รื้อระเบียบทรงผม ‘หัวเกรียน-ขาว 3 ด้าน’ หมดยุคที่ตำรวจไทยปลอมตัวได้แค่ ‘พระ’
กระแสข่าวยกเลิกทรงผมหัวเกรียน หรือ ขาวสามด้านของข้าราชการตำรวจ นับเป็นคลื่นความเปลี่ยนแปลงที่ได้กระแสตอบรับจากคนในสังคมเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่แค่เพียงกับกลุ่มข้าราชการตำรวจ แต่ประชาชนทั่วไปยังเห็นตรงกันว่าความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ถือเป็นแนวความคิดที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์โลกปัจจุบันมากที่สุด
โดยในวันที่ 17 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันสถานปนาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) มีความตั้งใจที่จะประกาศใช้ ระเบียบว่าด้วยการปฎิบัติตนของข้าราชการตำรวจเมื่อแต่งเครื่องแบบ ที่ถูก ‘ปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่’ ในเรื่องการอนุญาตไว้ทรงผม เพื่อมอบเป็นของขวัญ สร้างขวัญกำลังใจให้กับเหล่าข้าราชการตำรวจใต้บังคับบัญชา
ระเบียบที่เปลี่ยนไปเพื่อความปลอดภัยของตัวเจ้าหน้าที่
“จากนี้ทรงผมไม่ควรกลายเป็นเป้าของผู้ประสงค์ร้าย และผู้ที่ทำหน้าที่สืบสวนเช่นกัน การที่จะไว้ทรงผมลักษณะดังกล่าว เจ้าที่ชุดสืบฯถ้าจะปลอมตัวเป็นได้อย่างเดียวคือปลอมเป็นพระ ปลอมเป็นอย่างอื่นไม่ได้แล้ว” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าว
เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ได้กล่าวถึงประเด็นการปรับแก้ระเบียบปฏิบัติเรื่องทรงผมข้าราชการตำรวจเป็นทางการครั้งแรก หลังจากที่ในโซเชียล ได้แชร์ร่างระเบียบแก้ไขเรื่องทรงผมดังกล่าวมาตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม
โดยผบ.ตร. ระบุว่า สืบเนื่องจากนโยบายของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทุกท่านที่ให้ผู้บังคับบัญชาไปตรวจเยี่ยมผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อเป็นการส่งมอบขวัญและกำลังใจ
สิ่งที่ตนได้เก็บข้อมูลมาตั้งแต่เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คือความรู้สึก ความในใจและภาพสะท้อนจากตำรวจน้องๆหรือเด็กๆยิ่งเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
“ปัญหาหนึ่งที่เราได้รับฟังมาคือเรื่องทรงผมที่ทำตามระเบียบถูกต้องแต่กลับเป็นเป้าให้กับผู้ไม่หวังดี ฉะนั้นเมื่อมีโอกาสได้มารับตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจึงคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีแล้ว ที่ตร.จะได้ปรับเปลี่ยนเรื่องนี้ให้เหมาะสม” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าว
ผบ.ตร. ยังระบุว่า สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่สิ่งที่คิดแต่เพียงผู้เดียว แต่เป็นความคิดของหลายๆผู้บังคับบัญชาที่มองเห็นความสำคัญเช่นเดียวกัน
ระเบียบเก่าที่ถูกปรับใหม่ สิ่งใดเปลี่ยนไป ใครบ้างไม่ต้องหัวเกรียน
ในระเบียบทรงผมใหม่นี้ แบ่งกลุ่มเจ้าหน้าที่กับการปฏิบัติตามระเบียบทรงผมไว้ 3 กลุ่มคือ
กลุ่มที่ 1 เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และกลุ่มเจ้าหน้าที่ปฏบัติภารกิจสืบสวน(เจ้าหน้าที่ที่ต้องปลอมตัว) สามารถไว้ทรงผมให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ได้
กลุ่มที่ 2 เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่พิเศษ(ตำรวจทั่วไป) กลุ่มนี้มีระเบียบ การไว้ทรงผมคือ ผมด้านข้างความยาว1 เซนติเมตร ผมด้านบนความยาวไม่เกิน 5 เซนติเมตร
กลุ่มที่ 3 เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติภารกิจพิเศษในพื้นที่ และสถานการณ์พิเศษ ยึดตามระเบียบเดิม ด้านข้างขาวทั้ง 3 ด้าน ด้านบนความยาวไม่เกิน 3 เซนติเมตร
ส่วนการไว้ผมของข้าราชการตำรวจหญิงเมื่อแต่งเครื่องแบบ ยังคงไม่ปล่อยให้ผมยาวประบ่าหรือปรกบ่าจนปิดอินทรธนู หากไว้ผมยาวต้องขมวดปลายผมให้เรียบร้อย ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ในการขมวดปลายผม ให้ใช้สีดำเพียงสีเดียว หากจำเป็นจะต้องใช้อุปกรณ์ตกแต่งทรงผมประกอบ ก็ควรใช้กิ๊บหรือริบบิ้นขนาดเล็กสีดำเพียงสีเดียว
ทั้งนี้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวย้ำว่า ระเบียบนี้ไม่ได้ถือเป็นการยกเลิกระเบียบเดิมที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ยุคสมัยของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา แต่เป็นการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องตามสถานการณ์
ทีมข่าว TNN Online ชวนย้อนดู ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติตนของข้าราชการตำรวจเมื่อแต่งเครื่องแบบ พ.ศ. 2561 เป็นระเบียบที่นำมาซึ่งทรงผม ‘หัวเกรียน หรือ ขาว 3 ด้าน’ ลงนามในสมัย พล.ต.อ. จักรทิพย์ เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2561
โดยข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทรงผม ถูกบรรจุอยู่ในข้อ 4-8 รายละเอียดดังนี้
ข้อ 4 ข้าราชการตำรวจชายทุกคนเมื่อแต่งเครื่องแบบ ให้ตัดผมสั้น ด้านข้างขาวทั้ง 3 ด้าน ด้านบนความยาวไม่เกิน 3 เซนติเมตร
ข้อ 5 ข้าราชการตำรวจชายที่ปฏิบัติหน้าที่การสืบสวนหรือการข่าวหรือป้องกันปราบปรามยาเสพติดเมื่อ ไม่แต่งเครื่องแบบ ให้ไว้ผมรองทรงสูง
ข้อ 6 การไว้ผมของข้าราชการตำรวจหญิงเมื่อแต่งเครื่องแบบ ไม่ปล่อยให้ผมยาวประบ่าหรือปรกบ่าจนปิดอินทรธนู หากไว้ผมยาวต้องขมวด ปลายผมให้เรียบร้อย ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ในการขมวดปลายผม ให้ใช้สีดำเพียงสีเดียว
หากจำเป็นจะต้องใช้อุปกรณ์ตกแต่งทรงผมประกอบ ก็ควรให้ใช้กิ๊บหรือริบบิ้นขนาดเล็กสี ดำเพียงสีเดียว ห้ามไว้ผมเปีย ผมแกละ ผมทรงหางม้า ผมม้า(ผมปรกหน้า) หรือทรงผมอื่นที่ไม่เหมาะสม
ข้อ 7 ข้าราชการตำรวจทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่นายตำรวจราชองครักษ์ให้ปฏิบัติตามระเบียบนี้ และตาม แนวทางที่หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์กำหนด
ข้อ 8 ห้ามข้าราชการตำรวจทำสีผม หากจำเป็นต้องทำสีผม ให้ทำสีผมเป็นสีดำได้เพียงสีเดียว และห้าม ใช้ครีมแต่งผมหรือสารอื่นใดตกแต่งทรงผมให้มองดูแล้วเหมือนผมเปียก
ความเห็นที่แตกต่าง บนความจำเป็นและต้องการที่หลายหลายของผู้ใต้บังคับบัญชา
ทีมข่าว TNN Online มีโอกาสได้สอบถามนายตำรวจ ต่างระดับต่างตำแหน่งกันถึงระเบียบทรงผมที่จะได้รับการปรับปรุง
ด้านพันตำรวจเอกรายหนึ่ง ระบุว่า ทรงผมปัจจุบัน (ขาว 3 ด้าน) เป็นสิ่งที่เหมาะสมอยู่แล้ว เพราะนอกจากจะสะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ในอาชีพ เมื่อได้มองแล้วยังรู้สึกถึงความสะอาดสะอ้าน เป็นระเบียบเรียบร้อยไปในแนวทางเดียวกันหากมีประกาศอนุญาตผ่อนผันให้ไว้ผมยาวได้มากขึ้น ตนยังรู้สึกภูมิใจและยังเลือกที่จะไว้ทรงผมขาว 3 ด้านอยู่เช่นเดิม
ส่วนตัวมองว่าระเบียบที่ออกมาหากถามความชอบใจคิดว่าคงอยู่ในกลุ่มตำรวจใต้บังคับบัญชา เช่น ตำรวจนายสิบที่เป็นเด็กหนุ่มวัยรุ่นมากกว่าตำรวจระดับผู้บังคับบัญชาที่มีอายุแล้ว
ด้านตำรวจนายสิบ ให้ความเห็นว่าการอนุญาตผ่อนผันถือว่าเป็นความสะดวกในการปฎิบัติหน้าที่มากขึ้นเพราะต้องยอมรับว่า การแฝงตัวทำงาน หาข่าว หากเป็นทรงผมแบบเดิมประชาชนส่วนน้อยที่จะเชื่อว่าไม่ใช่ตำรวจ เพราะส่วนมากก็มองออกว่าเป็นตำรวจปลอมตัวมา
อีกด้านหนึ่งถ้ามองในมุมของความทันสมัยตนก็คิดว่าเหมาะสมเพราะตำรวจต่างประเทศก็สามารถไว้ทรงผมยาวได้โดยที่ยังทำหน้าที่ได้อย่าง ไม่บกพร่อง การอนุญาตครั้งนี้จึงถือเป็นมิติที่ดีที่จะทำให้เด็กๆอีกหลายคนมองอาชีพตำรวจว่าสามารถยืดหยุ่นได้
นอกจากนี้ทีมข่าวยังได้สำรวจความเห็นในสื่อโซเชียลต่างๆผ่านแท็ก เช่น ทรงผมตำรวจ,ยกเลิกทรงผมตำรวจ และ คืนทรงผมให้ตำรวจ ที่มองว่าการปรับเปลี่ยนในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการทำให้ตำรวจกลมกลืนกับสถานการณ์ปัจจุบันมีความง่ายต่อการทำงานแล้ว ยังถือว่าเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระเจ้าหน้าที่ ที่ปกติแล้วเงินเดือน แต่ละเดือนก็มีไม่มากและยังต้องเสียค่าตัดผมครั้งละ 80-100 บาท เดือนละหลายครั้งเนื่องจากผมยาวไว แต่จากนี้ต่อไปในหนึ่งเดือนพวกเขาก็จะสามารถตัดผมเพียงไม่กี่ครั้งได้ เป็นการลดค่าใช้จ่าย
แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กเพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่อยู่ภายนอกของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่หากมองในมุมที่ลึกลงไปการปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพ รูปลักษณ์ครั้งนี้ถือเป็นเครื่องสะท้อนของความใส่ใจที่ผู้บังคับบัญชารับฟังปัญหาจากผู้ใต้บังคับบัญชาโดยตรง
เพราะจุดประสงค์หลักที่ผบ.ตร. เน้นย้ำต่อสังคมให้มองเห็นประโยชน์และข้อดีของการเปลี่ยนทรงผมครั้งนี้ คือความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะต้องไม่ตกเป็นเป้าของผู้ไม่หวังดีอีกต่อไป
ภาพ : สำนักงานตำรวจแห่งชาติ