“Climate change”ป่วนโลก สถิติใหม่ “น้ำแข็งขั้วโลกใต้” ต่ำแบบสุดขั้ว
ศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งแห่งชาติสหรัฐฯหรือ NSIDC รายงานว่า น้ำแข็งในทะเลในมหาสมุทรรอบทวีปแอนตาร์กติกา หรือ ขั้วโลกใต้ ลดระดับลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในฤดูหนาวนี้ อาจส่งผลร้ายแรงโดยเฉพาะกับ “เพนกวิน” ที่ผสมพันธุ์และเลี้ยงลูกบนน้ำแข็งในทะเล ข้อมูลเมื่อ ส.ค. พบว่า“ลูกเพนกวินจักรพรรดิ”กว่า 10,000 ตัวต้องตายไป หลังจากทะเลน้ำแข็งขั้วโลกใต้ละลายทำให้ผืนน้ำแข็งแตกตัวก่อนที่ลูกเพนกวินจะเติบโตพอจนมีขนที่ทนน้ำและจำเป็นต่อการว่ายน้ำ ทำให้พวกมันจมน้ำ หรือแข็งตายในที่สุด การลดลงของปริมาณน้ำแข็ง ยังทำให้ “พื้นที่สีขาว” ซึ่งจะช่วยสะท้อนความร้อนจากแสงอาทิตย์ลดลง และทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น เหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดถี่ขึ้นอีกใน 50 -100 ปีข้างหน้า
ขอบเขตน้ำแข็งในแอนตาร์กติกา สูงสุดในปีนี้(2566) เมื่อ 10 ก.ย.ครอบคลุมพื้นที่ 16.956 ล้านตารางกิโลเมตร แต่เป็นระดับต่ำที่สุดในฤดูหนาวปีนี้นับตั้งแต่เริ่มบันทึกดาวเทียมในปี 2522 และน้อยกว่าสถิติต่ำสุดปี 2529 ประมาณ 1 ล้านตารางกิโลเมตร ถือเป็น “สถิติต่ำสุดแบบสุดขั้ว” แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญจะยังไม่ชี้ชัดอย่างชัดเจนว่าการลดลงของน้ำแข็งขั้วโลกใต้ เกี่ยวข้องโดยตรงกับภาวะโลกร้อนหรือไม่ แต่ผลการศึกษา ในวารสาร Communications Earth and Environment เมื่อ ก.ย. ก็พบว่า อุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรอุ่นขึ้น มีการปล่อยแก๊สเรือนกระจกของมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ปริมาณน้ำแข็งในทะเลลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2559 และช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จุดที่กระทบหนักจากโลกร้อนคือ “ขั้วโลกเหนือ” ที่น้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็วกว่า 4 เท่าเมื่อเทียบค่าเฉลี่ยทั่วโลก และรายงานนี้อาจสะท้อนให้เห็นชัดเจนขึ้นว่า ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนได้ไปเริ่มขยายไปถึง “ขั้วโลกใต้”แล้ว
ขณะที่ภาพรวมของประชาคมโลก ได้ตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และประชุมภูมิอากาศโลกครั้งแรก (The First World Climate Conference) ที่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อ12 – 23 ก.พ. 2522 การประชุมครั้งนั้นเน้นเรื่องผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มีต่อมนุษย์ และเรียกร้องให้รัฐบาลของแต่ละประเทศให้ความสำคัญกับภูมิอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลงและป้องกันการกระทำของมนุษย์ที่จะกลับมามีผลกระทบต่อมนุษย์เอง ส่วนการประชุมที่จะมีขึ้นในครั้งล่าสุดและเป็นครั้งที่ 28 (COP28) ระหว่าง30 พ.ย.-12 ธ.ค. ปีนี้ ที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับรัฐบาลทั่วโลกในลดผลกระทบจาก "ภาวะโลกร้อน" ด้วยการลดการใช้“เชื้อเพลิงฟอสซิล” ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เตือนว่า โลกจะร้อนขึ้นเกินกว่าเป้าหมายทั่วโลกที่ 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ภายใน 10-15 ปี หากไม่ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างรวดเร็ว
ที่มา
:ศูนย์ภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา Climate center
:ทีม กรุ๊ป
:Nationnal Snow and Ice Data Center (NSIDC)
: Reuters