รีเซต

สงครามชิปสะท้านโลก ทรัมป์จ่อขึ้นภาษีไมโครชิป หนุนสหรัฐฯ ผลิตเองครบวงจร

สงครามชิปสะท้านโลก ทรัมป์จ่อขึ้นภาษีไมโครชิป หนุนสหรัฐฯ ผลิตเองครบวงจร
TNN ช่อง16
16 เมษายน 2568 ( 18:46 )
15

ยังไม่จบกับการขึ้นภาษีแบบไม่หยุดของ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จากสหรัฐฯ ที่ก่อนหน้านี้ ออกมาประกาศยกเว้นภาษีแบบตอบโต้ ในกลุ่มสินค้าสมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิสก์อื่น ๆ 


แต่ล่าสุด ทรัมป์ก็ออกมาแง้มว่า เขาเตรียมจะประกาศขึ้นภาษีเซมิคอนดักเตอร์ หรือ ไมโครชิปในสัปดาห์หน้า ที่อาจสั่นคลอนต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั่วโลก 


แล้วทำไม “ทรัมป์” ต้องการจะขึ้นภาษีเซมิคอนดักเตอร์ สหรัฐฯ จะได้ประโยชน์จากการกระทำนี้ จริงหรือ ?


“ทรัมป์” เปิดศึกสงครามเทคโนโลยี จ่อขึ้นภาษีไมโครชิป


อุปกรณ์เซมิกคอนดักเตอร์ หรือ ไมโครชิป ที่เราเห็นมีขนาดเล็กจิ๋วอย่างนี้ แต่อำนาจที่แท้จริงของมันนั้นทรงพลังยิ่งหนัก เพราะเครื่องมือสื่อสาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บนโลกทุกชิ้น รวมถึงอาวุธทางทหาร ล้วนมีชิปเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนทั้งสิ้น จึงไม่แปลกที่ใครก็ต้องการเป็นผู้นำด้านนี้ 


ไม่เว้นแม้กระทั่ง “ทรัมป์” ที่แม้ตอนนี้ สหรัฐฯ จะเป็นผู้ออกแบบ และคิดค้น “ชิป” ขึ้น แต่ก็ยังต้องพึ่งพาการผลิตจากประเทศอื่น ๆ อยู่ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่กลุ่มประเทศเอเชีย เป็นผู้นำการผลิตด้านนี้ 


การประกาศจะขึ้นภาษีสินค้ากลุ่มนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ทรัมป์ ต้องการส่งเสริมให้บริษัทเทคต่าง ๆ หันกลับมาผลิตชิปขั้นสูงในสหรัฐฯ มากขึ้น แทนการนำเข้า และมองว่า การพึ่งพาประเทศอื่นในการผลิตชิป ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงแห่งชาติ และสหรัฐฯ จะไม่ยอมตกเป็นตัวประกันของประเทศอื่น โดยเฉพาะจีน 


และคิดว่า การขึ้นภาษีนี้ จะช่วยให้อุตสาหกรรมชิปสหรัฐฯ สหรัฐฯ เติบโต  

หนุนสหรัฐฯ ผลิตชิปเอง


แล้วอย่างนี้ สหรัฐฯ จะสามารถผลิตชิปเอง ครบจบในคนเดียวได้หรอ คำตอบคือ “แทบจะเป็นไปได้ยาก” 


เพราะปัจจุบัน ยังไม่มีประเทศไหน สามารถผลิตชิปแบบผูกขาดได้ 100% แม้สหรัฐฯ จะเป็นคนคิดค้น แต่วัสดุการผลิต อย่าง ซิลิคอน มาจากสหรัฐฯ และนอร์เวย์ หลังจากนั้นก็ต้องส่งไปผลิตแผ่นเวเฟอร์ที่ญี่ปุ่น วงจรชิปผลิตที่ไต้หวัน, เกาหลีใต้ หรือ จีน หลังจากนั้น ก็ต้องตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วประกอบเข้าด้วยกัน จึงจะนำไปผลิตเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 


ที่สำคัญคือ ผู้ผลิตชิป ต้องพึ่งพาอุปกรณ์ ASML เพื่อผลิตชิป AI ขั้นสูง ซึ่งมีอยู่แค่ที่เนเธอร์แลนด์เท่านั้น 


จะเห็นได้ว่า กว่าจะประกอบเป็นชิปจิ๋ว ๆ ที่เราเห็นอยู่นี้ หนึ่งอัน ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากหลากหลายประเทศ จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ในการที่จะย้ายห่วงโซ่การผลิตชิปมาไว้ที่ประเทศเดียว ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ ใช้เวลาการสร้างและทำงานมานานหลายสิบปี คล้ายกับระบบการทำงานร่วมกันของทีมระดับโลก


ขณะเดียวกัน บริษัทเทคต่าง ๆ ก็ต้องเผชิญกับความท้าทาย หากต้องผลิตชิปขั้นสูงในสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก แรงงานมีทักษะไม่เพียงพอ ส่วนใหญ่วิศวกรด้านชิปที่เก่งสุด มักมาจากจีน ไม่ก็อินเดีย, ต้นทุนการก่อสร้างสูงขึ้น, ความล่าช้าในการก่อสร้าง และแรงกดดันจากสหภาพแรงงานท้องถิ่น 


แม้ว่า บริษัท TSMC และ Samsung ผู้ผลิตชิปอันดับต้น ๆ ของโลก ก็ตั้งโรงงานในรัฐแอริโซนา และเท็กซัส แต่การผลิตชิปขั้นสูงส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในไต้หวัน


แต่ถึงกระนั้น สหรัฐฯ ก็ได้ลงทุนหลายพันดอลลาร์สหรัฐ เพื่อกระตุ้นการผลิตชิปในประเทศ, กฎหมาย CHIPS and Science Act ก็ได้ช่วยเหลือทางการเงินให้กับบริษัทต่าง ๆ มาสร้างโรงงานในสหรัฐฯ รวมถึง TSMC ของไต้หวันด้วย ที่ได้รับเงินจากรัฐบาลสหรัฐฯ ราว 6.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อตั้งโรงงานในแอริโซนา แต่การขั้นตอนการผลิตชิปนั้นมีความซับซ้อน จึงทำให้เกิดความล่าช้า  


ทรัมป์จึงเตือนบริษัท TSMC ว่า อาจต้องเผชิญการขึ้นภาษีสูงถึง 100% หากไม่มาสร้างโรงงานเพิ่มขึ้นในอเมริกา


บริษัทต่าง ๆ ตอบสนองต่อแรงกดดันทรัมป์อย่างไร ? 


แผนการขึ้นภาษีใหม่ของรัฐบาลทรัมป์จะส่งผลกระทบต่อบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อย่างมาก เพราะส่วนใหญ่จะผลิตอยู่ในเอเชีย ไม่ใช่สหรัฐฯ


แม้ว่า สหรัฐฯ จะซื้อชิปคิดเป็น 30% ของทั้งโลก แต่มีกำลังการผลิตเพียงแค่ 10% เท่านั้น ซึ่งถือว่า เป็นช่องว่างที่ใหญ่มาก 


และการขึ้นภาษีนี้ แน่นอนว่า นอกจากกระทบบริษัทต่าง ๆ ที่มีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นแล้ว ผู้บริโภคอย่างเรา ก็ต้องซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สูงขึ้นตามด้วย 


ขณะเดียวกัน บริษัทต่าง ๆ ก็ตอบสนองต่อแรงกดดันดังกล่าว Nvidia ประกาศว่า จะผลิตชิป AI ใหม่ในสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก โดยชิปจะผลิตโดย TSMC แต่เป็นโรงงานในแอริโซนา 


ขณะที่ Foxconn และ Wistron ซึ่งเป็นบริษัทของไต้หวันทั้งคู่ จะช่วยสร้างซูเปอร์คอมพิวเตอร์ AI ในเท็กซัสภายใน 12-15 เดือนข้างหน้า


เนื่องจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น หลายประเทศ อย่างจีน, ยุโรป และญี่ปุ่น ก็เริ่มหันมามุ่งเน้นสร้างโรงงานผลิตชิปด้วยตัวเอง แทนการพึ่งพาประเทศอื่น 


ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Huawei จากจีน ก็ขยายกิจการไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น ไทย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย และแอฟริกา เพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดของสหรัฐฯ แม้ว่ากำไรจะน้อยลง แต่ก็ช่วยให้พวกเขาอยู่รอดในเกมได้


ขณะเดียวกัน อินเดีย ก็กระโดดเข้าลงสนามนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากค่าแรงถูก และมีระบบการศึกษาที่ดีกว่า ตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์กลางเทคโนโลยีของเอเชีย แต่ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายด้านดินแดนในการตั้งโรงงาน และแหล่งน้ำคุณภาพที่จำเป็นต่อการผลิตชิป 

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น


บทความจาก Nikkei Asia วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ดังนี้  


1.ประเทศอื่น ๆ จะพยายามผลิตชิปด้วยตัวเอง เพื่อปกป้องตัวเอง หากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนเพิ่มมากขึ้น 


2.สิ่งนี้อาจทำให้มีโรงงานผลิตชิปมากเกินไป และอาจทำให้ราคาตกต่ำได้หากความต้องการไม่เพิ่มขึ้น


3.สิ่งนี้อาจส่งผลเสียต่อบริษัทต่าง ๆ โดยเฉพาะเมื่อความต้องการโทรศัพท์ รถยนต์ และคอมพิวเตอร์ในระดับโลกเริ่มชะลอตัวลงแล้ว


แหล่งข้อมูลอ้างอิง: 


https://asia.nikkei.com/Economy/Trade-war/Trump-tariffs/Trump-chip-tariff-threat-throws-wrench-into-global-supply-network

https://www.bbc.com/news/articles/cd9ljwgg9y0o

https://www.bbc.com/news/technology-66394406

https://www.scmp.com/tech/big-tech/article/3306453/chinas-chip-trade-faces-uncertainty-after-growing-first-quarter-amid-us-tariff-war

https://www.bbc.com/news/articles/cm2xzn6jmzpo

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง