รีเซต

เสี่ยงปิดกิจการ! สินค้าจีนท่วม ฉุดธุรกิจดิ่ง SME หนัก l การตลาดเงินล้าน

เสี่ยงปิดกิจการ! สินค้าจีนท่วม ฉุดธุรกิจดิ่ง SME หนัก l การตลาดเงินล้าน
TNN ช่อง16
13 พฤษภาคม 2568 ( 11:53 )
8

ผลกระทบต่อสินค้าราคาถูกจากจีน เป็นบทวิเคราะห์จาก บริษัท โนมูระ โฮลดิ้ง (Nomura Holdings) ที่ประเมินว่า การไหลทะลักของสินค้าราคาถูกจากจีนอย่างฉับพลัน อาจก่อให้เกิดความปั่นป่วนอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย และอาจนำไปสู่ความไม่สมดุลทางการค้าในระดับที่สูงขึ้น

ประเทศที่นำเข้าสินค้าจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ มักจะเป็นประเทศที่เห็นการชะลอตัวของการเติบโตในภาคการผลิตอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งในสมัยที่ 2 เสียด้วยซ้ำ

โดยเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ เมื่อต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านการนำเข้าที่ดุเดือดมากขึ้น การตอบสนองเบื้องต้นที่เป็นไปได้ของบริษัทในท้องถิ่น คือ การลดราคาเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด แต่นั่นก็ต้องแลกมาด้วยกำไรที่ลดลง

ราคาสินค้าที่ถูกลง อาจเป็นข่าวดีสำหรับผู้บริโภค แต่เมื่อเวลาผ่านไป บริษัทในท้องถิ่นจะประสบภาวะขาดทุนทางการเงิน จนบริษัทเหล่านั้น จำเป็นจะต้องลดขนาดธุรกิจ ลดจำนวนพนักงาน และลดค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนลงและผลกระทบขั้นร้ายแรงที่สุดก็คือ การปิดกิจการ

ส่วนผลกระทบในระดับมหภาค คือ การขาดดุลการค้าที่มากขึ้น หรือเกินดุลน้อยลง รวมถึงแนวโน้มเงินเฟ้อชะลอตัวลงอย่างมาก และอาจเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ขณะเดียวกัน แรงกดดันทางการคลังจะเพิ่มขึ้น เพราะรัฐบาลอาจต้องหาทางช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อให้สามารถแข่งขันต่อไปได้

ซึ่งหากกลับมาที่ในประเทศไทย มีการขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้น ตัวเลขล่าสุด ปี 2567 ที่ผ่านมา ไทยขาดดุลการค้าให้กับจีน เป็นมูลค่า 1 ล้าน 6 แสน ล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดดุลเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ขาดดุล 1 ล้าน 3 แสน ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 300,000 ล้านบาท 

และสินค้าราคาถูก ก็ได้สร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจและภาคธุรกิจไทย มาอย่างต่อเนื่อง หลัก ๆ ผ่านมาช่องทางอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งที่เติบโตขึ้น มีรายงานข่าวด้วยว่า สินค้าผ่านแดน (ครอส บอร์เดอร์) เหล่านี้ มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท โดยแพลตฟอร์มทั้ง ชอปปี้ และลาซาด้า กว่าร้อยละ 70 เป็นสินค้าผ่านแดน ส่วน ทีมู เป็นสินค้าผ่านแดนทั้ง 100% 

ทั้งนี้ ธุรกิจเอสเอ็มอี ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากการหลั่งไหลเข้ามาของสินค้าราคาถูก แต่การจะแข่งขันด้วยการลดราคาสู้ เป็นไปได้ยากเนื่องจากจีนมีข้อได้เปรียบในเรื่องต้นทุน ดังนั้น การยกระดับความสามารถในการแข่งขัน จึงเป็นเรื่องจำเป็น

ไปรษณีย์ไทย ถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ โดย ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า กับ เอสเอ็มอี ที่เป็นลูกค้า ไปรษณีย์ไทยจะไม่ได้เป็นแค่คนรับของ และส่งของ แต่จะต้องทำมากกว่านั้น โดยจะเข้าไปสนับสนุนให้เขามีความสามารถในการต่อสู้

จึงได้จับมือกับ สภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ในการสร้างระบบนิเวศให้กับเอสเอ็มอี ตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ เพื่อให้พวกเขามีศักยภาพในการขายของได้มากขึ้น ความร่วมมือดังกล่าว จะครอบคลุมใน 8 ด้านสำคัญ ได้แก่ การเข้าถึงแหล่งทุน, ระบบชำระเงิน, ระบบขนส่ง, โครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ กฎหมาย, ช่องทางอีคอมเมิร์ซ รวมถึงการส่งเสริมองค์ความรู้และการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการ 

ดร.ดนันท์ กล่าวอีกว่า การพัฒนาสินค้าเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น จะเข้าไปช่วยดูด้วยว่าสินค้าที่เขาขายนั้น ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันหรือไม่

โดยการเข้าไปสนับสนุนเอสเอ็มอีนั้น ส่วนหนึ่งถือเป็นการสร้างวอลุ่มจากภายในเอง ขณะเดียวกัน ก็สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีศักยภาพให้สามารถก้าวผ่านวิกฤตไปให้ได้ด้วย

นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทย ยังเตรียมเปิดบริการขนส่งสินค้าเข้าคลัง แอมะซอน เอฟบีเอ (Amazon FBA) หรือ ฟูลฟิลเมนต์ บาย แอมะซอน (Fulfillment by Amazon) ซึ่งออกแบบมาสำหรับผู้ขายบน แอมะซอน ดอท คอม ที่ต้องการส่งสินค้าเข้าคลังไปยังสหรัฐอเมริกา โดย ไปรษณีย์ไทยรับหน้าที่รวบรวมสินค้าในประเทศไทย ดำเนินพิธีการศุลกากร และส่งสินค้าสู่คลัง FBA เพื่อช่วยผู้ค้ารายย่อยและเอสเอ็มอีไทยกระจายสินค้าสู่ตลาดอเมริกา

ซึ่งถือเป็นช่องทางในการผลักดันผู้ประกอบการ ซึ่งมีความโดดเด่นสามารถไปขึ้นแพลตฟอร์มดังกล่าว เพื่อให้สามารถเติบโตและพัฒนาต่อไปได้

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง