รีเซต

มอบอำนาจ สกสว. จัดงบ 'กองทุนอินโนเวชั่นวัน' ยกระดับสตาร์ทอัพ-เอสเอ็มอีไทยให้เข้มแข็ง

มอบอำนาจ สกสว. จัดงบ 'กองทุนอินโนเวชั่นวัน' ยกระดับสตาร์ทอัพ-เอสเอ็มอีไทยให้เข้มแข็ง
TNN ช่อง16
24 กุมภาพันธ์ 2566 ( 18:45 )
76
มอบอำนาจ สกสว. จัดงบ 'กองทุนอินโนเวชั่นวัน' ยกระดับสตาร์ทอัพ-เอสเอ็มอีไทยให้เข้มแข็ง

ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีวาระสำคัญ คือ การรับทราบรูปแบบการสมทบงบประมาณและการบริหารงบประมาณระหว่างกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และมอบอำนาจให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดสรรเงินให้ ส.อ.ท. ตามหนังสือแสดงเจตจำนง ภายใต้กรอบวงเงินที่ กสว.อนุมัติ ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี และให้รายงานต่อ กสว. เพื่อรับทราบการจัดสรรเงิน

รศ. ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ ที่ปรึกษาผู้อำนวยการ สกสว. ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักกลยุทธ์และพัฒนากองทุน และ ดร.วิบูลย์ รักสาสน์เจริญผล รองเลขาธิการ ส.อ.ท. ได้รายงานความคืบหน้าและแนวทางการดำเนินงานกองทุนนวัตกรรมฯ ซึ่งได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการ “กองทุนอินโนเวชั่นวัน”  ภายใต้กรอบความร่วมมือให้กองทุนฯ มีความยั่งยืน รวมถึงยกระดับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้ จึงได้ออกแบบโมเดลการดำเนินงานเพื่อให้ภาคเอกชนเข้าร่วมทุนกับภาครัฐ ทั้งแผนการลงทุน แผนการดำเนินงานโครงการ การจัดเตรียมกรอบและแผนการเบิกจ่ายเงินเพื่อจับคู่กับกรอบวงเงินที่ภาคีภาคเอกชนแจ้งมา โดยอินโนเวชั่นวันจะจัดหาเอสเอ็มอีที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีของสตาร์ทอัพ


ทั้งนี้ ในเบื้องต้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้อนุมัติงบประมาณ 185 ล้านบาทในการดำเนินงาน ซึ่งจะแบ่งงบร้อยละ 80  สนับสนุนแก่บริษัทสตาร์ทอัพที่สามารถยกระดับขีดความสามารถของเอสเอ็มอีในภาคอุตสาหกรรมในสาขาต่าง ๆ ได้ หลังจากนั้นจะเจรจากับเอสเอ็มอี โดย ส.อ.ท.จะใช้เครือข่ายเอสเอ็มอีภาคอุตสาหกรรมที่จะสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ได้ เพื่อให้สตาร์ทอัพทำธุรกิจได้จริง ขณะที่เอสเอ็มอีสามารถลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถให้เข้มแข็งมากขึ้น


นอกจากนี้ยังออกแบบให้เอสเอ็มอีมีโอกาสเข้ามาร่วมลงทุนเพื่อให้เจริญเติบโตไปพร้อมกับสตาร์ทอัพ โดยใช้งบอีกร้อยละ 20 ในการกระตุ้นให้เกิดก้าวต่อไปในองค์รวมของอุตสาหกรรมโดยไม่ใช้เงินภาษีของประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าเมื่อมีเทคโนโลยีที่สามารถยกระดับอุตสาหกรรมหรือสร้างอุตสาหกรรมใหม่ มักไม่ค่อยมีเอสเอ็มอีมาของบจากภาครัฐ จึงต้องมีคนช่วยผลักดัน เช่น เครื่องมือแพทย์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลิตเพิ่มขึ้นและเกิดผลกระทบต่อองค์รวมของประเทศ โดย ส.อ.ท.จะมีเกณฑ์การคัดเลือกโครงการเพื่อไปสู่เป้าหมายและใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า ภายใต้แนวคิดสำคัญคือ ต้องหาเอสเอ็มอีที่จะมาเป็นลูกค้าให้ได้ และประสานกับสตาร์ทอัพที่มีลูกค้ารออยู่


“รูปแบบการสมทบงบประมาณและการบริหารงบประมาณดังกล่าว ถือเป็นโมเดลใหม่ของประเทศไทยที่ขับเคลื่อนจากความต้องการของ SMEs ภาคอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ใช้เทคโนโลยี และเป็นลูกค้า (Demand Driven) ของสตาร์ทอัพ แต่ในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อิสราเอล ได้ดำเนินการแล้ว โดยเริ่มจากฝั่งผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้นำสินค้าเข้าสู่ตลาด โดย กสว. มอบอำนาจให้ สกสว.จัดสรรเงินตามหนังสือแสดงเจตนา (Letter of Intention) ของ ส.อ.ท. และแหล่งทุนเอกชนที่พร้อมแผนดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องกับการตรวจสอบของกองทุนฯ” ประธาน กสว. กล่าว


นอกจากนี้ กสว.ยังได้รับทราบคำของบประมาณของกองทุนส่งเสริม ววน. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของคณะกรรมการพิจารณางบประมาณด้าน ววน. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรีจำนวน 3.11 หมื่นล้านบาท และความก้าวหน้าในการดำเนินการ ซึ่ง สกสว. ได้ปรับปรุงรายละเอียดคำของงบประมาณโดยเฉพาะงบด้านการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งได้ยื่นคำของบประมาณกองทุนส่งเสริม ววน. ต่อสำนักงบประมาณเรียบร้อยแล้ว

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง