เตือนข่าวปลอม อย่าเชื่อ วิธีกดเงินสดจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ออกจากตู้ ATM
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตรวจพบข่าวปลอมรายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “วิธีกดเงินสดจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ออกจากตู้ ATM ธนาคารกรุงไทย” รองลงมาคือเรื่อง “พื้นที่ในเขต กทม. ที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 2567” โดยขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นสร้างความสับสน เข้าใจผิด และส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม – 5 กันยายน 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 838,194 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 235 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 207 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 20 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 172 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 84 เรื่อง
.
ทั้งนี้ กระทรวง ดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 70 เรื่อง
กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 40 เรื่อง
กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 10 เรื่อง
กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 5 เรื่อง
กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 47 เรื่อง
เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าเป็นข่าวกลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความมั่นคง ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการของรัฐบาล อย่างโครงการ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” และ แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” รวมทั้งข่าวที่เกี่ยวข้องกับอุทกภัย น้ำท่วม มากถึง 6 อันดับ โดยเป็นข่าวที่มีผลกระทบต่อประชาชน ขณะที่ข่าวอื่นๆ เป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง วิธีกดเงินสดจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ออกจากตู้ ATM ธนาคารกรุงไทย
อันดับที่ 2 : เรื่อง พื้นที่ในเขต กทม. ที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 2567
อันดับที่ 3 : เรื่อง กินเม็ดมังคุดวันละ 1 กก. ช่วยรักษาอาการปวดเข่าได้
อันดับที่ 4 : เรื่อง เขื่อนประเทศจีนแตก ส่งผลน้ำทะลักเข้าท่วมประเทศไทย
อันดับที่ 5 : เรื่อง แถบสีท้ายหลอดยาสีฟัน บอกถึงส่วนประกอบที่ใช้ผลิต
อันดับที่ 6 : เรื่อง ดื่มน้ำเย็นเป็นสาเหตุทำให้ผู้หญิงอ้วนลงพุงได้
อันดับที่ 7 : เรื่อง ยืนยันตัวตนรับเงินดิจิทัลผ่านทางไลน์ฝ่ายทะเบียน ทางรัฐ
อันดับที่ 8 : เรื่อง อีกไม่เกิน 8 ปี กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีโอกาสจมทะเลได้ น้ำทะเลหนุนสูงขึ้น พื้นดินทรุดตัวลง
อันดับที่ 9 : เรื่อง โรงเรียนแห่งหนึ่งในประเทศไทย ให้นักเรียนเข้าแถวร้องเพลงชาติเมียนมาทุกเช้า
อันดับที่ 10 : เรื่อง เตือนภัยประชาชนเตรียมรับมือมวลน้ำที่จะไหลลงสู่พื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักตอนบน จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื่องจากมีฝนตกหนักนานต่อเนื่อง
เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับข้างต้น พบว่า เป็นข่าวเกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐ และหน่วยงานของรัฐ มากถึง 6 อันดับ โดยเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับโครงการ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” และแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” 2 อันดับ และข่าวแจ้งเตือนภัยน้ำท่วม อุทกภัย ถึง 4 อันดับ ซึ่งทั้งหมดมีผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง อาจเกิดความเสียหาย ความตื่นตระหนกให้กับประชาชนเป็นวงกว้าง หากมีการแชร์ส่งต่อกันไปในสังคม”
สำหรับอันดับ 1 เรื่อง “วิธีกดเงินสดจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ออกจากตู้ ATM ธนาคารกรุงไทย” เป็นข้อมูลเท็จ โดยกระทรวงดีอี ได้ประสานงานกับ ธนาคารกรุงไทย ตรวจสอบและชี้แจงข้อมูลจริงว่า ข้อมูลที่มีการเผยแพร่เป็นข่าวเก่า เนื่องจากได้มีการเปลี่ยนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปเป็นการใช้บัตรประชาชนแทน การกดถอนเงินสดจึงต้องใช้บัตร ATM ของธนาคารที่ผูกพร้อมเพย์กับเลขบัตรประชาชนในการถอนเงิน
ด้านข่าวปลอม อันดับ 2 “พื้นที่ในเขต กทม. ที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 2567” พบว่าเป็น ข้อมูลเท็จ โดยกระทรวงดีอี ได้ประสานงานร่วมกับ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สำนักนายกรัฐมนตรี ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง และเป็นการสร้างข้อมูลที่ทำให้เกิดความแตกตื่น ซึ่งถูกนำมาเผยแพร่อีกครั้งในช่วงนี้ซึ่งเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขึ้นในหลายพื้นที่ จึงขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำจากข่าวสารข้อมูลภาครัฐและตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและน่าเชื่อถือเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด
ภาพจาก AFP