รีเซต

อุปกรณ์ช่วยฝึกเดิน ความหวังใหม่ผู้ป่วยทั่วโลก | TNN Tech Reports

อุปกรณ์ช่วยฝึกเดิน ความหวังใหม่ผู้ป่วยทั่วโลก | TNN Tech Reports
TNN ช่อง16
19 พฤศจิกายน 2566 ( 18:40 )
50



อุปกรณ์ช่วยเดิน กลายเป็นแนวคิดที่เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น จากทั้งนักวิจัยและสตาร์ตอัปที่ต้องการทำให้การเดินซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นฐานการเดินทางของมนุษย์นั้นสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น จนทำให้ออกมาเป็นผลงานอุปกรณ์ช่วยเดินมากมาย ทั้งอุปกรณ์ช่วยเดินสำหรับคนทั่วไป และอุปกรณ์สำหรับช่วยฟื้นฟูร่างกายให้กับผู้ป่วยที่มีปัญหาในเรื่องของการเดิน


รองเท้ามูนวอล์คเกอร์ส (Moonwalkers) 


รองเท้ามูนวอล์คเกอร์ส (Moonwalkers) คือรองเท้าที่ทำให้การเดินเร็วเท่ากับการวิ่ง หน้าตาของรองเท้าคล้ายรองเท้าสเกต พัฒนาโดยบริษัท ชิฟต์ โรบอติกส์ (Shift Robotics) ในสหรัฐฯ 


  • มีล้อ 6 ล้อ แต่ออกแบบให้รองรับกับรองเท้าได้ทุกรูปแบบ
  • แต่ละข้างติดตั้งแบตเตอรี่ มอเตอร์ขนาด 300 วัตต์ 
  • มีระบบปัญญาประดิษฐ์ เพื่อควบคุมการทำงานของล้อให้สอดคล้องกับลักษณะการเดิน ป้องกันการลื่นไถลและเพิ่มความเร็ว
  • ตัวรองเท้าจะทำให้เราเดินได้ไวขึ้น 2.5 เท่าเมื่อเทียบกับการเดินปกติ ซึ่งจะมีอัตราเร็วอยู่ที่ราว ๆ 4 - 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อสวมใส่มูนวอล์คเกอร์ส จะเพิ่มอัตราเร็วได้สูงสุดประมาณ 11 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 
  • รองรับน้ำหนักได้สูงสุด 104 กิโลกรัม


แค่สวมอุปกรณ์เข้ากับรองเท้าทั่วไป และสามารถควบคุมการทำงานให้หยุดทำงานชั่วคราวด้วยการยกหลังเท้าขึ้นเพื่อให้อุปกรณ์หยุดเมื่อต้องการขึ้นบันได และกลับมาทำงานอีกครั้งด้วยการตบส้นเท้าเบา ๆ เท่านั้น ตัวรองเท้ามีราคาขายอยู่ที่ 1,399 ดอลลาร์สหรัฐหรือราว 49,300 บาท


ดิจิทัล บริดจ์ (Digital Bridge)


ดิจิทัล บริดจ์ คือ อุปกรณ์ความหวังใหม่ ที่ช่วยพลิกฟื้นผู้ป่วยอัมพาตให้มีโอกาสกลับมาเดินได้อีกครั้ง ตัวอุปกรณ์จะสวมที่ศีรษะและทำหน้าที่เป็นสะพาน รับสัญญาณประสาทจากสมอง เพื่อส่งต่อไปยังตัวรับที่ต่อกับไขสันหลัง พัฒนาโดยนักวิจัยสาขาประสาทวิทยาจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิส โลซาน หรืออีพีเอฟแอล


  • ดิจิทัล บริดจ์มี 2 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนสวมศีรษะในลักษณะแบบที่คาด มีตัวรับสัญญาณสมองเป็นแผ่นวงกลมประกบ 2 ฝั่ง 
  • อีกส่วนเป็นตัวประมวลผลที่ติดตั้งบนรถเข็นพยุงเดิน ซึ่งเชื่อมต่อกับไขสันหลังของผู้ป่วย
  • อุปกรณ์จะอ่านสัญญาณไฟฟ้าจากสมองของผู้ป่วย ที่กำลังสั่งการให้ขาตัวเองก้าวเดิน แล้วแปลงเป็นข้อมูลส่งต่อไปที่ตัวรับ
  • ส่วนรับสัญญาณ จะแปลงข้อมูลกลับไปเป็นกระแสไฟฟ้า และส่งผ่านขั้วไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับไขสันหลังส่วนล่าง เพื่อสั่งการให้ขาของผู้ป่วย ก้าวเดินได้ในที่สุด


ได้มีการทดสอบ ดิจิทัล บริดจ์ กับ เกิร์ต-ยาน ออสคัม (Gert-Jan Oskam) ชายที่ต้องนั่งรถเข็นมานับสิบปีจากอาการอัมพาตโดยอุบัติเหตุร้ายแรง ซึ่งปัจจุบันเขาสามารถก้าวเดินได้วันละ 100 - 200 เมตร ด้วยการใช้อุปกรณ์ได้แล้ว จากการทดลองพบว่าผู้ป่วยที่ใช้อุปกรณ์นี้ยังสามารถเดินได้ด้วยตัวเองต่อไปอีกเล็กน้อย ถึงแม้ว่าจะปิดเครื่องไปแล้วก็ตาม ซึ่งผลลัพธ์ทั้งหมดได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการชื่อดังอย่างเนเชอร์ (Nature) นับเป็นความหวัง ของผู้ป่วยอัมพาตทั่วโลก ที่จะมีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้อีกครั้งในอนาคต 


เวอร์ติวอล์ก (VertiWalk)


เวอร์ติวอล์ก (VertiWalk) หรือบันไดแนวตั้ง ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้การเดินขึ้นชั้นบนไม่จำเป็นต้องอยู่ในแนวเฉียงอีกต่อไป แต่สามารถขึ้นลงได้ในแนวดิ่ง 


  • การใช้งานเพียงแค่เข้าไปนั่งอยู่บนที่นั่งและวางเท้าบนแท่น จากนั้นงอขาในลักษณะคล้ายการสควอต โดยสามารถงอขากว้างหรือแคบได้ตามความสะดวก เพื่อส่งแรงให้ตัวบันไดนั้นเลื่อนขึ้นหรือลง ขณะเดียวกัน ให้ช้มือจับราวหน้าไปด้วยเพื่อพยุงตัว กลไกของที่นั่งและแท่นวางเท้าของเวอร์ติวอล์ก ก็จะทำหน้าที่สะสมพลังงานจากการออกแรงเพียงเล็กน้อย และส่งตัวผู้ใช้งานให้เคลื่อนที่ ได้ทั้งขึ้นบนและลงล่าง 
  • เวอร์ติวอล์ก ไม่ต้องพึ่งพาการใช้พลังงานไฟฟ้า สามารถใช้งานได้ แม้ในพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง
  • ประหยัดพื้นที่ ใช้พื้นที่ติดตั้งเพียงแค่ 80 × 80 เซนติเมตร หรือ 0.64 ตารางเมตรเท่านั้น  


เวอร์ติวอล์กเป็นโครงการวิจัยของ รูมเบาต์ ฟรีย์ลิง (Roumbout Frieling) วิศวกรนักออกแบบจากเนเธอร์แลนด์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของอังกฤษ รวมถึงมูลนิธิเจมส์ ไดสัน (James Dyson Foundation) องค์กรการกุศลที่สนับสนุนการสร้างนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ โดยปัจจุบันเวอร์ติวอล์กอยู่ระหว่างพัฒนาในเชิงพาณิชย์ ยังไม่มีการวางจำหน่าย ซึ่งนี่อาจเป็นหนึ่งนวัตกรรมที่ช่วยปลดล็อกข้อจำกัดในการขึ้นบันได และการสร้างสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่จำกัดในอนาคต



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง