รีเซต

"โอ่อ่า-อลังการ" พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติเฉิงตู ขีดสุดแห่งสถาปัตยกรรมระดับโลก

"โอ่อ่า-อลังการ" พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติเฉิงตู ขีดสุดแห่งสถาปัตยกรรมระดับโลก
TNN ช่อง16
7 กรกฎาคม 2566 ( 00:13 )
66
"โอ่อ่า-อลังการ" พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติเฉิงตู ขีดสุดแห่งสถาปัตยกรรมระดับโลก

ทีมดิไซเนอร์จาก เพลลี่ คลาร์ค และหุ้นส่วน (Pelli Clarke & Partners) บริษัทสถาปัตยกรรมระดับโลกที่มีสำนักงานหลักตั้งอยู่ที่รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้ร่วมกันออกแบบพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติเฉิงตู เพื่อให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์แห่งวัฒนธรรมและการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์จีน ท่ามกลางบรรยากาศของเมืองเฉิงตูที่พลุกพล่านและเต็มไปด้วยชีวิตชีวา 


โดยรูปลักษณ์ภายนอกของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีลักษณะเหมือนเสาหินธรรมชาติ ครอบคลุมพื้นที่ 50,000 ตารางเมตรบริเวณกึ่งกลางทางด้านทิศใต้ของเมือง ซึ่งทีมสถาปนิกได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของเฉิงตู เช่น ภูเขา ถนนหนทาง และป่าไม้ โดยตัวอาคารหลักชวนให้นึกถึงภูเขาเสฉวนซึ่งเกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติของหินที่แตกออกจากกัน และเคลื่อนตัวภายใต้พลังของธรรมชาติจนสามารถตั้งตระหง่านมาเป็นเวลานับหมื่นนับแสนปีอย่างงดงาม



พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติเฉิงตู ยังเป็นตัวอย่างของการผสมผสานการออกแบบสถาปัตยกรรมเข้ากับเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การใช้ผนังกันฝนแบบพับได้ 2 ชั้น ซึ่งมีแผ่นพับกันฝนมากกว่า 70 แบบและผนังม่านด้านนอกมากกว่า 6,000 ชิ้น ที่สร้างจากแผ่นเหล็กน้ำหนักรวมกว่า 8,700 ตันมาเชื่อมต่อกัน ซึ่งทีมออกแบบตั้งใจให้ผู้เข้าชมระลึกภาพพื้นผิวขรุขระของภูเขา ในยามค่ำคืนตัวอาคารยังคงสว่างไสวด้วยระบบไฟแบ็คไลท์ LED ส่วนรอยเจาะในส่วนที่เป็นหินแกรนิตชวนให้นึกถึงท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาว  


ขณะที่การออกแบบตัวอาคาร ทีมสถาปนิกเลือกใช้ซอฟต์แวร์สถาปัตยกรรมขั้นสูง เพื่อรองรับการใช้งานโครงสร้างเหล็กที่ซับซ้อน อีกทั้งยังใช้ในการวางตำแหน่งโครงสร้างการก่อสร้างที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพ โดยตลอดการก่อสร้างมีการใช้เครื่องจักรแบบรักษาสิ่งแวดล้อม, การก่อสร้างแบบลดเสียง และการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เข้มงวด ที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของเหล่าสถาปนิกในกระบวนการก่อสร้างอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบ



ขณะที่สถาปัตยกรรมของพิพิธภัณฑ์ เผยให้เห็นงานออกแบบเชิงศิลปะรอบ ๆ อาคาร เช่น ตัวอาคารที่หุ้มด้วยหินแกรนิตที่มาจากท้องถิ่น การเจาะรูที่มีรูปทรงตามธรรมชาติและประกอบขึ้นอย่างพิถีพิถัน ทำหน้าที่เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละตึก ส่วนภายในเลือกใช้วัสดุตกแต่งภายในสะท้อนถึงแผ่นเปลือกโลก ซึ่งเป็นที่มาของการก่อตัวภูเขาเสฉวน ผสมผสานกับการจำลองภาพของเส้นทางขึ้นภูเขาที่ดูคดเคี้ยวแต่มั่นคง โดยเลือกใช้กระจกไล่เรียงตามพื้นที่อาคารด้านตะวันออกของพิพิธภัณฑ์เชื่อมระหว่างชั้นสองและชั้นสาม ขณะที่ทางเดินลอยฟ้าเป็นการมอบประสบการณ์แบบ Interactive หรือการมีส่วนร่วมแก่ผู้เข้าชม ด้วยหุ่นไดโนเสาร์ขนาดเท่าของจริงที่ห้อยลงมาจากเพดาน 




สำหรับการออกแบบด้านภูมิสถาปัตยกรรมด้านนอกของพิพิธภัณฑ์ ได้รับแรงบันดาลใจจากระบบชลประทานของแบบดั้งเดิมภูมิภาค ทำให้เกิดภาพจำลองของสระน้ำและลำน้ำสาขาในเฉิงตู ซึ่งทำหน้าที่เป็นกรอบของอาคารไปพร้อม ๆ กัน ช่วยสร้างพื้นที่อากาศสะอาดให้กับสภาพแวดล้อมโดยรอบ นอกจากนั้นยังมีพืชพื้นเมืองที่โอบโอบล้อมตัวตึกอยู่ ทั้งยังประดับประดาด้วยแหล่งน้ำ สวนพื้นที่ชุ่มน้ำ สวนไผ่ สวนดอกบัว และสวนพืชตามฤดูกาล เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ รวมถึงแมลงผสมเกสร ชวนให้นึกถึงภูมิทัศน์เกษตรกรรมของประเทศจีนในอดีต 



ทีมผู้ออกแบบระบุว่า ส่วนสำคัญที่เป็นหัวใจของการออกแบบพิพิธภัณฑ์แห่งนี้  คือความมุ่งมั่นในการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยใช้คอนเซปต์อาคารสีเขียวที่ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ของพิพิธภัณฑ์เพื่อลดผลกระทบต่อระบบนิเวศ รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและสนับสนุนสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุ ไปจนถึงเทคโนโลยีประหยัดพลังงานและการจัดการของเสีย เช่น การใช้เหล็กคลุมเหนือคอนกรีตช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในขณะที่หินแกรนิตที่มาจากท้องถิ่นช่วยลดค่าใช้จ่ายและการปล่อยก๊าซมลพิษในการขนส่ง

 

นอกจากนั้นยังมีระบบประหยัดพลังงาน รวมถึงระบบควบคุมไฟ LED อัจฉริยะ กระจกและฉนวนประสิทธิภาพสูงป้องกันอุณหภูมิภายนอกเพื่อลดการใช้พลังงานและการปล่อยคาร์บอน และระบบการจัดเก็บน้ำฝนที่รวบรวมและนำน้ำฝนกลับมาใช้ใหม่ ในขณะที่แสงธรรมชาติที่ถูกคัดสรรมาจากการออกแบบ ทำให้มีความสว่างในตัวอาคารตอนกลางวันเพียงพอช่วยลดการใช้ไฟฟ้า 


พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติเฉิงตูยังมีแนวปฏิบัติในการจัดการขยะ โดยให้ความสำคัญกับการรีไซเคิล การคัดแยก และนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด




ทั้งนี้ ด้วยพื้นที่โดยรวมของตัวพิพิธภัณฑ์ที่สร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2022 แห่งนี้ ซึ่งมีทั้งความโอ่อ่า ยิ่งใหญ่ ทันสมัย และเพียบพร้อมด้วยพื้นที่จัดนิทรรศการ, ร้านค้า, ร้านกาแฟ, โรงภาพยนตร์ รวมถึงยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ทำให้ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติเฉิงตูแห่งนี้ กลายเป็นสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมของเมือง และยังสะท้อนภาพเฉิงตูในฐานะหนึ่งในเมืองชั้นนำด้านเทคโนโลยีของประเทศจีนนั่นเอง


ที่มาของข้อมูล Designboom 

ที่มาของรูปภาพ Pelli Clarke & Partners


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง