คปภ.ยุคใหม่เน็กนอร์มอล ปรับเกณฑ์กำกับยืดหยุ่น
#คปภ. #ทันหุ้น คปภ. เผยความท้าทายของหน่วยงานกำกับยุค Next Normal ต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจ ให้การสนับสนุน รวมถึงดูแลด้านความเสี่ยงของภาคธุรกิจประกันภัย ขณะที่เสียงจากภาคเอกชน BKI ชี้ ความคุ้มครองยุคใหม่จะเน้นรายบุคคล และผลิตภัณฑ์จะตอบโจทย์ความเสี่ยงรูปแบบใหม่ๆที่มากับ Next Normal
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. กล่าวว่า เมื่อเข้าสู่ยุค เน็ก นอร์มอล (Next Normal) ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปหมด ในส่วนของธุรกิจประกันภัยหากไม่ปรับตัวก็อาจถูกดิสรัปชั่น (Disrupted) ซึ่งจะเห็นได้ว่าบางธุรกิจหรือบางบริษัทต้องหายไปจากวงจรธุรกิจ เนื่องจากไม่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกัน หน่วยงานกำกับของภาครัฐ ต้องคิดใหม่ เปลี่ยนวิธีดำเนินการธุรกิจใหม่
ความท้าทายใหม่
การก้าวเข้าสู่ Next Normal ธุรกิจประกันภัยอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อุบัติใหม่และการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เช่น Digital Disruption และ COVID-19 Disruption ดังนั้น หน่วยงานกำกับต้องพัฒนากฎเกณฑ์การกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ และมีความยืดหยุ่น โดยเฉพาะการพัฒนากฎหมายให้มีลักษณะเป็นหลักการ (Principle-Based) มากกว่าการเป็นกฎเกณฑ์บังคับ (Rule-Based) มุ่งให้ธุรกิจประกันภัยมีการบริหารความเสี่ยงแบบองค์รวม (Enterprise Risk Management: ERM) มีการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงิน (Own Risk and Solvency Assessment: ORSA) เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนที่มีต่อการดำเนินธุรกิจ
หน่วยงานกำกับยังต้องเผชิญกับความท้าทายในด้านการส่งเสริม ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ ๆ และเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค การมีฐานข้อมูลกลาง หรือ Insurance Bureau System ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถประเมินและวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภคได้
ธุรกิจต้องพึงBig Data
ดังนั้น Next Normal จึงมีความจำเป็นต่อการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจที่ต้องใช้ AI และ Big Data เพื่อออกแบบกรมธรรม์ที่ตรงตามความต้องการ และกรมธรรม์ประกันภัยสามารถครอบคลุมความเสี่ยงประเภทใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ
รวมถึงรูปแบบการประกันภัยที่คุ้มครองการดำเนินธุรกิจภายใต้ความเสี่ยงด้านกฎหมายและกฎระเบียบที่เพิ่มมากขึ้น ในอัตราเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสม ยุติธรรม และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ รวมถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ธุรกิจประกันภัยก็จะเป็นที่ต้องการของตลาดและอยู่รอดในสถานการณ์ Next Normal ได้
ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI กล่าวว่าในยุค Next Normal การพัฒนาการประกันภัยต้องตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคล (Personalisation) โดยระบบดิจิทัลสามารถตรวจสอบข้อมูลเพื่อประเมินพฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิต รวมถึงความสามารถทางด้านการเงินจนนำมาสู่แบบจำลองเพื่อประเมินความต้องการของผู้บริโภคแต่ละราย
นวัตกรรมประกันยุคใหม่
ตัวอย่างที่สำคัญ เช่น การประกันสุขภาพที่ครอบคลุมกรมธรรม์สุขภาพที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพจิต (Mental Health) รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุม New Emerging Circumstance เช่น ความเสี่ยงและอาชญากรรมด้านไซเบอร์ การประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับการหยุดชะงักทางธุรกิจโดยเฉพาะในกรณีที่เกิดกับบริษัทอื่น ๆ ในห่วงโซ่อุปทาน Contingency Business Interruption เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างหลากหลายและตลอดเวลา ดังนั้น อุตสาหกรรมประกันภัยในฐานะที่มีความรู้ความเข้าใจในประเด็นความเสี่ยงดีที่สุด จะต้องแนะนำภาคประชาชนและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ให้สามารถเข้าถึงรูปแบบการประกันภัยที่มีความเหมาะสมและมีความเป็นธรรม รวมถึงสามารถให้คำแนะนำในการป้องกันความเสี่ยง (Risk Prevention and Loss Control) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น