รายงานหน้า 2 : ‘หอการค้า’ชำแหละ‘แมชชิ่งฟันด์” ทะลวงท่อ‘ซอฟต์โลน’ได้แค่ไหน
หมายเหตุ – ความเห็นจากหอการค้า กรณีนายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) มีข้อเสนอแนะการแก้ปัญหารัฐบาลไม่สามารถปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน วงเงิน 5 แสนล้านบาท ให้กับกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี โดยใช้ไปเพียง 1 แสนล้านบาท โดยเสนอให้ทำ แมชชิ่ง ฟันด์ หรือการร่วมปล่อยกู้คนละครึ่ง ระหว่างสถาบันการเงินกับทางรัฐบาล เนื่องจากสถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยกู้ให้ธุรกิจเอสเอ็มอีโดยตรง
หัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ
ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา
กรณี นายเศรษฐา ทวีสิน มองปัญหาเอสเอ็มอีขาดสภาพคล่อง กรณีเงินกู้ 5 แสนล้านบาท ของรัฐบาล ใช้ไปแค่ 1 แสนล้านบาท ทำให้เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ด้วยหลายเหตุผล หนึ่งในนั้นอาจไม่แน่ใจว่าจะใช้คืนได้หรือไม่ พร้อมเสนอให้ทำแมชชิ่งฟันด์ ให้รัฐบาลจ่ายให้ครึ่งหนึ่ง แบงก์หลักของบริษัทนั้นให้ครึ่งหนึ่ง เงินกู้พิเศษนี้ถือว่ามีสิทธิเหนือเงินกู้เดิม คือถ้าเอสเอ็มอีกลับมาได้ต้องคืนรัฐ และเงินก้อนหลังของแบงก์ก่อน ห้ามเอาไปใช้หนี้เก่านั้น
ส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับแนวความคิดนี้ ต้องมีเงื่อนไขห้ามไม่ให้เอสเอ็มอี นำเงินกู้ใหม่ที่ดอกเบี้ยต่ำไปรีไฟแนนซ์ หรือไปปิดเงินกู้เก่าที่มีดอกเบี้ยสูง เพราะจะไม่ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่ม และไม่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อยอดกิจการให้เติบโตขึ้นอย่างแท้จริง แต่การที่รัฐบาลจะทำอย่างนี้ได้นั้นก็ไปติดปัญหาผิด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 ม.27, 28 กำหนดไว้ว่ารัฐบาลจะผูกพันเงินกู้ได้ไม่เกิน 30% ของปีงบประมาณนั้น งบประมาณปี 2564 มีจำนวน 3 ล้านล้านบาท หากคิด 30% ก็ประมาณ 9 แสนล้านบาท
ขณะนี้รัฐบาลใช้งบเกินเพดานไปแล้ว จึงนำเงินไปทำแมชชิ่งฟันด์เช่นนั้นไม่ได้ ยกเว้นแต่รัฐบาลจะไปแก้ พ.ร.บ.ดังกล่าวก่อน อาจจะยกเหตุผลเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบ จากไวรัสโควิด-19 หรือผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก เพื่อให้สามารถใช้งบได้ 40-50% ของปีงบประมาณได้ แต่ควรจะเป็นการขยายกรอบการใช้งบประมาณนี้แบบชั่วคราว เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นแล้วค่อยใช้กรอบ 30% ตามเดิมก็ได้
วโรดม ปิฏกานนท์
ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่
กรณีข้อเสนอทําเเมชชิ่งฟันด์ รัฐให้ครึ่ง แบงก์หลักของบริษัทนั้นให้ครึ่ง ผู้ประเมินความเสี่ยงให้ไม่ให้คือแบงก์ ถ้าแบงก์ปล่อยรัฐก็ต้องปล่อยด้วย
ในส่วนของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่คิดว่าเป็นแนวคิดที่ดี เพื่อให้เกิดการกระจายซอฟต์โลนสู่ภาคเอสเอ็มอี โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวมากขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่รอด โดยกำหนดเงื่อนไขตามข้อเสนอว่า ห้ามเอาไปใช้หนี้เก่า กำหนดเงื่อนไขให้ไปใช้ดำเนินกิจการเท่านั้น โดยเฉพาะการจ้างงาน และสภาพคล่อง รวมถึงต้องยอมรับข้อกำหนดว่าหากฟื้นตัวได้จะต้องคืนสถาบันการเงินและภาครัฐ วิธีการนี้ก็จะทำให้เงินไหลสู่ภาคเอกชน เอสเอ็มอีได้เร็วขึ้น และจะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการปล่อยซอฟต์โลนที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
ก่อนหน้านี้ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ได้นำเสนอมาตรการ 2 ประเด็นกับทาง ธปท. คือ 1.การแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการ และเอสเอ็มอีในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ เนื่องจากติดเงื่อนไขที่ไม่ผ่านการอนุมัติสินเชื่อค่อนข้างยากจากสถาบันการเงิน จึงขอเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผ่อนปรนเงื่อนไขสินเชื่อซอฟต์โลนของรัฐให้สามารถเข้าถึงได้ และกระจายไปยังผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น เช่น การผ่อนผันหลักเกณฑ์หลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ และการขยายระยะเวลาอัตราดอกเบี้ยพิเศษ (2%) ออกไปมากกว่า 3 ปี เป็นต้น
โดยให้มีการแบ่งประเภทธนาคารในการรองรับการอำนวยความสะดวกสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการแต่ละประเภทตามความเหมาะสม รวมถึงการพิจารณาขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้โดยไม่มีดอกเบี้ยระหว่างพักชำระหนี้ 2.การเตรียมมาตรการด้านปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ในธุรกิจบางประเภทไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้ โดยเฉพาะด้านธุรกิจทัวร์ การท่องเที่ยว เป็นต้น
กวิศพงศ์ สิริธนนนท์สกุล
ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา
ถือว่าเป็นข้อเสนอแนะที่ดี ทางทฤษฎีนั้นสามารถทำได้ แต่ในทางปฏิบัตินั้นเป็นไปได้ยาก เพราะธนาคารเองก็ไม่สามารถที่จะยอมรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น หากเอสเอ็มอีเหล่านั้นไม่ได้มีความมั่นคงเพียงพอ หากรัฐบาลจะทำ ก็ต้องใช้เงินของรัฐบาลเองทั้งหมด หรือใช้ธนาคารของรัฐพร้อมรับความเสี่ยงอาจจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ดังนั้นหากธนาคารไม่ปล่อยกู้ แน่นอนว่าธุรกิจเอสเอ็มอีก็รอวันตาย เพราะเมื่อไม่มีเงินก็เหมือนไม่มีเลือด ขณะนี้ถือว่าอยู่ในสภาพเช่นนี้ไม่น้อย
ส่วนแนวทางที่เป็นข้อแนะนำนั้น ได้เคยมีการประชุมในที่ประชุมหอการค้าไทย หากธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถจะปล่อยเงินกู้ให้เอสเอ็มอีได้ รัฐบาลก็ต้องปล่อยเองโดยผ่านธนาคารของรัฐ ที่เป็นเครื่องมืออยู่แล้ว จึงจะสามารถขับเคลื่อนได้
อนุรัตน์ อินทร
ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย
เอกชนเชียงรายเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจเอสเอ็มอี ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญของภาคธุรกิจและระบบเศรษฐกิจในชนบท เพราะผู้ประกอบการส่วนมากจะเป็นคนท้องถิ่นนั้นๆ นั่นหมายความว่าการกระจายของเม็ดเงินก็จะอยู่ในพื้นที่นั้นๆ ยอมส่งผลดีต่อผู้ประกอบการเองและคนในท้องถิ่นด้วย จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการซื้อขาย การจ้างงานและบริการ
อย่างไรก็ตาม ดูจากข้อเสนอแนะวิธีการยังไม่มีความชัดเจนว่าจะออกมาอย่างไร เงินที่รัฐสนับสนุนจะมีการคิดดอกเบี้ยเหมือนเอกชนด้วยหรือไม่ การชำระคืนมีกำหนดระยะเวลาไหม ต้องจ่ายคืนพร้อมกันหมดหรือจ่ายของเอกชนก่อนแล้วค่อยจ่ายเงินของรัฐ เรื่องนี้จะต้องมีข้อกำหนดออกมาที่ชัดเจน
หากเอกชนคิดดอกเบี้ยต่ำ และส่วนที่เป็นของรัฐไม่คิดดอกเบี้ย 3 ปียังไม่ต้องผ่อน เลยกว่านั้นก็ทยอยผ่อนของเอกชนก่อนแล้วค่อยคืนส่วนของรัฐ หากใครทำธุรกิจดีขึ้นมีรายได้จะปิดทั้งหมดก็ไม่ว่ากัน หากเป็นรูปแบบนี้เชื่อว่าจะเป็นโครงการที่ดีทั้งธุรกิจเอสเอ็มอีเก่าที่ขาดสภาพคล่องและธุรกิจใหม่จะมีการก่อตั้งขึ้นมาอีกมาก จะทำให้คนมีงานทำมีรายได้ ท้ายสุดเศรษฐกิจโดยรวมก็จะดีไปด้วย