รีเซต

วิกฤตการณ์ผู้สูงอายุล้นประเทศ เมือง-ธุรกิจ-รัฐ ต้องตั้งรับอย่างไรเพื่อให้เห็นทางรอด

วิกฤตการณ์ผู้สูงอายุล้นประเทศ เมือง-ธุรกิจ-รัฐ ต้องตั้งรับอย่างไรเพื่อให้เห็นทางรอด
TNN ช่อง16
5 กุมภาพันธ์ 2567 ( 22:26 )
91

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้คาดการณ์ว่าโครงสร้างประชากรไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงคือ มีวัยทำงาน (15-59 ปี) ร้อยละ 55.1 วัยเด็ก (แรกเกิด- 14 ปี) ร้อยละ 12.8 และ มีผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) สูงถึงร้อยละ 32.1 


เนื่องจากการมีอัตราการเกิดที่น้อยลง ประกอบกับการพัฒนาทางการแพทย์ที่เติบโตขึ้นทำให้ประชากรมีอายุยืนยาว


ในขณะที่จำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น แต่การวิจัยกลับพบว่าคุณภาพการใช้ชีวิตของผู้สูงวัยมีความเปราะบาง โดยแบ่งรูปแบบการอยู่อาศัยได้ 5 รูปแบบ 

1. ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียว 

2. ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่กับคู่สมรส 

3. ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่กับพ่อ/แม่และคู่สมรส 

4. ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนข้ามรุ่น 

5. ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่กับคนอื่น ๆ ซึ่งไม่ใช่ญาติ


คำนิยามเกี่ยวกับ ‘ผู้สูงอายุ’


สหประชาชาติ (United Nations : UN) ให้ความหมายคำว่าผู้สูงอายุ คือ ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ใช้เกณฑ์อายุ 65 ปีขึ้นไป แต่สำหรับประเทศไทยตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 3 ระบุว่า ผู้สูงอายุ หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุเกิน60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป 


สังคมผู้สูงอายุ (Aged society) หมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ10 ของประชากรทั้งหมด (หรือประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 7)

สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Complete-aged society) หมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุ60 ปี ขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด (หรือประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 14)

สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged society) หมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด (หรือประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20)


สำหรับประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 แล้ว 



เมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน


ทีมข่าว TNN Online มีโอกาสได้พูดคุยกับ นายภาณุมาศ สุขอัมพร หรือพี่นก 1 ในที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ถึงทิศทางการบริหารเมืองหลวงในวันที่รูปแบบชีวิตคนกำลังจะเปลี่ยนไป


พี่นก กล่าวว่า ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าวิทยาการทางการแพทย์ของเราเจริญก้าวหน้า หลายสิ่งสะดวกขึ้น คนมีอายุยืนมากขึ้นแต่เกิดน้อยลง ทำให้เราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งไม่ใช่แค่ที่ประเทศไทยแต่ในโลกใบนี้มีผู้สูงอายุมากขึ้นทั้งหมด 


“เด็กรุ่นใหม่ๆที่เกิดมาต้องแบกรับภาระการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น ลูกหลานต้องรับภาระหนัก โจทย์ผู้บริหารกรุงเทพฯคือเราจะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุยังอยู่ได้ และลูกหลานมีภาระน้อยลง”พี่นก กล่าว


ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆในเมืองถือว่าเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทางผู้บริหารกรุงเทพมหานครชุดนี้ เร่งปรับปรุงทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของคน แม้แต่เรื่องทางเท้าที่ต้องทำใหม่ให้มีความอารยสถาปัตย์ หรือ Universal Design เรื่องนี้แม้จะดูเป็นเรื่องเล็กแต่มีผลต่อชีวิตคนแบบวันต่อวัน 


“เรื่องเล็กถ้าไม่สำเร็จเรื่องใหญ่ก็คงไม่ต้องพูดถึงกัน”


พี่นกกล่าวต่อว่าการที่กทม. เร่งทำทุกอย่างเพื่อรองรับคนทุกกลุ่มเพราะมีความคิดตั้งต้นว่า ในอนาคตทุกคน ทุกครอบครัวก็ต้องมีคนแก่เราทำวันนี้ก็เพื่อครอบครัวเราตัวเรา การที่เราทำให้คนสูงอายุ คนพิการสะดวกได้คนทั่วไปย่อมได้รับผลจากความสะดวกนั้นไปตามธรรมชาติ


แต่ทั้งนี้เราต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเวลาคนเราชินอะไรเราก็จะทำตามที่เราสะดวก เราจะต้องตั้งต้นว่า อาคารนี้ พื้นที่นี้จะต้องมีผู้พิการหรือผู้สูงอายุมาใช้ การทำทางลาดร่วมกับบันได้แม้แต่คนปกติเองก็ยังสามารถใช้เข็นของด้วยได้


มีคำหนึ่งที่ผู้ว่าฯจะพูดเสมอเป็นแกนหลัก เป็นหัวใจของนโยบายคือ ความเข้าอกเข้าใจ เห็นอกเห็นใจซึ่งกัน I feel how you feel หมายความว่าฉันรู้สึกว่าคุณรู้สึกอย่างไร ซึ่งคตินี้สามารถแก้ปัญหาได้ทุกเรื่องเพราะฉันไม่ได้แค่ัรับรู้ความลำบาก แต่ฉันเข้าใจความลำบากนั้น


“ในกรุงเทพฯมีผู้สูงอายุ 80,000 ถึง 1 แสนคนต่อปี เมืองต้องไม่พิการ ทุกอย่างต้องสะดวก ทุกคนได้ออกมาใช้ชีวิต ออกมาทำงาน” พี่นกกล่าวทิ้งท้าย



ภาคธุรกิจในห้วงโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป


นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าความต้องการของผู้สูงอายุที่น่าสนใจมี 3 ส่วน ได้แก่

1) ความต้องการปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ประกอบด้วยปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่มห่ม ยารักษาโรค 

2) ความต้องการความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิต โดยเฉพาะความมั่นคงและปลอดภัยทางการเงิน เพื่อสร้างหลักประกันที่จะสามารถเก็บเงินไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและเหตุฉุกเฉินต่างๆ 

3) ความต้องการสุขภาพกายและใจที่ดี โดยเฉพาะการเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่จำเป็น การทำกิจกรรมต่างๆ ที่มีผลต่อความแข็งแรงและเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ


ข้อมูลการจัดตั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของสังคมผู้สูงอายุ

ปี 2564 จัดตั้ง 10,676 ราย ทุน 38,431 ล้านบาท 

ปี 2565 จัดตั้ง 13,915 ราย ทุน 50,153 ล้านบาท 

ปี 2566 จัดตั้ง 16,913 ราย ทุน 53,276 ล้านบาท 


ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 140,923 ราย มีมูลค่าทุน 3,501,834.40 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร 55,668 ราย


ข้อมูลการจัดตั้งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงและความปลอดภัยของกลุ่มผู้สูงอายุ

ปี 2564 จัดตั้ง 241 ราย ทุน 746 ล้านบาท 

ปี 2565 จัดตั้ง 274 ราย ทุน 811 ล้านบาท 

ปี 2566 จัดตั้ง 309 ราย ทุน 6,633 ล้านบาท


ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,142 ราย มีมูลค่าทุน 253,994.65 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร 2,098 ราย 


ข้อมูลการจัดตั้งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพกายและใจของกลุ่มผู้สูงอายุในช่วง 

ปี 2564 จัดตั้ง 2,318 ราย ทุน 6,604 ล้านบาท 

ปี 2565 จัดตั้ง 3,338 ราย ทุน 6,510 ล้านบาท 

ปี 2566 จัดตั้ง 4,588 ราย ทุน 9,665 ล้านบาท


ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 32,459 ราย มีมูลค่าทุน 717,665.26 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร 11,010 ราย 


การรับมือของภาครัฐในวันที่สังคมเปลี่ยนไป


สำหรับประเทศไทยได้เตรียมการเพื่อรองรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยประกาศใช้ พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ได้กำหนดให้สังคมผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ มีแนวทางในการขับเคลื่อน 10 ประเด็นเร่งด่วน 


1. การสร้างระบบคุ้มครองและสวัสดิการผู้สูงอายุ

2. การทำงานและการสร้างรายได้สำหรับผู้สูงอายุ

3. ระบบสุขภาพเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ต้องพัฒนาระบบบริการสุขภาพแบบไร้รอยต่อในทุกระดับ

4. ปรับสภาพแวดล้อมชุมชน และบ้านให้ปลอดภัยกับผู้สูงอายุ

5. ธนาคารเวลา (สังคมไม่ทอดทิ้งกัน) โดยที่ผู้สูงอายุในชุมชนต้องได้รับการดูแล และประชาชนทุกวัยเรียนรู้และมีส่วนร่วมในการดูแลผู้สูงอายุ

6. การสร้างความรอบรู้ให้คนรุ่นใหม่เตรียมความพร้อมในทุกมิติ

7. กำหนดให้สังคมผู้สูงอายุเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ

8. การปรับเปลี่ยนกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ ข้อบังคับให้เอื้อต่อการทำงานด้านผู้สูงอายุ

9. ปฏิรูประบบข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีฐานข้อมูลรายบุคคลของผู้สูงอายุ

10. พลิกโฉมนวัตกรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมผู้สูงอายุ


วันที่เราเป็นผู้สูงวัย


ปฎิเสธไม่ได้ว่าคนเราต้องใช้เงินตั้งแต่เกิดยันเสียชีวิต อีกหนึ่งอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้ผู้สูงอายุในประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ยังไม่ดีพออาจเป็นเรื่องของ ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ ที่รัฐบาลจ่ายให้ตามเกณฑ์อายุคือ 600 – 1,000 บาทต่อเดือน ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้เบี้ยดังกล่าวแทบไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายเพื่อการยังชีพด้วยซ้ำ 


ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่เราจะต้องข้ามขั้นตอนการวางแผนรับมือ แต่ต้องเริ่มเอาจริงเอาจังกับการดูแลสังคมที่เต็มไปด้วยผู้สูงวัย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง