รีเซต

คปภ.ออกเกณฑ์ขยายความคุ้มครองการรักษาตัวแบบ Home Isolation

คปภ.ออกเกณฑ์ขยายความคุ้มครองการรักษาตัวแบบ Home Isolation
ทันหุ้น
31 กรกฎาคม 2564 ( 19:20 )
74
คปภ.ออกเกณฑ์ขยายความคุ้มครองการรักษาตัวแบบ Home Isolation

 

คปภ. ผนึกกำลังภาคธุรกิจประกันภัย ช่วยเหลือประชาชนสู้โควิด-19 พร้อมหนุนภาครัฐ ใช้มาตรการ Home Isolation แก้ปัญหาวิกฤตเตียงโรงพยาบาลไม่เพียงพอ

 

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย เข้าสู่ระลอก 3 ที่กระจายไปทั่วเป็นวงกว้าง และเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำนักงาน คปภ. ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ออกคำสั่งนายทะเบียนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับมาตรการของรัฐบาลที่ได้ปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้เอาประกันภัย โดยการขยายความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยที่เกี่ยวข้อง

 

ได้แก่ ขยายความคุ้มครองการรักษาพยาบาลเนื่องจากการติดเชื้อโควิด-19  ในโรงพยาบาลสนามหรือ hospitel ให้ได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย เช่นเดียวกับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลทั่วไป 

และขยายความคุ้มครองกรณีผลกระทบจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่กระทำการโดยแพทย์ พยาบาล  หรือบุคลากรที่ได้รับการอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายแห่งราชอาณาจักรไทย ไม่ว่าจะดําเนินการ ณ สถานที่ใดก็ตาม ให้ได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย เช่นเดียวกับการฉีดวัคซีนในโรงพยาบาลทั่วไป  อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ยังคงไม่คลี่คลายและทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้จำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยติดเชื้อไม่เพียงพอ การเพิ่มโรงพยาบาลสนาม   หรือ hospitel ไม่ทันกับการเพิ่มจำนวนของผู้ป่วยติดเชื้อ

 และสิ่งที่สำคัญคือบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานหนักมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยมีหลายรายต้องติดเชื้อ ทำให้มีจำนวนไม่เพียงพอต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ รัฐบาลจึงได้มีแนวทางปรับการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ออกแนวทางการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ให้ได้รับการดูแลรักษาแบบ Home Isolation หรือแบบ Community Isolation

 

ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพและการประกันภัย COVID-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน พบว่า ยังไม่ครอบคลุม ถึงกรณีการดูแลรักษาแบบ Home Isolation หรือแบบ Community Isolation ซึ่งย่อมทำให้ผู้เอาประกันภัยซึ่งเข้ารับการดูแลรักษาแบบ Home Isolation หรือแบบ Community Isolation ไม่สามารถเคลมประกันได้ ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรมและให้ระบบประกันภัยเข้าไปบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน อีกทั้งเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐและบุคลากรทางการแพทย์ สำนักงาน คปภ. จึงได้ประชุมหารือร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย

 

โดยได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ระบบประกันภัยควรจะเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องนี้ ตนในฐานะนายทะเบียนจึงได้ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 43/2564 เรื่อง การจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และได้เข้ารับการดูแลรักษาพยาบาลแบบ Home Isolation หรือแบบ Community Isolation สำหรับบริษัทประกันชีวิต 

 

และคำสั่งนายทะเบียนที่ 44/2564 เรื่อง การจ่าย ค่ารักษาพยาบาลตามกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และได้เข้ารับการดูแลรักษาพยาบาลแบบ Home Isolation หรือแบบ Community Isolation สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย เพื่อให้เกิดความชัดเจน ในการให้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย

ทั้งนี้ หากตรวจพบว่าผู้เอาประกันภัยติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีการดูแลรักษาแบบ Home Isolation หรือแบบ Community Isolation ส โดยกรณีกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก ให้สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจากวงเงินความคุ้มครองผู้ป่วยนอกตามความจำเป็นทางการแพทย์และที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินผลประโยชน์ในกรมธรรม์ 

 

หรือกรณีตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในให้อนุโลมจ่ายค่ารักษาพยาบาลแบบการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยนอก ตามความจำเป็นทางการแพทย์และที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินผลประโยชน์ในกรมธรรม์ 

 

ส่วนกรณีกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลกรณีเป็นผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ก็ให้อนุโลมจ่ายค่ารักษาพยาบาลแบบการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยนอกตามความจำเป็นทางการแพทย์และ ที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินผลประโยชน์ในกรมธรรม์ น

 

อกจากนี้ ยังให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าชดเชยรายวันกรณี Home Isolation หรือ Community Isolation หากมีความจำเป็นทางการแพทย์ที่ต้องรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในสถานพยาบาล เช่น อยู่ในกลุ่มเสี่ยงแต่ไม่มีสถานพยาบาลรองรับ โดยจ่ายตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองค่าชดเชยรายวัน สูงสุด 14 วัน นับแต่วันที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ที่ต้องรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในสถานพยาบาลแต่ไม่มีสถานพยาบาลรองรับ 

 

อีกทั้งคำสั่งนายทะเบียนนี้ยังเปิดช่องให้บริษัทประกันภัยสามารถจ่ายเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร นอกเหนือจากการจ่ายตามที่คำสั่งกำหนด โดยคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว มีผลใช้บังคับกับสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยที่บริษัทได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน ซึ่งบริษัทออกให้แก่ผู้เอาประกันภัย ทั้งก่อนและหลังวันที่มีคำสั่ง (วันที่ 29 กรกฎาคม 2564) จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง