รีเซต

นวัตกรรม AI ช่วยคัดกรองผู้ป่วยซึมเศร้า

นวัตกรรม AI ช่วยคัดกรองผู้ป่วยซึมเศร้า
TNN ช่อง16
14 ตุลาคม 2565 ( 15:30 )
70
นวัตกรรม AI ช่วยคัดกรองผู้ป่วยซึมเศร้า



ไทยมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเป็นจำนวนมาก และมีบุคลากรไม่เพียงพอที่จะทำหน้าที่ประเมินอาการ แต่ปัจจุบันได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับช่วยคัดกรองผู้ป่วยสำหรับโรคซึมเศร้าออกมาได้สำเร็จแล้ว มันสามารถช่วยให้เราเข้าใจและเข้ารับการรักษาได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น


สถิติ "โรคซึมเศร้า" น่ากังวล... 

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าในปี 2564 คนไทยอย่างน้อย 1 ล้าน 5 แสนคน ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แต่มีคนเข้าถึงการรักษาเพียง 28 คน จากจำนวน 100 คนเท่านั้น ที่น่ากลัวคือ  มีสถิติผู้พยายามฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6 คนต่อชั่วโมง และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อย ๆ มันเป็นเรื่องที่น่ากังวลจริง ๆ 


รศ.พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ อาจารย์ประจำ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาของการรักษาโรคซึมเศร้าในตอนนี้คือ ต่อให้เราเพิ่มจิตแพทย์แค่ไหน ก็อาจจะไม่เพียงพอกับคนที่เป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ บางคนไม่สามารถถึงการแพทย์ได้ อย่างสายด่วนเราก็เห็นว่ามีการบริการที่มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ยังไม่พอ หลาย ๆ เคสไม่สามารถเข้ารับบริการได้ 


ในตอนที่ผู้ป่วยอารมณ์ดาวน์มาก ๆ นั่นคือตอนที่พวกเขาไม่ไหวแล้ว ช่วงนั้นเป็นเวลานาทีทอง แต่จะเกิดอะไรถ้าเค้าโทรเข้ามาขอรับการรักษาหรือคำปรึกษาไม่ได้ ?


"แอปพลิเคชัน DMIND"

จากปัญหาข้างต้น จึงเกิดความคิดว่า หากเกิด "ระบบคัดกรอง" ที่มีประสิทธิภาพมาก เพื่อมาช่วยให้จิตแพทย์ทำงานได้ง่ายขึ้น มันจะสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ลงได้ไปมากทีเดียว นั่นทำให้ทางคณะแพทยศาสตร์, คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ University Technology Center ร่วมกันพัฒนา แอปพลิเคชัน DMIND ที่มีชื่อเต็มว่า "Detection and Monitoring Intelligence Network for Depression" หรือ "เครือข่ายอัจฉริยะสำหรับตรวจจับและคัดกรองโรคซึมเศร้า เพื่อช่วยคัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า" ขึ้นมา โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมสุขภาพจิต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ทีมผู้พัฒนาได้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาใช้ เพื่อสร้าง “คุณหมอพอดี” ทำหน้าที่พูดคุย และวิเคราะห์ระดับความรุนแรงของโรคซึมเศร้าที่ได้จากข้อมูล สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง และอารมณ์ของผู้ใช้งาน พร้อมคัดกรองกรณีเร่งด่วน ที่ต้องช่วยเหลือเป็นอันดับแรก พร้อมประสานส่งต่อความช่วยเหลือให้ในทันที


DMIND มีแผนในการพัฒนาอยู่ 3 ส่วน

  • ส่วนที่ 1 ส่วนของแอปพลิเคชัน : ถูกออกแบบให้สามารถใช้งานได้ง่ายและตอบโจทย์ที่สุด 
  • ส่วนที่ 2 ส่วนของ AI : ตัว AI จะมีความชาญฉลาดใกล้เคียงกับระดับแพทย์ 
  • ส่วนที่ 3 ส่วนของการเอาไปใช้งานต่อ : จะมีคนจากกรมสุขภาพจิต ที่เข้ามาดูแลเคสที่ค่อนข้างซีเรียส แล้วก็เข้าไปช่วยเหลือในทันที



วิธีใช้งาน DMIND

เราสามารถเข้าไปใช้งาน DMIND ได้ง่ายๆ ผ่าน Line Official “หมอพร้อม” บนสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ต ซึ่งรองรับการใช้งานทั้งระบบปฏิบัติการ IOS และ Android

1. กดไปที่ “คุยกับหมอพร้อม” และ “ตรวจสุขภาพใจ”

2. เลือก “คุยกับหมอพร้อม (Chatbot)” 

3. เลือก “ตรวจสุขภาพใจ” 

4. เลือก “ตรวจสุขภาพใจกับคุณหมอพอดี” 

5. ระบบจะให้ตอบแบบสอบถาม ซึ่งจะเป็นส่วนที่ช่วยคัดกรองและประเมินตัวเอง 

6. หากต้องการประเมินเชิงลึก เราต้องอนุญาตให้มีการเปิดกล้องบันทึกเสียงและภาพ เพื่อพูดคุยกับ “คุณหมอพอดี”  โดยข้อมูลภาพและเสียงของเราจะถูกเก็บเป็นความลับ

7. หลังจากที่เราได้สัมภาษณ์กับคุณหมอพอดีเรียบร้อยแล้ว ระบบเอไอ จะทำการประเมินลักษณะภาวะซึมเศร้าออกมาเป็นคะแนน 3 ระดับ ได้แก่ 

  • ระดับสีเขียว หมายถึง อยู่ในภาวะปกติ
  • ระดับสีเหลือง หมายถึง มีภาวะซึมเศร้า นักจิตวิทยาจะติดต่อกลับเพื่อให้คำปรึกษาภายใน 7 วัน
  • ระดับสีแดง หมายถึง ภาวะซึมเศร้ารุนแรง นักจิตวิทยาจะติดต่อกลับภายใน 1-24 ชั่วโมง


DMIND มีความแม่นยำในการวิเคราะห์สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียงและเนื้อหาอยู่ที่ประมาณ 75% คลิปภาพ และข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากเรา จะถูกส่งต่อให้จิตแพทย์วิเคราะห์ซ้ำอีกครั้งในภายหลัง ในอนาคตยิ่งพอผ่านหลาย ๆ เคสมากขึ้น และตัวแอปได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ความแม่นยำของ AI ก็จะยิ่งสูงขึ้นมากอย่างแน่นอน




DMIND ใช้ต้นทุนในการพัฒนาอยู่ที่ประมาณ 2,500,000 บาทต่อปี ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะอยู่ที่การพัฒนาศักยภาพขอเอไอและเซิร์ฟเวอร์ รวมถึงค่าจ้างนักจิตวิทยามาประเมินอาการผู้ป่วย หลังได้ข้อมูลจากผู้ใช้งานไปแล้ว


คำพูดดี ๆ อยากฝากถึงทุกคน

รศ.พญ.โสฬพัทธ์ ได้พูดไว้ว่า "จริง ๆ แล้วคนเป็นโรคซึมเศร้า เค้ารู้สึกว่า เค้าแย่แล้วแหละ เราอาจจะต้องมองว่าจริง ๆ แล้วความรู้สึกแรก ๆ เลย เค้าไม่ต้องการที่จะบอกว่าสู้ ๆ นะ เดี๋ยวก็หาย เพราะมันไม่ช่วย เค้าจะรู้สึกว่าคุณไม่เข้าใจเค้า สำคัญที่สุดคือเข้าใจเค้าหน่อยว่าตอนนี้ เค้าท้อ เค้าเหนื่อย เค้าไม่ไหวแล้ว จริงๆ แล้วการที่มีใครสักคนแล้วบอกเค้าว่า เนี่ย เราอยู่ข้าง ๆ นะ เราอยู่ตรงนี้เสมอนะ เราเป็นกำลังใจให้นะ เราเข้าใจคุณนะ แล้วช่วยอะไรได้ค่อย ๆ ช่วย ทีละนิด อันนี้สำคัญมาก คือการที่ให้รู้ว่าเค้าไม่ได้อยู่คนเดียว แล้วเรา อยู่ข้าง ๆ เค้าเสมอเป็นสิ่งสำคัญที่สุด"


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง