต้องไม่มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) 3.มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน บางคนมีหลักทรัพย์แล้วแต่ก็ยังไม่ปล่อยกู้อยู่ดี โดยเฉพาะธุรกิจรายย่อยแทบเข้าไม่ถึงสินเชื่อได้เลย ธปท.จึงมีการหารือใหม่กับสมาคมธนาคารไทยเมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ผลการหารือเบื้องต้นคือ ทางสมาคมธนาคารไทยร่วมมือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยขอให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวบรวมรายชื่อข้อมูลของผู้ประกอบการที่สนใจขอสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อเสริมสภาพคล่องและหาแนวทางข้อสรุปในการช่วยเหลือแต่ละราย ซึ่งทางสมาคมธนาคารไทยจะได้ส่งต่อให้กับธนาคารสมาชิกต่อไป โดยขณะนี้ธนาคารต่างๆ กำลังเร่งพิจารณาคำขออนุมัติสินเชื่อที่สามารถเข้าร่วมโครงการสินเชื่อฟื้นฟูของ ธปท.ได้ คาดว่าภายใน 6 เดือนแรก ตั้งเป้าอนุมัติสินเชื่อ 1 แสนล้านบาท

 

 

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า ข้อจำกัดที่ทำให้เอสเอ็มอี หลายรายไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ คือ (1) เอสเอ็มอีมีความเสี่ยงในช่วงที่เศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง (2) สถาบันการเงินประเมินความเสี่ยงของเอสเอ็มอีได้ยาก เพราะขาดข้อมูล และ (3) ยังขาดคนกลางที่จะช่วยชี้เป้าเอสเอ็มอี ที่มีศักยภาพและจะกลับมาฟื้นตัวได้ เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างตรงจุด มองไปข้างหน้า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะต้องใช้เวลา ทำให้ต้องเร่งแก้ปัญหาเรื่องสภาพคล่องของเอสเอ็มอีไม่ให้ลุกลามไปกว่านี้ ซึ่งทั้ง 4 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ สถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ และเอสเอ็มอีต้องทำงานร่วมกัน และยกระดับบทบาทของตนในการช่วยให้เอสเอ็มอีได้รับสภาพคล่องอย่างทันการณ์

 

 

(1) ภาครัฐและ ธปท.มีบทบาทในการช่วยลดความเสี่ยงภาพรวมของเอสเอ็มอี โดยได้เตรียมความพร้อมและเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการฟื้นฟู โดยได้ขยายเงื่อนไขและเพิ่มกลไก บสย. ในการรองรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นตามที่ได้เรียนข้างต้นแล้ว (2) สถาบันการเงิน มีบทบาทในการประสานงานและเชื่อมต่อข้อมูลจากผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ และปรับแนวทางการประเมินความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ (3) ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ มีบทบาทสำคัญในการประสานความช่วยเหลือระหว่างสถาบันการเงินกับคู่ค้ารายย่อย รวมทั้งสนับสนุนข้อมูลของคู่ค้าที่เดิมยากที่จะเข้าถึงให้กับสถาบันการเงิน เพื่อประกอบการประเมินสินเชื่อและความเสี่ยงให้ได้ภาพครบถ้วนขึ้น (4) สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี ควรปรับตัวเตรียมพร้อมเพื่อให้อยู่รอดและมีโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนสภาพคล่อง โดยอาจยกระดับการจัดการธุรกิจ เช่น การจัดการเรื่องการเงินและบัญชีให้ได้มาตรฐาน รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยบริหารจัดการต้นทุน กำไร และสต๊อกสินค้าได้ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับข้อมูลฐานะการเงินของเอสเอ็มอี และเพิ่มความมั่นใจให้กับสถาบันการเงินในการพิจารณาความเสี่ยงด้วย

 

 

ซึ่งสอดคล้องกับทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ที่ได้วางแนวทางสนับสนุนทางด้านการเงินสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการค้ารายย่อย เอสเอ็มอี หรือคู่ค้าพันธมิตรของห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าต่างๆ ผ่าน ดิจิทัล แฟคตอริ่ง แพลตฟอร์ม (Digital Factoring Platform) โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทย จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อข้อมูลของผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย เพื่อช่วยให้การพิจารณาสินเชื่อ แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมทั้งเกษตรกรทั่วประเทศ เป็นไปได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว สำหรับ แฟคตอริ่ง หรือการรับซื้อหนี้การค้าเป็นสินเชื่อระยะสั้นที่สามารถเปลี่ยนบิล หรือเอกสารทางการค้า เช่น ใบสั่งซื้อ ใบแจ้งหนี้ค้างชำระ ใบวางบิล หรือใบตรวจรับพัสดุ ที่มีอยู่ในมือ ให้เป็นเงินสดเพื่อใช้หมุนเวียน นับเป็นหนึ่งในทางเลือกที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการมีกระแสเงินสด โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักประกันในการขอสินเชื่อ ซึ่งในแพลตฟอร์มนี้ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ จะทำหน้าที่เสมือนหลักค้ำประกันให้กับผู้ค้ารายย่อยของตน ซึ่งมีข้อมูลทางการค้าร่วมกันอยู่แล้ว

 

 

ทางบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้จับมือกับธนาคารกสิกรไทยจัดทำโครงการแซนด์บ็อกซ์ นำฐานข้อมูลการทำธุรกิจของคู่ค้าและซัพพลายเออร์ เบื้องต้นกว่า 4,000 รายของเซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล มาใช้ประกอบการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารกสิกรไทย ผ่าน Digital Factoring Platform และได้อนุมัติสินเชื่อกลุ่มแรกให้กับเอสเอ็มอี จำนวน 1,000 ราย ซึ่งกว่า 70% ของซัพพลายเออร์ยังไม่เคยเข้าถึงซอฟต์โลนมาก่อน

 

 

แต่ในอีกทางหนึ่งทางเดอะมอลล์ กรุ๊ป ได้ร่วมกับธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารออมสิน เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟูให้กับผู้ประกอบการกว่า 6,000 ราย โดยทางเดอะมอลล์เป็นตัวกลางประสานงานรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นของผู้ประกอบการที่ต้องการสินเชื่อให้แต่ละธนาคาร เพื่อให้ได้รับการพิจารณาสินเชื่ออย่างรวดเร็ว อีกทั้งจะช่วยในเรื่องของการเพิ่มยอดขาย เพิ่มศักยภาพของธุรกิจ เพื่อนำรายได้ไปชำระหนี้กับทางธนาคารได้อย่างปกติ ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นตัวกลางช่วยประสานให้กับ เอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรายย่อย ได้เข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟูมากขึ้น ช่วยประคับประคองกิจการ ช่วยเหลือการจ้างงาน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยรอดพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง