รีเซต

DeepMind พัฒนา AI ทำนายข้อความที่ขาดหายไป ในจารึกกรีกโบราณ

DeepMind พัฒนา AI ทำนายข้อความที่ขาดหายไป ในจารึกกรีกโบราณ
TNN ช่อง16
13 มีนาคม 2565 ( 08:07 )
89
DeepMind พัฒนา AI ทำนายข้อความที่ขาดหายไป ในจารึกกรีกโบราณ

จากการควบคุมเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน ไปจนถึงการแก้ปัญหาความซับซ้อนของโปรตีน ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จาก DeepMind บริษัทในเครือของ Googleได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถของเทคโนโลยีที่ช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้แก่มนุษย์ และล่าสุด AI นี้ยังช่วยแก้ปัญหาจารึกโบราณที่ขาดหายไปให้สามารถนำกลับมาตีความใหม่ได้อีกครั้ง

ที่มาของภาพ DeepMind

 


Ithaca AI จาก DeepMind ถูกพัฒนาขึ้นโดยได้รับความร่วมมือจากนักโบราณคดีและนักวิทยาศาสตร์จากประเทศกรีซ, สหราชอาณาจักร และอิตาลี เพื่อฝึกสอน AI ให้เรียนรู้ฐานข้อมูลเกี่ยวกับจารึกกรีกโบราณต่าง ๆ ที่มีข้อความครบถ้วนถึง 178,551 ชุด 


สำหรับกระบวนการทำนายจารึกของ Ithaca จะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนสำหรับอ่านข้อความ เป็นการประมวลผลภาษาออกมาเป็นชุดข้อความ จากนั้นจึงส่งข้อมูลไปยังส่วนที่เป็นหน่วยประมวลผลทำนายของ AI ซึ่งจะนำข้อมูลจากส่วนประมวลผลข้อความมาตีความถึงความเป็นไปได้ของส่วนที่ขาดหายไป, สถานที่ที่มีการบันทึกข้อความ และช่วงเวลาที่จารึกถูกสร้างขึ้น


ที่มาของภาพ Unsplash

 


จากการทดสอบเบื้องต้นพบว่า Ithaca จะให้ความแม่นยำในการฟื้นฟูข้อความที่ขาดหายไปได้ 62% ในขณะที่สามารถทำนายแหล่งที่มาของจารึกได้แม่นยำ 71% และสามารถการทำนายช่วงเวลาที่จารึกถูกสร้างขึ้นได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง โดยมีความคลาดเคลื่อนห่างกันน้อยกว่า 30 ปี


เนื่องจาก Ithaca ถูกออกแบบมาเพื่อให้เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกแก่นักโบราณคดี การประมวลผลเพื่อทำนายข้อความที่ขาดหายไปจะขึ้นกับสถานที่และช่วงเวลาของจารึก ดังนั้น AI จึงสามารถสร้างข้อความขึ้นมาได้หลาย ๆ ชุดให้นักโบราณคดีเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม 


ที่มาของภาพ Unsplash

 


ซึ่งปรากฏว่าหลังจากที่นักโบราณคดีนำ Ithaca เข้ามาช่วยในงานถอดความจารึกโบราณแล้ว จะได้ความแม่นยำในการถอดความจารึกมากถึง 72% ในขณะที่หากนักโบราณคดีถอดความกันเองจะได้ความแม่นยำเพียง 25% เท่านั้น นี่จึงแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีบทบาทต่อประวัติศาสตร์ของมนุษย์


นอกเหนือจากการทำนายข้อความในจารึกกรีกโบราณแล้ว DeepMind ยังได้พัฒนาให้ Ithaca สามารถถอดความจารึกในภาษาอื่น ๆ เช่น ฮิบูร, เดโมติก และมายา เป็นต้น รวมถึงยังเปิดให้นักวิทยาศาสตร์ที่สนใจสามารถนำซอร์สโค้ดไปพัฒนาต่อได้อีกด้วย


ขอขอบคุณข้อมูลจาก New Atlas

ข่าวที่เกี่ยวข้อง