จับตา “ทีมเศรษฐกิจ” ชุดใหม่ ช่วง “ศก.หัวเลี้ยวหัวต่อ” ?
TNN ช่อง16
17 กรกฎาคม 2563 ( 10:02 )
295
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562 ทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัวรุนแรงกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ ทำให้องกร์ที่ทำหน้าประเมินเศรษฐกิจต้องปรับประมาณการ 2-3 ครั้งเพียงแค่ระยะเวลา 6 เดือนเดือนแรกของปีนี้ และแต่ละครั้งที่ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจก็พบว่า แย่ลงทุกครั้ง ตัวอย่างเช่น ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่ปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจโลกและประเทศต่างๆ ลดลงต่อเนื่อง
เมื่อเศรษฐกิจโลกแย่ขนาดนั้น เศรษฐกิจไทยก็ยิ่งได้รับผลกระทบหนักและหดตัวรุนแรงกว่าเศรษฐกิจโลก เพราะพึ่งพาอุปสงค์จากต่างประเทศหลักทั้งการส่งออกและท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะหดตัว 8.1%
อย่างไรก็ดีธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักวิจัยภาคเอกชนเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจไทยซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด-19 ได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ดังนั้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จึงเป็น “ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ” ของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จะคลี่คลาย และกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะค่อยๆ กลับมาดีขึ้น โดยธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าเศรษฐกิจปี 2564 จะพลิกกลับมาเป็นขยายตัว 5%
แต่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้ กลับมีประเด็นการเมือง การเปลี่ยนตัว “แม่ทัพและทีมเศรษฐกิจ” ที่นำโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเริ่มเข้าร่วมทำงานด้านเศรษฐกิจกับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่วันที่ 19 ส.ค.2558 โดยมีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2558 ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จากนั้นย้ายไปนั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการรกระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนจะมาคุมกระทรวงการคลัง
ส่วนนายนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เริ่มงานตั้งแต่วั้นที่ 15 ธ.ค. 2559 ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเลื่อนเป็นรัฐมาตรีกระทรวงพาณิชย์ ก่อนจะมานั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
ขณะที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ เข้ามาตั้งแต่วันที่ 19 ส.ค. 2558 ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก่อนย้ายไปเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายก และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สำหรับ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เข้าร่วมตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2559 ในตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ จากนั้นขยับมาเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนจะมานั่งตำแหน่งรองเลธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง
จะเห็นว่า ทีมเศรษฐกิจที่นำโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ร่วมงานกับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มานานเกือบ 5 ปี ดังนั้นนโยบายสำคัญๆ ที่ริเริ่มและทำมาอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลชุดนี้มาจากทีมเศรษฐกิจชุดนี้ เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในระบบขนส่งขนาดใหญ่ เป็นต้น
ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนตัวทีมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจแบบนี้ จึงสร้าง “ความกังวล” ให้คนในแวดวงเศรษฐกิจการเงินพอสมควร เพราะหากเกิดการ “สะดุด” หรือ “ล่าช้า” ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแน่นอน
โดยความเห็นจาก นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่าการปรับทีมเศรษฐกิจจะเข้ามาเป็นปัจจัยกดดันต่อความมั่นใจของนักลงทุนในระยะสั้น เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในโครงการขนาดใหญ่ มาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบของโควิด-19 ที่กำลังจะสิ้นสุดในเดือนก.ค.นี้ และการจัดทำงบประมาณปี 2564 จะล่าช้าหรือไม่
ขณะที่มุมมองของภาคธุรกิจส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ต้องมีความรู้ความสามารถ ทำงานเป็นทีม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง และเป็นที่ยอมรับของสังคม อาทิ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มีความเห็นว่า ต้องการให้ทีมเศรษฐกิจบูรณาการการทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่มีปัญหาติดขัด สิ่งสำคัญคือต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย แสดงความคิดเห็นว่าอยากเห็นคนที่มีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับของประชาชน และทีมเศรษฐกิจใหม่จะต้องลงมือแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องให้ประชาชนสามารถเดินหน้าต่อไปได้
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักด์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่าขอให้เป็นคนที่มีประสบการณ์ เป็นที่ยอมรับของสังคม เพราะจากนี้เรื่องของเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องง่าย หลังการระบาดของโควิด-19 บุคคลที่จะเข้ามาดูแลเรื่องเศรษฐกิจต้องเป็นคนที่มีความสามารถอย่างมาก
ด้าน น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) มีความเห็นว่า ไม่ว่าทีมเศรษฐกิจใหม่จะเป็นใคร สิ่งที่จะต้องแก้ไข คือ พยุงเศรษฐกิจในประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างรวดเร็ว และอยากเห็นเม็ดจากพ.ร.ก.เงินกู้ลงเข้าไปสู่ระบบต่าง ๆ ให้ได้อย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม
สำหรับโผรายชื่อทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ ที่มีกระแสข่าวมาแรงและเป็นตัวเต็งนั้น มีชื่อ นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทย คุมกระทรวงคลัง //นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นรัฐมนตรีพลังงาน // นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นั่งรองนายกรัฐมนตรี และยังมีชื่อของนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ นั่งรองนายกรัฐมนตรี รวมถึงมีชื่อของนาย บุญทักษ์ หวังเจริญ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารทหารไทย ก็ติดโผนั่งรองนายกรัฐมนตรีเช่นกัน
ในเบื้องต้น รายชื่อและตำแหน่งที่ค่อนข้างลงตัวมากที่สุดคือ นายปรีดี ดาวฉาย ซึ่งประวัติการทำงานที่น่าสนใจ โดยเริ่มงานที่สำนักกฎหมาย ธนาคารกสิกรไทย เมื่อปี 2525 และเติบโตในสายนี้มาตลอด โดยเฉพาะงานด้านสินเชื่อ และการปรับโครงสร้างหนี้ ในปี 2544 ขึ้นเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ปี 2547 เป็นรองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และปี 2556 ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย
นอกจากนั้น ยังเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็นประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย เป็นกรรมการอีอีซี และกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นต้น
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีโผรายชื่อตัวเต็งทีมเศรษฐกิจ ที่เป็นความหวังว่าจะมาพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย แต่ต้องติดตามการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างใกล้ชิด เพราะบ่อยครั้งเกิดการ "พลิกโผ" หรือ "พลิกล็อก" ได้ตลอดเวลา
แต่ครั้งนี้...สุดท้ายแล้วจะบอกว่าใครก็ได้ หรือ รายชื่อไม่สำคัญ "คงไม่ใช่" เพราะขณะนี้เศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ปกติ และกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ถือเป็นความท้าทายและโจทย์ยากของทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ รวมถึงรัฐบาลด้วย
เพราะหากทีมเศรษฐกิจชุดใหม่เข้ามาแล้ว ดำเนินนโยบายไม่ต่อเนื่อง หรือล่าช้า ที่สำคัญหากประชาชนและนักลงทุนไม่เชื่อมั่น อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่กำลังดีขึ้น เกิดอาการ “สะดุด” ฟื้นตัวล่าช้าออกไปอีกได้
ดังนั้นการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจในช่วงเวลาสำคัญเช่นนี้ ต้องติดตามว่า "ใคร" จะมาคุมกระทรวงเศรษฐกิจ ร่วมงานกับรัฐบาลประยุทธ2 รวมถึงการปรับคณะรัฐมนตรีทั้งคณะว่ารัฐบาลผสมที่มีพรรคร่วมถึง 21 พรรคจะจัดสรรได้ลงตัวหรือไม่
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
รายการ "เศรษฐกิจ Insight"
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline