รีเซต

วัยรุ่นอินเดียกระตุ้นเกลียด เมื่อความเชื่อทางศาสนากลายเป็นเครื่องมือคุกคามสตรีมุสลิมบนโลกออนไลน์

วัยรุ่นอินเดียกระตุ้นเกลียด เมื่อความเชื่อทางศาสนากลายเป็นเครื่องมือคุกคามสตรีมุสลิมบนโลกออนไลน์
TNN ช่อง16
13 กุมภาพันธ์ 2565 ( 08:00 )
185
วัยรุ่นอินเดียกระตุ้นเกลียด เมื่อความเชื่อทางศาสนากลายเป็นเครื่องมือคุกคามสตรีมุสลิมบนโลกออนไลน์

---เทศกาลที่ถูกทำลาย--- 


ภาพของพวกเธอที่แต่งตัวสำหรับการร่วมงานเทศกาลดังกล่าว และเป็นภาพที่เธอโพสต์ลงโซเชียลมีเดียด้วยตัวเอง ถูกนำไปไลฟ์สด โดยไม่ได้รับความความยินยอมจากเจ้าตัว บน YouTube ด้วยฝีมือของชายสองคนที่อาศัยอยู่ในอินเดีย


ไลฟ์สดดังกล่าว ดำเนินการโดย ‘ไรเทช จา’ พร้อมผู้สมรู้ร่วมคิดที่เขาเรียกว่า ‘กีชา’ ซึ่งมาพร้อมกับผู้ชมหลายร้อยคน ที่มีทัศนคติเกลียดชังผู้หญิง และความคิดเห็นที่หวาดกลัวศาสนาอิสลาม 


หลังจากนั้น มีบัญชีผู้ใช้งานหลายคนรายงานการไลฟ์สดครั้งนี้ จนทำให้ YouTube ต้องลบวิดีโอและช่องดังกล่าวออกไปจากแพลตฟอร์ม 


ในเวลาต่อมา ผู้หญิงหลายคน ต่างบอกว่า พวกเธอรู้สึกไม่ปลอดภัย และหวาดกลัว และบอกว่า เทศกาลอีดิลฟิฏีรของพวกเธอถูกทำลายย่อยยับ


---การประมูล (จำลอง) ซื้อหญิงมุสลิม--- 


แปดเดือนต่อมา จา ชายหนุ่มวัย 23 ปี กล่าวว่า ตอนนั้นเขามีความรู้สึกที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง เขาอ้างว่า เขาต้องการล้างแค้นให้ผู้หญิงชาวฮินดู ที่ถูกตัดต่อภาพ ซึ่งเขาได้พบเห็นตามโซเชียลมีเดีย อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดใด ๆ เกี่ยวกับ ‘กีชา’ 


การคุกคามผู้หญิงในอินเดีย โดยเฉพาะคำวิจารณ์ของ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย และพรรคภราติยะ ชนะติ หรือ BJP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของเขา ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางบรรยากาศการแบ่งฝ่ายที่มากขึ้น ทั้งจากโลกออนไลน์และออฟไลน์ ในขณะที่ ผู้สนับสนุนพรรคการเมือง และอุดมการณ์ทั้งหมด ล้วนคุกคามผู้หญิงบนโลกออนไลน์ 


ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า การบิดเบือนจากฝ่ายขวาจัด และการแพร่กระจายของเทคโนโลยีทำให้วัยรุ่นนักอนุรักษ์นิยมชาวฮินดู มีความกล้าที่จะกระทำการดังกล่าวมากขึ้น


ทั้งนี้ เหตุการณ์ไลฟ์สดบน YouTube ทำให้เกิดคดีคุกคามผู้หญิงบนโลกออนไลน์มากมาย


ก่อนหน้านี้ นักพัฒนาแอปพลิเคชัน จำนวน 2 แอปฯ ทำการแชร์รูปภาพของหญิงสาวมุสลิม ในรูปแบบการประมูลซื้อขายแบบจำลอง เพื่อต้องการสร้างความอับอายให้แก่พวกเธอ 


ผู้หญิงหญิงฮินดูต่างวิพากษ์วิจารณ์ นายกรัฐมนตรีโมดีและพรรคของเขาว่า ทำให้เกิดการซื้อขายจำลองบนแพลตฟอร์ม Clubhouse โดยห้องดังกล่าวได้ถูกระงับ และดำเนินการกับบัญชีที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้


---สังคมตื่นตัว---  


หลังเกิดกระแสต่อต้านจากสาธารณะ ตำรวจได้ทำการจับกุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของทั้งสองแอปฯ ทั้งหมด 9 คน มีอายุระหว่าง 18-26 ปี ส่วนใหญ่จะเคลื่อนไหวอยู่ในกลุ่มโซเชียลมีเดีย ที่มีการโพสต์ข้อความในเชิงหวาดกลัวอิสลามเป็นเรื่องปกติ 


เจ้าหน้าที่ กล่าวว่า จาก็เป็นหนึ่งคนที่มีรายชื่ออยู่ในหมายของตำรวจ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ไลฟ์สดบน YouTube และการประมูลจำลองบน Clubhouse ด้วยเช่นกัน 


“เรากำลังทำการสืบสวนคดี และจะดำเนินการทางกฎหมายที่จำเป็นกับเขา ถ้าหากเขาไม่มาแสดงตัว” รัชมี การันดิการ์ หัวหน้าหน่วยไซเบอร์ของสถานีตำรวจมุมไบ กล่าว 


อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคน บอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้มีแค่เหตุการณ์เดียว 


“ฉันถือว่าการกระทำนี้ เป็นการทำให้กลุ่มชนชั้นกลางชาวฮินดูเป็นพวกหัวรุนแรง…มันเป็นการคลั่งศาสนาแบบสุด ๆ ที่มาจากส่วนลึกในสังคมฮินดู” สนิษฐา ปุนาม นักข่าวและนักเขียน กล่าว


---Hate Speech---


ตอนอายุ 14 ปี จา ได้มีสมาร์ทโฟนเครื่องแรก เขาบอกว่าเนื้อหาที่เขาเข้าถึงในขณะนั้น คือเรื่องที่เกี่ยวกับโลกของกลุ่มฝ่ายขวา 


“ตอนนั้น ผมเห็นมีม, ได้ยินคำพูดของบรรดานักการเมือง ที่กลัวว่าชาวฮินดูกำลังตกอยู่ในอันตราย” เขา กล่าว 


การอภิปรายของพรรคการเมืองหัวรุนแรง และเรื่องเล่าที่มีความเป็นพิษในลักษณะที่ว่า “มุสลิมคือศัตรู” ทำให้เขาค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นคนหัวรุนแรง


“คุณจะเริ่มรู้สึกว่าคุณกำลังถูกเลือกปฏิบัติมากขึ้นเรื่อย ๆ มากจนคุณนึกถึงการใช้ความรุนแรง” จา กล่าว 


ด้านผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า สิ่งนี้อาจส่งผลกระทบต่อคนหนุ่มสาว 


ตอนนี้ ช่อง YouTube ของจา ที่มีผู้ติดตามหลายพันคน และมีเนื้อหาต่อต้านมุสลิมได้ถูกลบออกไปแล้ว เขาอธิบายว่า มุขตลกอันน่ารังเกียจมุ่งเป้าไปต่อแนวปฏิบัติของศาสนาอิสลามว่า เป็นเรื่อง ‘ตลกโปกฮา’ และเขายังเคยเปรียบเทียบการไลฟ์สดรูปหญิงสาวกับวิดีโอบนแพลตฟอร์ม TikTok หรือ Insta Reels ด้วย 


---ทราดส์ VS เรย์ทัส---


“การแพร่ระบาดยังสร้างสภาพแวดล้อมแย่ ๆ ในการบ่มเพาะการใช้ความรุนแรง โดยทำให้มั่นใจว่า ผู้คนหลายล้านคนจะใช้เวลามากมายไปกับโลกออนไลน์” นักศึกษาจากสถาบันการเจรจาเชิงกลยุทธ์ของแคนาดา ผู้ศึกษาพฤติกรรมบนโลกออนไลน์ของกลุ่มหัวรุนแรงฝ่ายขวาในอินเดีย กล่าว 


“ฝ่ายขวาในอินเดียยังคงมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตอนนี้พวกเขาแบ่งออกกันเป็นสองกลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ ‘กลุ่มทราดส์’ และ ‘กลุ่มเรย์ทัส’” เขา กล่าว 


‘กลุ่มทราดส์’ หรือ กลุ่มอนุรักษ์นิยม จะเป็นกลุ่มที่มีมุมมองหัวรุนแรงมากกว่า และพวกเขาเชื่อว่า พรรค BJP ไม่ได้มีแนวคิดฝ่ายขวามากพอ พวกเขาเรียกนักวิจารณ์ว่า เป็นพวกฝ่ายขวา ‘เรย์ทัส’ ซึ่งเป็นการเล่นสำนวนของฮินดูที่มาจากคำว่า ‘เรย์ตา ไพลานา’ มีความหมายกว้าง ๆ ว่า “ทำเรื่องให้มันยุ่งยาก” 


ขณะที่ ‘กลุ่มเรย์ทัส’ บอกว่า พวกเขาชอบแสดงความคิดเห็นโดยไม่ใช้ความรุนแรงมากกว่า 


“เนื่องจากฝ่ายขวากลายมามีอิทธิพลต่อการเมืองและอำนาจการบริหาร พวกเขาจึงสามารถเปล่งเสียงและมองเห็นได้ชัดกว่า” นักศึกษา กล่าว


---วรรณะแห่งการกดขี่--- 


ชายหนุ่มดาลิตคนหนึ่ง ที่ต้องการให้เราเรียกเขาด้วยชื่อ ‘HR’ ซึ่งเป็นตัวย่อจากบัญชี Twitter ของเขา บอกกับสำนักข่าว BBC อธิบายว่า เขาถูกดึงเขาไปสู่โลกของกลุ่มทราดส์ได้อย่างไร 


อย่างไรก็ตาม ดาลิต เป็นวรรณะที่ถูกกดขี่ และอยู่ต่ำสุดของศาสนาฮินดู โดยสมัยก่อนผู้คนวรรณะอื่น จะไม่สามารถแตะต้องตัวคนจากวรรณะดังกล่าวได้ 


เดือนมีนาคม 2020 เขาถูกเชิญให้เข้ากลุ่ม Instagram ที่ระบุวัตถุประสงค์ไว้ว่า “เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องของศาสนาฮินดู” 


คนที่เชิญ HR บอกว่า เขาประทับใจในการโต้เถียงของ HR กับชาวมุสลิมบนโลกออนไลน์ และเขาถูกขอให้เพิ่มเด็กอายุ 14-15 ปี เข้าไปในกลุ่มนั้นด้วย 


HR บอกว่า เขามีความสุขมาที่ได้เข้าร่วมกลุ่มนั้น และรู้สึกภูมิใจในความเชื่อของลัทธิฮินดู แต่ไม่นานก็ต้องท้อแท้ เพราะความเกลียดชังที่มีของสมาชิกเผยแพร่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่มุสลิม แต่รวมดาลิตด้วย 


“พวกเขาเชื่อว่าดาลิตไม่ใช่ชาวฮินดู และเห็นด้วยกับการข่มขืนหญิงมุสลิมเพื่อสร้างชุมชนฮินดู แม้กระทั่งการฆ่าเด็กก็เป็นเรื่องที่ชอบธรรมได้” เขา กล่าว 


ทั้งนี้ HR ไม่เคยเปิดเผยวรรณะของตนในกลุ่มดังกล่าว และออกจากกลุ่มหลังจากที่เข้าไปอยู่ได้ 6 เดือน 


เขาบอกว่า ตอนนี้ เขากลายเป็นนักสู้ที่ต่อต้านกลุ่มทราดส์ ด้วยการรายงานสื่อโซเชียลมีเดียของพวกเขาทั้งหมด


---ยกย่องศาลเตี้ย--- 


“กลุ่มทราดส์สรรเสริญการใช้ศาลเตี้ย ต่อต้านทั้งมุสลิมและคริสเตียน พวกเขาเชื่อในระบบวรรณะที่กดขี่ และเกลียดผู้หญิงหัวก้าวหน้า ไม่ว่าจะฮินดูหรือมุสลิม” ซานิยา ซายิด หนึ่งในผู้หญิงที่ถูกนำรูปไปทำการประมูลจำลองบนแอปพลิเคชันของกลุ่มทราดส์ กล่าว 


ซายิด กล่าวว่า บ่อยครั้งเธอจะถูกดึงเข้าไปอยู่ในกลุ่มออนไลน์ของทราดส์ จากคนที่คุกคามเธอ และเธอก็จะเห็นคอมเมนต์น่ารังเกียจที่พวกเขาพูดถึงเธอ 


สถานีตำรวจเดลีเผยว่า ชายคนหนึ่ง ที่ถูกกล่าวหาว่าสร้างแอปฯ ประมูลจำลองเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มทราดส์ 


---ผู้หญิงต้องเรียบร้อย?---   


โมนา ชาร์มา เรียกตัวเธอเองว่าเป็น ‘เรย์ทัส’ กล่าวว่า เธอและผู้หญิงฝ่ายขวาคนอื่น ๆ ก็เป็นเป้าหมายของกลุ่มทราดส์ เนื่องจากพวกเธอไม่คล้อยตามแนวคิดการปฏิบัติตัวของผู้หญิงที่ควรจะเป็น


“ฉันถูกคุกคามบนโลกออนไลน์ และข้อมูลส่วนตัวของสามีฉันถูกเผยแพร่” เธอ กล่าว 


เธอ กล่าวเพิ่มอีกว่า ตัวเธอเองเชื่อในระบบโลกเสรีนิยม และมันทำให้เธอถูกพวกเขาเยาะเย้ยบน Twitter แต่นั่นยังไม่ใช่การกระทำที่ร้ายแรง 


“สำหรับทราดส์ ผู้หญิงที่มีการศึกษาสมัยใหม่ ไม่ใช่ชาวฮินดู” 


---ยากที่จะกวาดล้าง---  

 

ตำรวจยังมีข้อจำกัดในการทำลายระบบนิเวศที่ฝังแน่นรากลึกนี้ บริเยช สิงห์ ตำรวจอาวุโสในมุมไบ กล่าวว่า หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายไม่มีเครื่องมือในการตรวจสอบ และติดตามหลายล้านบัญชีบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่มีเจ้าของเป็นบริษัทต่างชาติ


ด้านผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าว มันจะฝังรากลึกมากขึ้น มากกว่าความเกลียดชังบนโลกออนไลน์ 


ปุนาม เชื่อว่า กระบวนการบ่มเพาะความรุนแรงของชาวฮินดูเป็นอันตรายอย่างร้ายแรง ต่อฆราวาสนิยมของอินเดีย


“อินเดียมีความรู้สึกที่ฝังแน่นในกลุ่มชาวฮินดูส่วนใหญ่ว่า ‘อินเดียควรเป็นของชาวฮินดูเท่านั้น’ และพวกเขารู้สึกมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นลักษณะดังกล่าวได้” ปุนาม กล่าว  


ด้านจา กล่าวว่า การกระทำของเขามัน “ผิดศีลธรรม” และบอกว่า คนแบบเขาถูก “หลอกใช้”


“เราไม่รู้ว่าความเกลียดชังฝังรากลึกเราได้อย่างไร มันไม่มีประโยชน์กับใครเลย ยกเว้นคนที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยความเกลียดชัง” จา กล่าว  

—————

แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์

ภาพ: Freepik

ข่าวที่เกี่ยวข้อง