เลขาฯคปภ.ยันสู้คดีเต็มที่ หลังบ.ประกันฟ้องศาลปกครอง บอกเลิกประกัน เจอโควิดจ่ายจบ ชี้ลอยแพปชช.
“เลขาฯคปภ.” ยันสู้คดีเต็มที่ หลังบริษัทประกันฟ้องศาลปกครอง”ปม”ไม่ให้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์โควิด กว่า 10 ล้านคน ชี้เป็นการลอยแพปชช.-สร้างบรรทัดฐานที่ผิด-ทำลายความเชื่อมั่นในระบบประกันภัย แนะบริษัทควรเปิดการเจรจากับประชาชนหาทางออกร่วมกัน
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 14 มกราคม ศาลปกครองกลางนัดไต่สวน คดีบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม ยื่นฟ้อง เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณี ออกคำสั่งนายทะเบียน ที่ 38/2564 ลงวันที่ 16 ก.ค. 2564 เรื่อง ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัทในกรมธรรม์ประกันภัย COVID – 19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
โดยนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมการไต่สวนคดีว่า วันนี้ที่มาศาลไม่ได้เพียงแต่มาที่จะแก้ต่างที่ทางบริษัทประกันภัยยื่นฟ้อง แต่ต้องการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชน เพราะหากมีการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย ประชาชนกว่า 10 ล้านคนที่ทำประกันภัยแบบเจอจ่ายจบ จะถูกลอยแพ เราจำเป็นที่จะต้องต่อสู้อย่างเต็มที่ ซึ่งตนบอกกับทีมแล้วว่าการต่อสู้คดีครั้งนี้ยังไม่แน่ใจว่าจะแพ้หรือชนะ แต่เราต้องสู้เต็มที่ ไม่งั้นประชาชนกว่า 10 ล้านคน และอาจจะลามไปถึงผู้เอาประกันภัยรายอื่นๆด้วย ที่อาจจะถูกลอยแพตามไปด้วย ดังนั้นจึงต้องสู้สุดความสามารถ ใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ประชาชน นอกจากนั้นก็เพื่อไม่ต้องการให้เกิดบรรทัดฐานของบริษัทประกันภัยในการที่จะอ้างเหตุความเสี่ยงที่มีมากขึ้นในการโยนภาระกลับไป ให้กับประชาชนผู้เอาประกันภัยที่เป็นผู้บริษัท ซึ่งตรงนี้การที่จะรับประกันความเสี่ยงทั้งหลายแหล่ จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวัง และจะต้องใช้การคำนวณที่ชัดเจนแล้ว เพราะสิ่งที่คุณรับไปคือความเสี่ยงที่รู้อยู่แล้ว ไม่ว่าโควิดจะกลายพันธุ์อย่างไรก็คือโควิด ดังนั้นแล้วจะไปอ้างว่าความเสี่ยงเกินไปไม่ได้ ซึ่งตรงนี้หากศาลยอมให้มีการเพิกถอนหรือบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิดแบบเจอจ่ายจบได้ บรรทัดฐานตรงนี้จะขยายผล บริษัทอื่นๆที่ทำประกันภัยแบบเจอจ่ายจบ ก็จะใช้สิ่งนี้เป็นบรรทัดฐานเพื่อบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิดแบบเจอจ่ายจบ ไม่เพียงเท่านั้นถ้าเหตุนี้สามารถที่จะยอมรับได้ อีกหน่อยบริษัทประกันภัยอื่นๆ ไม่ว่าจะประกันชีวิต หรือประกันวินาศภัย ก็จะใช้เหตุเดียวกันเมื่อมีความเสี่ยงเปลี่ยนไป แล้วบริษัทรับความเสี่ยงมากเกินไปก็จะเป็นเหตุให้บริษัทอาศัยเป็นช่องทางในการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย
“อยากถามกลับไปว่าเมื่อบริษัทรับความเสี่ยง เมื่อความเสี่ยงเปลี่ยนไปแต่ละบริษัทสามารถบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยได้ ผมขอถามว่าแล้วเราจะทำประกันภัยเพื่ออะไร ไม่มีประโยชน์ ระบบประกันภัยจะถูกทำลายความเชื่อมั่น และความน่าเชื่อถืออย่างสิ้นเชิง เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่เราจำเป็นต้องต่อสู้ ไม่ใช่เฉพาะประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนเท่านั้น แต่เป็นการต่อสู้ ไม่ให้เกิดบรรทัดฐานที่ผิดพลาด ซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกนี้ที่อ้างเหตุความเสี่ยงเปลี่ยนไป แล้วไปรอนสิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ที่มีความผูกพันกับประชาชน ซึ่งสิ่งที่เขาควรจะทำคือยุติการรับประกันรายใหม่ แล้วทำการเพิ่มทุนหรือแก้ปัญหา ซึ่งเรื่องเหล่านี้สามารถที่จะมีมาตรการในการเยียวยาบริษัทได้ โดยที่ไม่เป็นการรอนสิทธิของประชาชน ดังนั้นจะชี้ให้ศาลเห็นว่ามีทางเลือกเยอะแยะ แต่บริษัทไม่ใช้ความพยายามแต่ยืนยันที่จะใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย ผมถือว่าเรื่องนี้มีความร้ายแรง”เลขาธิการ คปภ. กล่าว
นายสุทธิพล กล่าวอีกว่า ปัญหาเรื่องนี้ตนจะชี้ให้ศาลเห็นว่าจริงๆแล้ว ไม่ได้เป็นเรื่องที่คำสั่งของนายทะเบียนไม่ชอบ หรือคำสั่งไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย เพราะว่าคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งโดยชอบ ออกโดยมีพื้นฐานทางกฎหมาย ออกโดยมีกระบวนการที่ถูกต้อง และไม่ได้ออกคำสั่งให้มีผลย้อนหลัง แต่เป็นการออกไปยืนยันตัวบทกฎหมาย เพราะฉะนั้นตรงนี้เราจะยืนยันต่อศาลว่าคำสั่งนายทะเบียนเป็นคำสั่งที่ชอบ และจำเป็นต้องออกคำสั่งเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ดังนั้นแนวทางการต่อสู้ของเราจะชี้ให้ศาลเห็นว่าในตัวคำสั่งไม่มีอะไรที่ผิดกฎหมาย ไม่มีอะไรที่เป็นการเลือกปฏิบัติ แต่แท้จริงแล้วเนื้อแท้ของเรื่องนี้ เกิดจากการบริหารธุรกิจที่ผิดพลาดของบริษัทเอง และโยนบาปให้กับประชาชน และเป็นเรื่องที่บริษัทไม่ถูกใจคำสั่งที่ไปขัดประโยชน์ ทำให้บริษัทไม่สามารถบอกเลิกกรมธรรม์ได้ และการที่บริษัทอ้างว่าต้องการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เราก็จะชี้แจงว่าแท้จริงแล้ววัตถุประสงค์ของบริษัทนั้นต้องการที่จะมีสิทธิในการบอกเลิกกรมธรรม์เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของบริษัทเอง ซึ่งหลังจากนี้ต้องอยู่ที่ดุลยพินิจของศาลทางเราก็จะนำเสนอพยานหลักฐานทุกอย่าง และย้ำว่าจะต่อสู้ด้วยกระบวนการทางกฎหมาย และไม่ว่าคำสั่งศาลจะออกมาอย่างไรเราน้อมรับ แต่เราก็จะใช้สิทธิตามกฎหมายต่อไป
“การระบาดของโควิดโอมิครอน เป็นอันตรายต่อเราทุกคน เพราะฉะนั้นประชาชนก็เชื่อมั่นว่าจะนำระบบประกันภัยไปช่วยเยียวยาเขา แต่การยกเลิกในขณะนี้ไทม์มิ่งไม่ได้ สิ่งที่ดีที่สุดที่เราเห็นควรจะเป็นการเคารพในสิทธิ เคารพในความเชื่อมั่น เคารพในความไว้วางใจของประชาชนผู้เอาประกัน ไม่ใช่ทำลายความเชื่อมั่นและความวางใจของประชาชน ต้องเอาความจริงมาพูดกัน ต้องคุยกับประชาชน ต้องเปิดการเจรจากับประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายบริษัทที่มีธรรมาภิบาลทำคือการยอมรับความผิดพลาด แต่การฟ้องคือการโยนความรับผิดชอบให้ประชาชนและหน่วยงานกำกับดูแล แม้บริษัทจะมีสิทธิในการฟ้องแต่เราก็มีสิทธิต่อสู้อย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์ของประชาชน หากศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวเราก็จะใช้สิทธิอุทธรณ์ อุทธรณ์ให้คดีไปถึงศาลปกครองสูงสุด หากศาลมีคำสั่งรับฟ้องคดี เราก็จะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด หากในศาลปกครองกลางเราแพ้เราก็จะอุทธรณ์ เราจะต่อสู้เต็มที่ด้วยกลไกทางกฎหมาย” นายสุทธิพล กล่าว
เลขาธิการ คปภ. กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน คปภ.ก็ยังทำงานคู่ขนานในการช่วยเหลือบริษัทประกันภัยที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือต้องการให้คปภ.มีมาตรการเยียวยากับสถานการณ์โควิด ซึ่งจะแยกเรื่องการต่อสู้คดีและการส่งเสริมและช่วยเหลือธุรกิจประกันภัย เพราะมองว่าขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากที่ภาคธุรกิจ หน่วยงานควบคุม และประชาชน ต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไขผ่านวิกฤตินี้ไปได้ ไม่ใช่ทะเลาะกัน ฟ้องคดีกัน แต่ควรร่วมพลังกันว่าจะทำอย่างไรเพื่อหามาตรการช่วยประชาชน เยียวยาธุรกิจประกันภัย และกู้ภาพลักษณ์ธุรกิจประกันภัยกลับคืนมา
เมื่อถามว่าหากศาลคุ้มครองชั่วคราว ผู้ป่วยโควิดที่เป็นผู้เอาประกันจะไม่สามารถเคลมประกันได้ใช่หรือไม่ นายสุทธิพล กล่าวว่า หากศาลคุ้มครองชั่วคราวบริษัทก็จะอ้างว่าคำสั่งคปภ.ไม่มีผล และอาจจะเกิดความวุ่นวายขึ้น เพราะเมื่อบริษัทประกันภัยเชื่อว่าเขาสามารถบอกเลิกกรมธรรม์ได้ เขาก็จะบอกเลิกในระหว่างที่คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวมีผล ขณะที่ประชาชนก็มีสิทธิฟ้องร้องคดีในทางแพ่งได้