รีเซต

ส่องภาวะเศรษฐกิจไทย กลางปัจจัยเก่า-ใหม่รุมเร้า

ส่องภาวะเศรษฐกิจไทย กลางปัจจัยเก่า-ใหม่รุมเร้า
มติชน
21 กันยายน 2565 ( 09:11 )
59
ส่องภาวะเศรษฐกิจไทย กลางปัจจัยเก่า-ใหม่รุมเร้า

หมายเหตุความเห็นภาคธุรกิจในการวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565

เกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

กรณีธนาคารโลกระบุว่าเศรษฐกิจโลกในช่วงต้นปีหน้ามีแนวโน้มชะลอตัวนั้นมีความกังวลต่อเศรษฐกิจไทย ส.อ.ท.ก็ห่วงใย อย่างที่ทราบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากเรื่องความขัดแย้งของรัสเซียกับยูเครนที่บานปลาย และยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์กันไว้ ไม่มีแนวโน้มว่าจะหยุดเมื่อไหร่ และเรื่องของราคาพลังงานพุ่งขึ้นสูง ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อหนักไปทั่วโลก ตอนนี้สหรัฐอเมริกาทำสงครามรบกับเงินเฟ้อ โดยธนาคารกลางของสหรัฐ (เฟด) ก็ใช้มาตรการทางด้านดอกเบี้ยนโยบาย มีการส่งสัญญาณชัดเจนแล้วว่าจะเพิ่มขึ้น เพื่อสู้จนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในจุดที่ควบคุมได้ เฟดคาดไว้ว่า จะคุ้มให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2%

ล่าสุดออกมาตรการใช้ยาแรงในการขึ้นดอกเบี้ย 2-3 รอบ รอบล่าสุดสูงถึง 0.75% จากที่คาดไว้ว่าเงินเฟ้อจะลดลงเหลือ 8.1% กลับกลายเป็นผลจริงลดลงเหลือ 8.3% ดังนั้น ทำให้เกิดอาการช็อกกัน เป็นสัญญาณบอกว่า 1.เงินเฟ้อเอาไม่อยู่ และ 2.เป็นเหตุผลหลักที่เฟดจะต้องขึ้นดอกเบี้ยถึงครั้งละ 1.00% จากเดิมขึ้นครั้งละ 0.75% ส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดการผันผวน ค่าเงินเหรียญสหรัฐยิ่งแข็งค่า ดังนั้นค่าเงินประเทศอื่นยิ่งอ่อนค่าลงไปอีก รวมทั้งประเทศไทยแตะ 37 บาทต่อเหรียญสหรัฐแล้ว ถ้าเฟดยังขึ้นดอกเบี้ย 1.00% อีก ทำให้ค่าเงินพุ่งขึ้น ค่าเงินบาททะลุเกิน 37 บาทแน่นอน แล้วก็กดดันธนาคารกลางหลายประเทศ รวมทั้งไทยจะต้องพิจารณาขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามด้วย

ส่วนดอกเบี้ยของไทยจะปรับขึ้นแรงตามหรือไม่ ต้องเข้าใจก่อนว่า อัตราเงินเฟ้อของแต่ละประเทศมีที่มาและต้นเหตุไม่เหมือนกัน สองครั้งที่ผ่านมาเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สองครั้ง ไทยถึงจะปรับดอกเบี้ยตาม 0.25% หนึ่งรอบและถ้าหากครั้งต่อไป เฟดขึ้นอีก1.00% อาจจะกดดันไทย แม้ว่าไทยจะไม่อยากปรับขึ้นเพราะปัญหาเงินเฟ้อของไทย คือ จากต้นทุนที่สูง ถ้าขึ้นดอกเบี้ยก็จะยิ่งหนัก ต้นทุนที่สูงแล้วก็ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ต้องระวังเรื่องนี้อย่างมาก

ธปท.ต้องพยายามปรับสมดุลให้ดีเพื่อรองรับความผันผวน ไม่เช่นนั้นค่าเงินไทยก็จะอ่อนค่า แม้ว่าจะดีต่อภาคการส่งออกและภาคท่องเที่ยว แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นปัญหาที่ทำให้การนำเข้ามีต้นทุนสูง โดยเฉพาะน้ำมันที่ไทยต้องใช้จำนวนมาก รวมทั้งก๊าซธรรมชาติ ยิ่งเกิดปัญหาเงินเฟ้อถีบตัวสูงขึ้นอีก

ถึงแม้ว่าการเปิดประเทศครั้งนี้ ส่งออกไปได้ดี จึงดูเหมือนว่าอยากให้ค่าเงินอ่อนมากกว่าแข็งค่า แต่ถ้าอ่อนจนมากเกินไป ผู้ที่ได้ประโยชน์ คือผู้ส่งออกหรือกลุ่มบริการท่องเที่ยวมากกว่า แต่ในส่วนกลุ่มนำเข้าต้นทุน วัตถุดิบ และจำหน่ายขายในประเทศ ก็แย่หมด อย่างพวกปุ๋ยก็แพงขึ้น

สำหรับการปรับตัวของภาคเอกชน แม้สถานการณ์ดัชนีความเชื่อมั่นจะปรับตัวดีขึ้นในรอบ 3 เดือน สิ่งที่ต้องรับมือคือ เรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่กำลังปรับขึ้น ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เป็น 4.72 บาทต่อหน่วย จากเดิม 3.8 บาทต่อหน่วย ถือว่าหนักมาก เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านต้นทุนถูกกว่า จะทำให้ลดความสามารถในการแข่งขันในเรื่องต้นทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก อาทิ อุตสาหกรรมเหล็ก เยื่อแก้ว ซีเมนต์ เซรามิก

รวมทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ยิ่งไปกว่านั้น อาจจะเจอกับเรื่องดอกเบี้ยนโยบายที่ต้องปรับขึ้นตามเฟด กดดันให้เกิดภาวะดอกเบี้ยค่าขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และประชาชนรายย่อยที่มีหนี้สินต้องจ่ายดอกเบี้ย ที่ยิ่งรับภาระเพิ่มขึ้นในขณะที่รายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย

ล่าสุด ปัญหาอีกอย่าง คือ น้ำท่วม หลายฝ่ายก็กลัวว่าจะเกิดแบบปี 2554 หรือเปล่า ตอนนี้มีสัญญาณทั่วโลกว่าภาวะโลกร้อน ทำให้เกิดปัญหาภูมิอากาศแปรปรวน อย่างที่ ปากีสถาน ก็เกิดระเบิดฝนครั้งใหญ่ ทำให้พื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศ เกิดน้ำท่วม พืชผลการเกษตรเสียหาย คนและสัตว์เลี้ยงตาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ห้ามประมาท หากในไทยยังมีพื้นที่เพียงพอ สำรองน้ำก็ควรวางแผนให้ดี แต่ภูมิอากาศที่แปรปรวนมาก ก็ควบคุมได้ยาก น้ำท่วมส่งผลให้ต้นทุนด้านการขนส่งและโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น เป็นอีกสิ่งหนึ่งปัจจัยที่เข้ามากระทบในช่วงนี้ ทำให้ต้นทุนทุกอย่างแพงหมด

ขณะที่ ส.อ.ท.ออกมาตรการสนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและปรับไฟส่องสว่างให้เป็นแบบเอลอีดี เป็นต้น เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้า ปัจจุบัน ส.อ.ท.มีสมาชิก 1.5 หมื่นบริษัท ที่ช่วยได้เร็วที่สุด คือการออกมาตรการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ แม้จำเป็นต้องใช้กำลังไฟฟ้าเท่าเดิม แต่ถ้าหันไปใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่เป็นรุ่นใหม่ก็ช่วยลดการใช้พลังงานได้ ส่วนประชาชนทั่วไปก็ต้องใช้พลังงานอย่างประหยัดด้วย
ขณะที่ปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจนั้น ได้แก่ การท่องเที่ยว ตั้งแต่เปิดประเทศเต็มรูปแบบ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเกินคาดกว่าที่ตั้งเป้าหมายในปี 2565 ที่ 6
ล้านคน ขณะนี้คาดว่าจะเป็น 8-10 ล้านคน ดังนั้นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวนี้กลับมาฟื้นตัวแล้ว ทำให้เกิดการจ้างงาน การฟื้นตัวแหล่งท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารก็กลับมาแน่นแล้ว ในภาวะค่าเงินไทยอ่อนตัวแบบนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติจะชอบมาก

ส่วนการส่งออก ใน 7 เดือนแรก (เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2565) ตัวเลขส่งออกอยู่ที่ 11% ถือว่าดี แต่ภาพในอีก 5 เดือนข้างหน้าอาจจะชะลอ ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม ยังคาดว่าการส่งออกทั้งปี 2565 น่าจะอยู่ที่ 8-9% ดังนั้น การเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2565 คาดว่า อยู่ที่ 3.0% หรือมากกว่านั้นนิดหน่อย แต่ไม่ถึง 3.5%

ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล
รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ปัจจัยบวกสำหรับประเทศไทยช่วงครึ่งหลังปี 2565 ภาคการท่องเที่ยวจะเข้ามาเป็นพระเอกหลัก โดยเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม นักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยถึงเดือนละ 1 ล้านคน หรือมากกว่านั้น คาดว่าไตรมาสสุดท้ายของปีจะได้เงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ส่งเสริมให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อ

ขณะที่ความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวลง ส่วนภาคการส่งออกของไทยช่วงครึ่งปีหลังชะลอตัวลงกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากปัจจัยภายในประเทศของประเทศคู่ค้าเกิดชะลอตัวลง หรือระบบเศรษฐกิจมีปัญหาเป็นหลัก ถ้าหากเศรษฐกิจในประเทศเหล่านั้นเกิดสะดุดจะส่งผลให้การส่งออกของไทยชะลอตัวตาม แต่ไทยยังคงไปต่อได้และคงไม่ถึงขั้นหยุดชะงักลง

ขณะเดียวกันปัจจัยลบยังคงมีอยู่ ล่าสุดหลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมขังหลังฝนตกหนักต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนมากกว่า และสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลงแล้ว ถ้าระหว่างนี้ไม่ได้เกิดพายุลูกใหม่เข้ามาซ้ำเติม

เรื่องเงินเฟ้อตามข้อมูลตัวเลขน้ำมันดิบในตลาดโลกปัจจุบันเริ่มย่อตัวลง คาดว่าการผันผวนจะไม่ทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกมีราคาสูงสุดเหมือนช่วงต้นปี แต่ประชาชนยังต้องเจอสินค้าราคาสูง เมื่อปรับราคาขึ้นเป็นไปได้ยากที่จะปรับลดลง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องส่งผ่านต้นทุน โดยการปรับขึ้นราคาสินค้าไปสู่ผู้บริโภค ไม่เพียงแต่ต้นทุนหลักด้านราคาพลังงาน ยังมีต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนเรื่องค่าแรงงาน รวมถึงต้นทุนเรื่องค่าไฟฟ้า เป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาสินค้ายังคงอยู่ในระดับสูง

อีกทั้งค่าแรงงานรายวันที่ปรับขึ้นนั้น ธุรกิจเอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบมากกว่า ส่วนในบางอุตสาหกรรมได้จ้างแรงงานในจำนวนเงินที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่ถูกปรับขึ้นใหม่แล้ว จึงไม่ส่งผลกระทบในภาพใหญ่ หากนำค่าแรงมาเทียบกับต้นทุนในการดำเนินธุรกิจอื่นๆ ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าต้นทุนในด้านอื่นๆ เช่น การปรับนโยบายอัตราดอกเบี้ย ค่าพลังงาน หรือราคาน้ำมันปรับตัวสูง ค่าวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าขาดแคลนหรือราคาสูงขึ้น ค่าไฟฟ้าที่เตรียมปรับขึ้นอีกในเดือนนี้ เป็นต้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องบริหารเงิน และดูความเสี่ยงต่อการทำธุรกิจให้มีความสมดุลและเหมาะสมในสถานการณ์ที่ยังคงไม่แน่นอน เพื่อไม่ให้ธุรกิจหยุดชะงักจากการหมุนเงินมาใช้จ่ายไม่เพียงพอ

คาดว่าในช่วงครึ่งหลังปี 2565 นักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยมากขึ้น ส่งผลให้เงินใหม่ๆ เข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ได้ถูกสะพัดไปทั่วทุกจุดของประเทศไทย เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเทียบกับก่อนช่วงโควิดยังเป็นจำนวน 1 ใน 4 ของช่วงปกติ เศรษฐกิจจึงยังไม่ฟื้นตัวพร้อมกัน เช่น ธุรกิจโรงแรม เพราะนักท่องเที่ยวไม่ได้เดินทางทั่วถึงทุกจังหวัดและจำนวนยังน้อย ขณะเดียวกันเงินจะถูกหมุนในระบบเศรษฐกิจในภาคบริการอื่นๆ ที่เข้ามาเสริมให้บางจุดเกิดการไหลเวียนของเศรษฐกิจ เป็นต้น

นอกจากนี้ การจัดงานประชุม APEC 2022 ที่รัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและสร้างภาพลักษณ์ของประเทศในด้านความพร้อมเปิดเมืองให้เกิดความเชื่อมั่นศักยภาพ เปิดรับประชาชนจากทั่วทุกสารทิศเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศได้ คาดว่าอานิสงส์จากเอเปคอาจเสริมให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นได้อีกทั้งช่วงครึ่งหลังปีนี้ นักท่องเที่ยวจะหนีหนาวเข้ามาไทย คาดว่าจะสูงถึง 10 ล้านคนอาจเป็นไปตามเป้าหมาย ดังนั้น ภาพรวมการเติบโตเศรษฐกิจครึ่งปีหลังคาดว่าจะขยายตัว 3.3% ซึ่งเติบโตได้ดีกว่าเศรษฐกิจครึ่งปีแรกที่ขยายตัวระดับ 2.4%

สำหรับมาตรการของรัฐที่จะเข้ามาช่วยเศรษฐกิจรัฐจะทำลักษณะเจาะจงถึงปัญหามากขึ้น เช่น การทำคนละครึ่งเฟส 5 มาตรการช่วยค่าไฟ เป็นต้น มองว่าเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนมากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากเม็ดเงินคนละครึ่งไม่ได้สะพัดในระบบมากนัก ดังนั้น มาตรการใหม่ๆ ที่รัฐจะส่งเสริมคงเป็นมาตรการเฉพาะที่เข้ามาบรรเทาความเดือดร้อนและอาจมีมาตรการกระตุ้นเข้ามาเสริมได้ตามความความจำเป็น

หัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ
ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ปัจจัยด้านบวกที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คือ สถานการณ์การระบาดโควิด-19 เริ่มเบาลงทำให้ความเชื่อมั่นเกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวมากขึ้น ไทยตั้งเป้าไว้ว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน น่าจะมีความเป็นไปได้สูง ขณะเดียวกันเรื่องการลงทุน ช่วงหลังได้จัดงานแสดงสินค้าใหญ่ๆ ในกรุงเทพมหานคร นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจมาชมการแสดงสินค้า และสนใจลงทุนจำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์การเมือง จะมีการเลือกตั้งเร็วๆ นี้ ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น

แต่ยังมีปัจจัยลบส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย คือ การปรับขึ้นค่าไฟและการปรับขึ้นค่าแรง อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ไม่แน่นอนอีกด้วย ต้องพิจารณาให้ดีว่าการจะปรับขึ้นดอกเบี้ยตามธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจำเป็นแค่ไหน สหรัฐจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนนำเงินมาฝากกับธนาคารมากขึ้น ลดกาใช้เงินน้อยลง แต่ราคาสินค้าที่แพงขึ้นในไทย เกิดจากปัจจัยการผลิตที่มีราคาสูงขึ้น เช่น น้ำมัน และค่าไฟ จึงต้องขึ้นราคาสินค้าตามไปด้วย ธปท.อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยบ้าง แต่ไม่ต้องขึ้นมากตามสหรัฐ จะมีผลทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวมากขึ้น แม้ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้า ซึ่งส่งออกตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เพิ่มขึ้นถึง 10% การท่องเที่ยวก็ดีขึ้น ภาคบริการดีขึ้นก็จริง แต่จะส่งผลเสียทำให้ค่าพลังงานเพิ่มสูงขึ้น ทั้งค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมัน นักลงทุนต่างชาติจะพิจารณาว่าถ้าประเทศใดมีค่าพลังงานเหล่านี้สูงขึ้น จะไม่ค่อยอยากเข้ามาลงทุนนัก

ขณะที่การส่งออกช่วงไตรมาสสุดท้าย อาจคิดว่าเริ่มชะลอตัว แต่คงจะไม่ชะลอตัวมากนัก น่าจะเติบโตได้ถึง 9% เพราะเป็นช่วงหน้าหนาวของประเทศในแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกาในการสั่งซื้อสินค้าไปบริโภคเพิ่มขึ้น

ส่วนเรื่องการประชุมเอเปคที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี แต่จะดีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับรัฐบาลบริหารจัดการได้ดีเพียงใดด้วย การประชุมเอเปคเน้นเรื่องการเจรจาการค้าเป็นหลัก โดยเฉพาะการเจรจาเอฟทีเอระหว่างประเทศไทยกับคู่ค้าต้องทำให้ดี เพราะมีความสำคัญกับการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เช่นการหาตลาดใหม่ๆ กระทรวงพาณิชย์ต้องพยายามเจรจากับประเทศที่มีความต้องการสินค้าไทย นำสินค้าไปขายให้มากที่สุด

สำหรับกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี รัฐบาลควรให้การช่วยเหลืออย่างจริงจัง หลายรายไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะค่าไฟ ค่าแรง และค่าน้ำมัน ทำให้ต้นทุนการผลิตไม่สามารถไปแข่งขันกับต่างชาติได้ การปรับขึ้นค่าแรงพอจะเข้าใจได้เพราะเงินเฟ้อสูงขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้นก็จำเป็นต้องปรับค่าแรงด้วย แต่เรื่องค่าไฟฟ้า รัฐบาลควรทำให้ราคาลดลงกว่านี้ และตอนนี้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มลดลง เพราะถ้าทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีที่เป็นธุรกิจระดับรากหญ้าเติบโตได้ จะส่งผลทำให้จีดีพีโดยรวมเติบโตขึ้นตามไปด้วยแน่นอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง