รีเซต

วันมะเร็งโลก ชวนคนไทยทุกสิทธิรักษา ตรวจคัดกรอง"มะเร็ง"ก่อนจะลุกลาม

วันมะเร็งโลก ชวนคนไทยทุกสิทธิรักษา ตรวจคัดกรอง"มะเร็ง"ก่อนจะลุกลาม
TNN ช่อง16
4 กุมภาพันธ์ 2565 ( 10:12 )
85
วันมะเร็งโลก ชวนคนไทยทุกสิทธิรักษา ตรวจคัดกรอง"มะเร็ง"ก่อนจะลุกลาม

วันนี้ (4ก.พ.65) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นปัญหาสาธารณสุขของโลก แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งราว 20 ล้านคน เพื่อรณรงค์ให้ทั่วโลกเกิดความตระหนักและให้ความสำคัญ สมาพันธ์ควบคุมโรคมะเร็งสากล (Union for International Cancer Control, UICC) และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) จึงกำหนดให้วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น "วันมะเร็งโลก" หรือ "World Cancer Day" ซึ่งในปี 2565 นี้ ทั่วโลกได้กำหนดประเด็นการรณรงค์ “Close the Care gap” ลดวิกฤตปัญหาผู้ป่วยมะเร็งสู่ความเท่าเทียมด้านการรักษา

ทั้งนี้ สถานการณ์โรคมะเร็งของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกับทั่วโลก จากข้อมูลสถาบันมะเร็งชาติปัจจุบันมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่จำนวน 139,206 คนต่อปี ในจำนวนนี้เสียชีวิต 84,073 คน ด้วยมะเร็งบางชนิดสามารถรักษาได้หากตรวจพบในระยะแรกเริ่ม ดังนั้นภายใต้ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ บัตรทอง นอกจากบริการรักษาโรคมะเร็งแล้วในปีงบประมาณ 2565 สปสช.ได้ขับเคลื่อนเชิงรุกเพื่อให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งที่พบมากในประชากรกลุ่มเสี่ยง ภายใต้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ดังนี้

บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

สาเหตุเกิดจากเชื้อเอชพีวี ตรวจพบสูงเป็นอันดับ 2 ในหญิงไทย แต่รักษาให้หายได้หากตรวจพบในระยะแรก โดยหญิงไทยอายุ 30-59 ปี ทุกสิทธิการรักษา และอายุ 15-29 ปีที่มีความเสี่ยงสูง เข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ ด้วยวิธีแปปสเมียร์ (Pap Smear) หรือ การจี้เย็นด้วย VIA (Visual inspection with acetic acid) และบริการตรวจคัดกรองด้วยวิธีเจาะลึกระดับดีเอ็นเอเพื่อตรวจหาเชื้อเอชพีวี (HPV DNA Test) ที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำสูง กำหนดรับบริการ 1 ครั้ง ทุกๆ 5 ปี ตามแนวเวชปฏิบัติของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย มีเป้าหมายบริการจำนวน 3,039,954 คน หรือร้อยละ 20 ของประชากรกลุ่มเป้าหมาย 

นอกจากนี้เพื่อลดความเสี่ยงจากมะเร็งปากมดลูก ที่ผ่านมา ปี 2560 สปสช. ได้บรรจุสิทธิประโยชน์วัคซีนเอชพีวีเพื่อบริการฉีดให้กับเด็กนักเรียนชั้น ป.5 ทุกคนทั่วประเทศ 

บริการคัดกรองมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นมะเร็งในผู้หญิงที่พบมากเป็นอันดับ 1 ทั้งในประเทศและทั่วโลก โดยเป็นบริการให้ความรู้เรื่องมะเร็งเต้านมและแนะนำการตรวจคลำเต้านมที่ถูกต้องด้วยตนเองเพื่อสร้างความตระหนัก ซึ่งผู้หญิงอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไปเข้ารับบริการได้ปีละ 1 ครั้ง 

อย่างไรก็ตาม สปสช. อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลการคัดกรองด้วยวิธีอัลตราซาวด์และแมมโมแกรม เพื่อบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์บริการ

บริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง 

พบมากในประชากรไทยสูงเป็นอันดับที่ 4 หากตรวจพบระยะเริ่มแรกการรักษาก็จะได้ผลดี ดังนั้นในปี 2561 สปสช.บรรจุสิทธิประโยชน์บริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ เพื่อให้บริการประชาชนอายุ 50–70 ปี ทุกสิทธิการรักษา เป็นการตรวจด้วยวิธีตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ (FIT Test) จำนวน 1 ครั้ง ทุกๆ 2 ปี และหากผลตรวจผิดปกติจะได้รับการตรวจยืนยันด้วยการส่องกล้องและการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจพยาธิวิทยา ปี 2565 ตั้งเป้าหมายบริการ 1,727,030 ราย หรือร้อยละ 10 ของประชากรเป้าหมาย 

บริการคัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปาก 

เป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งบอร์ด สปสช.ได้เพิ่งเห็นชอบเมื่อเดือนธันวาคม 2564 เพื่อให้ประชาชนอายุ 40 ปีขึ้นไป ทุกสิทธิการรักษา เข้ารับบริการคัดกรองปีละ 1 ครั้ง ตามแนวทางเวชปฏิบัติของกรมอนามัย ร่วมกับราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิกแห่งประเทศไทย มีเป้าหมายบริการจำนวน 2,212,898 คน หรือร้อยละ 30 ของกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้งบประมาณราว 29.21 ล้านบาท ทั้งนี้มะเร็งในช่องปากที่ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดหากตรวจพบและรักษาในระยะเริ่ม

นพ.จเด็จ กล่าวว่า บริการตรวจคัดกรองมะเร็งนี้ย้ำว่าเป็นสิทธิประโยชน์ที่ สปสช.ดูแลคนไทยทุกสิทธิ ทั้งสิทธิประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงสิทธิรักษาพยาบาลอื่นๆ 

สปสช.ขอเชิญชวนประชาชนตามกลุ่มเป้าหมายเข้ารับบริการตรวจคัดกรองก่อนมะเร็งจะลุกลาม โดยประชาชนสามารถเข้ารับบริการได้ที่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

หากผลตรวจพบแนวโน้มเสี่ยงโรคมะเร็งจะได้เข้าสู่กระบวนการตรวจวินิจฉัยและรักษาตามสิทธิประโยชน์ต่อไป ซึ่ง สปสช. ได้พัฒนาระบบบริการ “มะเร็งรักษาที่ไหนก็ได้ ที่พร้อม” (Cancer Anywhere) ภายใต้นโยบายยกระดับบัตรทองสู่หลักประกันสุขภาพยุคใหม่ เพื่อผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษาได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“มะเร็งเป็นภัยร้ายต่อสุขภาพ ทำให้เกิดภาวะเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ทั้งเป็นโรคค่าใช้จ่ายสูงในการรักษา โดยเฉพาะในภาวะที่โรคลุกลามแล้ว บริการตรวจคัดกรองจึงเป็นมาตรการสำคัญที่ สปสช.ดำเนินการเพื่อค้นหาผู้ป่วยมะเร็งระยะเริ่มต้นและได้รับการรักษาโดยเร็ว” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถดูสิทธิประโยชน์ตรวจคัดกรองมะเร็งรวมถึงสิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพได้ที่แอปเป๋าตัง เมนูกระเป๋าสุขภาพ เลือกบริการสร้างเสริมสุขภาพ (เช็คสิทธิ) หลังจากนั้นจะพบสิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่ตรงกับเพศ อายุของท่าน และสามารถไปขอรับบริการได้ที่หน่วยบริการใกล้บ้าน ขณะนี้เฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล สามารถเลือกหน่วยบริการที่ต้องการและทำการนัดหมายหรือจองคิวไปรับบริการได้ 

ซึ่ง สปสช.และแอปฯ เป๋าตัง อยู่ระหว่างขยายบริการนี้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคได้มากขึ้น แต่ระหว่างนี้ประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัดสามารถไปขอรับบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคตามช่วงวัยของท่านได้ที่หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

เช่น รพ.สต./สถานีอนามัย ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง โรงพยาบาล ที่เป็นหน่วยบริการประจำตามสิทธิ หรือสถานพยาบาลที่ท่านไปใช้บริการเป็นประจำ กรณีผู้ประกันตนและสิทธิข้าราชการเข้ารับบริการได้ที่หน่วยบริการในพื้นที่/จังหวัด ที่อยู่อาศัยหรือประจำทำงาน


ข้อมูลจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ภาพจาก AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง