รีเซต

ลูกหนี้น้ำท่วมเช็กเลย! ธอส. ออก 7 มาตรการช่วยเหลืออะไรบ้าง?

ลูกหนี้น้ำท่วมเช็กเลย! ธอส. ออก 7 มาตรการช่วยเหลืออะไรบ้าง?
TeaC
16 กันยายน 2564 ( 15:04 )
186
ลูกหนี้น้ำท่วมเช็กเลย! ธอส. ออก 7 มาตรการช่วยเหลืออะไรบ้าง?

ลูกหนี้น้ำท่วมเช็กเลย! เว็บไซต์ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ออกประกาศ 7 มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2564 พักหนี้ ลดดอกเบี้ย ให้กู้ซ่อม/สร้าง และจ่ายสินไหม โดยสามารถยื่นคำขอกู้และทำนิติกรรม ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ 

 

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งปัจจุบันประชาชนได้รับความเดือดร้อนในหลายพื้นที่ ดังนั้น ใครที่กำลังมองหาช่องทางในการพักชำระหนี้ ลองมาทำความเข้าใจกับมาตรการที่ทาง ธอส. ได้ออกมาช่วยเหลือกันสักหน่อย จะได้เข้าใจว่าเราตรงกับเงื่อนไขในข้อไหน และขั้นตอนต้องทำอย่างไรบ้าง จะได้ดำเนินการได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว

 

 

เปิด 7 มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ประสบภัยน้ำท่วม

 

สำหรับ 7 มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2564 มีอะไรบ้าง? มาเช็กรายละเอียดดังนี้

 

มาตรการที่ 1 : ลดดอกเบี้ยเหลือ 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรก

 

สำหรับลูกค้าเดิมของ ธอส. กรณีหลักประกัน (ที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคาร) ของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัย หรือน้ำท่วม สามารถขอลดอัตราดอกเบี้ยและเงินงวดผ่อนชำระ

 

  • เดือนที่ 1-4 อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี
  • เดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 3.65% ต่อปี
  • เดือนที่ 17-24 อัตราดอกเบี้ย 4.15% ต่อปี
  • ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย 5.15% ต่อปี
  • ปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR -1.00% ต่อปี

 

กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR – 0.50% ต่อปี กรณีกู้เพื่อชำระหนี้หรือซื้ออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกฯ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส. อยู่ที่ 6.150% ต่อปี)

 

มาตรการที่ 2 : ให้กู้เพิ่มหรือกู้ใหม่อัตราดอกเบี้ย 3.00% ต่อปี คงที่ 1 ปีแรก

 

ลูกค้าใหม่ หรือลูกค้าเดิมของ ธอส. ที่หลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัย สามารถขอกู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคาร ที่ได้รับความเสียหาย

 

  • วงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 หลักประกัน คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 3.00% ต่อปี นาน 1 ปี
  • ปีที่ 2 – 3 อัตราดอกเบี้ย MRR – 3.15% ต่อปี (ปัจจุบันเท่ากับ 3.00% ต่อปี)
  • ปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR -1.00% ต่อปี

 

กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR – 0.50% ต่อปี พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียมในรายการที่เกี่ยวข้องให้ทั้งหมด ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการกู้ทุกกรณีหลังจากนิติกรรมแล้วในรายการที่เกี่ยวข้อง  

 

มาตรการที่ 3 : ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน และคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี 4 เดือน ไม่ต้องชำระเงินงวด

 

ลูกหนี้ NPL ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย ให้ลูกหนี้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรกโดยไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ให้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

 

มาตรการที่ 4 : ประนอมหนี้ไม่เกิน 1 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี

 

ลูกหนี้ NPL ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกหนี้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

 

มาตรการที่ 5 : กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรให้ผ่อนชำระดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี

 

ลูกหนี้ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือ

 

มาตรการที่ 6 : ที่อยู่อาศัยเสียหายทั้งหลังซ่อมแซมไม่ได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของอาคาร

 

กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น

 

มาตรการที่ 7 : พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย

 

พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ รวมถึงกรณีน้ำท่วม หรือ ลมพายุ พิจารณาจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าที่เป็นผู้ประสบภัยทุกรายอย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ โดยผู้เอาประกันยื่นเอกสารแจ้งความเสียหาย จ่ายตามความ เสียหายจริงตามภาพถ่าย รวมทุกภัยธรรมชาติไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี และสำหรับลูกค้าที่มีกรมธรรม์เริ่มความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติตามความเสียหายจริงจากหลักฐานภาพถ่าย แต่ไม่เกินภัยละ 30,000 บาทต่อปี

 

 

ต้องการได้รับความช่วยเหลือ ต้องทำอย่างไร?

 

ลูกค้าที่ประสงค์ขอรับบริการของ “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติธรรมชาติปี 2564” ตามมาตรการที่ 1-6 สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564

 

ส่วน มาตรการที่ 7 ติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

 

หากผู้ประสบภัยน้ำท่วมคนไหนมีข้อสงสัยก็สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

 

  • ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000
  • Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 
  • ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ

 

และติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ Application : GHB ALL และ www.ghbank.co.th

 

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง