รีเซต

โควิด-19 : นศ.ต่างชาติคือหล่งรายได้ของมหาวิทยาลัยในโลกตะวันตกกระทั่งไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระบาด

โควิด-19 : นศ.ต่างชาติคือหล่งรายได้ของมหาวิทยาลัยในโลกตะวันตกกระทั่งไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระบาด
บีบีซี ไทย
25 พฤษภาคม 2563 ( 20:01 )
77
โควิด-19 : นศ.ต่างชาติคือหล่งรายได้ของมหาวิทยาลัยในโลกตะวันตกกระทั่งไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระบาด
Getty Images

ภาคธุรกิจไหนที่คุณคิดว่าได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มากที่สุด ? การก่อสร้าง การค้าปลีก การคมนาคม หรือร้านอาหาร

ไม่ใช่ที่ว่ามาเลย คุณต้องทำการบ้านมากกว่านี้เสียหน่อย เพราะคำตอบคือภาคการศึกษาต่างหาก

หลายคนไม่คิดด้วยซ้ำว่าการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ และเงินก็คือสิ่งที่หล่อเลี้ยงระบบการศึกษาให้คงอยู่ต่อไปได้

เงินจำนวนมหาศาลที่หมุนเวียนอยู่ในภาคการศึกษามีที่มาจากทั้งจากเงินบริจาคของสมาคมศิษย์เก่าที่มั่งคั่ง ค่ากิน ค่าเช่าหอพักของนักศึกษา ค่าเช่าสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน และที่มากที่สุดคือเงินค่าเล่าเรียนสูงลิบจากนักศึกษาต่างชาติ

เป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้วที่รูปแบบการทำธุรกิจด้านการศึกษา คือการนำคนหลายพันคนจากทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก มาเรียนร่วมกันเป็นเวลาสามปี ให้ได้สนทนาแลกเปลี่ยนกัน และนี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ภาคการศึกษาอยู่ในสภาพเปราะบางมากเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19

Getty Images
นักศึกษาจากต่างประเทศอาจต้องเสียค่าเรียนถึง 58,600 ปอนด์ หรือราว 2.2 ล้านบาท แทนที่จะเป็น 9,000 ปอนด์ หรือราว 3.5 แสนบาท ตามปกติ

นักเรียนที่กำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งต้องเดินทางกลับประเทศ และคอร์สเรียนจำนวนมากก็หันไปพึ่งระบบออนไลน์แทน หากมาตรการล็อกดาวน์ยังดำเนินต่อไป มหาวิทยาลัยอาจจะไม่สามารถรับนักเรียนใหม่เข้ามาเรียนในช่วงฤดูใบไม้ผลิได้ และการจะให้นักศึกษาเดินทางไปยังมหาวิทยาลัยก็เป็นเรื่องยากเข้าไปใหญ่

ห้องประชุมหรืออาคารที่มีอยู่ ก็จะไม่ได้ใช้เพื่อการเรียนการสอน ศิษย์เก่าที่ร่ำรวยก็อาจจะไม่ได้มีฐานะดีเหมือนแต่ก่อน และอาจจะไม่บริจาคเงินให้มหาวิทยาลัยอีก

มหาวิทยาลัยในโลกตะวันตกที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักได้รับผลกระทบหนักที่สุด มหาวิทยาลัยเหล่านี้คิดค่าเทอมแพงมากแม้กระทั่งกับนักเรียนในประเทศตัวเอง และยังทำเงินได้เพิ่มจากค่าอาหารและที่พัก

ส่วนนักศึกษาต่างชาติคือกลุ่มที่ต้องจ่ายแพงกว่า และนี่เองคือแหล่งรายได้หลักของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ยกตัวอย่างในสหราชอาณาจักร นักศึกษาจากต่างประเทศอาจต้องเสียค่าเรียนถึง 58,600 ปอนด์ หรือราว 2.2 ล้านบาท แทนที่จะเป็น 9,000 ปอนด์ หรือราว 3.5 แสนบาท ตามปกติ

ไซมอน มาร์จินสัน ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาขั้นสูงจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด บอกว่า การที่จำนวนชนชั้นกลางในประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้นถือเป็นเรื่องดีสำหรับมหาวิทยาลัยในชาติตะวันตก

เพราะครอบครัวชนชั้นกลางเหล่านั้นจะมีเงินพอจะส่งลูกไปเรียนเมืองนอก

และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด เหตุผลอย่างหนึ่งก็เพราะประเทศกำลังพัฒนามีระบบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยสู้ประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ได้ นอกจากจะมีปริญญาที่มีเกียรติกว่าแล้ว ลูกยังได้ภาษาที่สอง และมีเพื่อนใหม่ ๆ มากมาย ซึ่งพ่อแม่หลายคนมองว่าคุ้มเงินที่เสียไป

Getty Images
ออสเตรเลียพยายามจะดึงดูดนักศึกษาจากต่างประเทศมาตั้งแต่ช่วงปี 80 แล้ว

ประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับผลประโยชน์จากระบบนี้ได้แก่ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย

อย่างในสหรัฐฯ มีนักเรียนจีนเข้าเรียนในปีการศึกษาที่แล้วจำนวน 3.6 แสนคน รายได้จากนักศึกษาต่างชาติสร้างรายได้ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นมูลค่าราว 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี

ในออสเตรเลีย คาดกันว่านักศึกษาจากต่างชาตินำเงินเข้าประเทศกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ออสเตรเลียต่อปี

แอนดรูว์ นอร์ตัน ศาสตราจารย์ด้านนโยบายการศึกษาขั้นสูง มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ในกรุงแคนเบอร์รา บอกว่า ออสเตรเลียพยายามจะดึงดูดนักศึกษาจากประเทศเอเชียมาตั้งแต่ช่วงปี 80 แล้ว

เขาบอกว่าออสเตรเลียได้เปรียบเพราะอยู่ในเขตเวลาและมีสภาพอากาศดีใกล้เคียง นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่นักศึกษาต่างชาติจะอพยพไปตั้งถิ่นฐานที่นั่นได้

แต่รัฐบาลออสเตรเลียก็ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือธุรกิจภาคการศึกษามากนัก นายกรัฐมนตรีสก็อตต์ มอร์ริสัน ถึงกับแนะให้นักเรียนต่างชาติกลับบ้าน หากไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองในช่วงล็อกดาวน์ได้ ซึ่ง ศ.นอร์ตัน บอกว่าไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น

"หากนักเรียนไม่เริ่มเรียนในปีการศึกษาปีนี้ นั่นหมายความว่าพวกเขาก็จะไม่ได้มาที่นี่ไปอีกสามปี"

มหาวิทยาลัยดัง ๆ ในสหรัฐฯ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แม้ว่าจะมีเงินทุนมหาศาล นักศึกษาต่างชาติทั้งในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ก็ต่างเริ่มเรียกร้องของเงินค่าเรียนคืนแล้ว

วิเจ โกวินดาราจัน ศาสตราจารย์จากวิทยาลัยธุรกิจทัค วิทยาลัยดาร์ตมัธ ในสหรัฐฯ บอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่มหาวิทยาลัยจะกลับมาเปิดในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่จะถึงนี้ได้

"หากเลือกได้ นักเรียนต้องเลือกการเรียนการสอนแบบเห็นหน้ากันอยู่แล้ว การสื่อสารผ่านระบบออนไลน์ดูไม่มีเกียรติภูมิเท่า และก็ไม่ใช่แค่นายจ้างที่รู้สึกแบบนั้น สังคมโดยรวมก็[ต้องการเห็นหน้าเห็นตากันจริง ๆ] เหมือนกัน"

มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ประกาศว่าปีการศึกษาหน้าจะเป็นการเรียนการสอนแบบออนไลน์ทั้งหมด แต่ก็บอกว่าอาจเปลี่ยนแปลงตามคำแนะนำของรัฐบาล มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลกก็หันไปพึ่งวิธีเดียวกันนี้เพราะไม่มีทางเลือก และอย่างน้อยก็ทำให้ยังพอมีรายได้

สิ่งหนึ่งที่ไม่มีใครรู้เลยตอนนี้คือว่าจะมีมหาวิทยาลัยกี่แห่งที่สามารถรอดพ้นวิกฤตนี้ไปได้ การเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยเป็นรูปแบบธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาอย่างยาวนาน และผู้เรียนก็ได้ทั้งประโยชน์และเกียรติภูมิจากการศึกษาในรูปแบบนี้ด้วย

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง