รีเซต

เปรียบเทียบจรวดขนส่งอวกาศ Starship และ SLS

เปรียบเทียบจรวดขนส่งอวกาศ Starship และ SLS
TNN ช่อง16
29 มิถุนายน 2565 ( 15:33 )
129
เปรียบเทียบจรวดขนส่งอวกาศ Starship และ SLS

โครงการอะพอลโล 17 (Apollo 17) เป็นโครงการสุดท้ายขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติหรือนาซา (NASA) ที่ส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ในปี 1972 ซึ่งหลังจากผ่านมากว่า 50 ปี นาซาก็เลือกปัดฝุ่นภารกิจส่งคนไปดวงจันทร์อีกครั้งโดยใช้จรวดขนส่งอวกาศ SLS พร้อมจับมือกับภาคเอกชนชั้นนำ ในขณะที่สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ก็มีความพยายามสร้างระบบขนส่งอวกาศเพื่อการสร้างอาณานิคมบนดาวอังคารและพิชิตดวงจันทร์ด้วยจรวดขนส่งสตาร์ชิป (Starship) เช่นกัน TNN Tech จึงรวบรวมข้อมูลและเจาะลึกรายละเอียดโครงการทั้งสองที่มีเป้าหมายเป็นดวงจันทร์เหมือนกัน


Space Launch System หรือเรียกว่าเอสแอลเอส (SLS) คือ จรวดขนส่งอวกาศที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอาร์ทีมิส (Artemis) ของนาซา (NASA) ที่ต้องการส่งมนุษย์กลับไปดวงจันทร์อีกครั้ง ซึ่งดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอวกาศของสหรัฐฯ 4 บริษัทที่รวมถึงโบอิ้ง (Boeing) ด้วย จรวดขนส่งลำนี้จะมีความสูง 111 เมตร พร้อมเครื่องยนต์ 25 ตัว ที่สร้างแรงขับดัน 8,000 ตัน สำหรับส่งยานหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ไปอวกาศที่มีน้ำหนักไม่เกิน 95 ตัน สำหรับระดับวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit: LEO) 


ในขณะที่สตาร์ชิป (Starship) เป็นจรวดขนส่งอวกาศที่พัฒนาโดยสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) บริษัทด้านอวกาศชื่อดังของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) เพียงผู้เดียวเท่านั้น โดยจรวดลำนี้มีเป้าหมายในการขนส่งมนุษย์เพื่อสร้างอาณานิคมบนดาวอังคารก่อนที่จะเพิ่มการลงสำรวจดวงจันทร์เป็นเป้าหมายล่าสุด สตาร์ชิปสามารถส่งยานหรือวัตถุในอวกาศที่มีน้ำหนักไม่เกิน 150 ตันได้ ใช้เครื่องยนต์แรงสูง 2 ตัว เพื่อสร้างแรงขับดันรวม 1,500 ตัน โดยมีความสูงรวมส่วนประกอบต่าง ๆ สูงสุด 132 เมตร ซึ่งจะสูงแซงหน้าซาเทิร์น วี (Saturn V) จรวดขนส่งอวกาศที่สูงที่สุดในโลกที่เคยใช้งานในภารกิจตระกูลอะพอลโล่มาก่อน 


ทั้งสองโครงการต่างมีเป้าหมายคล้ายคลึงกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดที่สุดอยู่ที่เรื่องของค่าใช้จ่าย เนื่องจาก SLS นั้นถูกยกเครื่องและพัฒนามาอย่างยาวนาน มูลค่าโครงการสะสมที่ปรับตามค่าเงินเฟ้อในปัจจุบันจึงพุ่งสูงถึง 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่า 8 แสนล้านบาท ในขณะที่สตาร์ชิปนั้นใช้งบประมาณไม่เกิน 2 แสนล้านบาท พร้อมค่าใช้จ่ายในการขนส่งไปยังอวกาศที่ถูกกว่านับร้อยเท่าเมื่อเทียบกับ SLS ที่มีค่าใช้จ่ายการใช้จรวดขนส่งอวกาศต่อครั้งประมาณ 7 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของ SLS คือการขนส่งที่รวดเร็วและทรงพลัง ในขณะที่สตาร์ชิป (Starship) เน้นความคุ้มค่าในการใช้งาน โดยอาจจะมีพละกำลังที่ช้ากว่าเป็นข้อแลกเปลี่ยน


ในประเทศไทย มีโครงการภาคีความร่วมมืออวกาศไทย (Thai Space Consortium) ที่เกิดจากความร่วมมือกว่า 12 หน่วยงาน เป็นหัวหอกในการส่งยานอวกาศและอุปกรณ์สำรวจอวกาศไปยังดวงจันทร์ภายในปี 2030 ที่จะถึงนี้


ที่มาข้อมูล Observer, NASA, SpaceX

ที่มารูปภาพ Unsplash

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง