รีเซต

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หวังว่าจะส่งดาวเทียม "โฮป" ไปดาวอังคารได้ในเร็ววัน หลังเลื่อนมา 2 ครั้ง

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หวังว่าจะส่งดาวเทียม "โฮป" ไปดาวอังคารได้ในเร็ววัน หลังเลื่อนมา 2 ครั้ง
ข่าวสด
16 กรกฎาคม 2563 ( 12:23 )
190
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หวังว่าจะส่งดาวเทียม "โฮป" ไปดาวอังคารได้ในเร็ววัน หลังเลื่อนมา 2 ครั้ง

 

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หวังว่าจะส่งดาวเทียม "โฮป" ไปดาวอังคารได้ในเร็ววัน หลังเลื่อนมา 2 ครั้ง - BBCไทย

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หวังว่าจะสามารถปล่อยจรวดส่งดาวเทียมขึ้นไปยังดาวอังคารได้ในเดือนนี้ หลังจากเลื่อนมาแล้ว 2 ครั้ง เนื่องจากสภาพอากาศที่เลวร้าย

"โฮป" (Hope) คือชื่อของดาวเทียมซึ่งมีน้ำหนัก 1.3 ตัน และมีกำหนดจะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวด เอช-2เอ จากฐานปล่อยจรวดทาเนกาชิมะของญี่ปุ่นช่วงเช้าวันที่ 15 ก.ค. ตามเวลาท้องถิ่น แต่เนื่องด้วยสภาพอากาศที่เลวร้าย ทำให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ต้องเลื่อนการส่งดาวเทียมออกไป โดยหวังว่าจะขึ้นได้ภายได้เดือนนี้

หากเป็นไปตามกำหนดเดิม คาดว่าดาวเทียมดวงนี้จะเดินทางครอบคลุมระยะทางราว 500 ล้านกิโลเมตรไปถึงดาวอังคารในเดือน ก.พ. 2021 ทันเวลาครบรอบ 50 ปี การสถาปนาสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

โฮปเป็นหนึ่งในสามภารกิจของการเดินทางสู่ดาวอังคารในเดือนนี้ โดยขณะนี้สหรัฐฯ และจีน ต่างก็กำลังเตรียมยานอยู่ในขั้นตอนสุดท้าย

BBC

ทำไมยูเออีถึงจะไปดาวอังคาร

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีประสบการณ์ไม่มากด้านการออกแบบและผลิตยานอวกาศ แต่ก็ยังพยายามที่จะลองทำในสิ่งที่มีเพียง สหรัฐฯ, รัสเซีย, ยุโรป และอินเดีย ทำได้สำเร็จ วิศวกรของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐฯ ได้ผลิตดาวเทียมที่ซับซ้อนได้สำเร็จในเวลาเพียง 6 ปี และเมื่อดาวเทียมนี้เดินทางไปถึงดาวอังคาร คาดว่ามันจะส่งข้อมูลใหม่ทางวิทยาศาสตร์กลับมา เผยให้เห็นรายละเอียดของการทำงานของชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร

นักวิทยาศาสตร์คิดว่า มันอาจช่วยทำให้เราเข้าใจได้ดีขึ้นว่า ดาวอังคารสูญเสียอากาศและน้ำจำนวนมากไปได้อย่างไร

ดาวเทียมโฮป เปรียบเหมือนเป็นยานแห่งแรงบันดาลใจ ที่จะช่วยดึงดูดให้คนหนุ่มสาวในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และทั่วภูมิภาคอาหรับหันมาสนใจวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนและในการศึกษาระดับสูงขึ้น

ดาวเทียมนี้เป็นหนึ่งในโครงการที่รัฐบาลยูเออีบอกว่า แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของยูเออีที่จะลดการพึ่งพาน้ำมันและแก๊ส โดยหันไปให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจที่ต้องใช้วิทยาการแทน

แต่การเดินทางไปดาวอังคารมีความเสี่ยงสูง ครึ่งหนึ่งของภารกิจที่ถูกส่งไปดาวอังคารล้มเหลว ออมราน ชาริฟ ผู้อำนวยการโครงการโฮป ตระหนักถึงอันตรายเหล่านี้ แต่ยืนกรานว่า การลองทำคือสิ่งที่ถูกต้อง

"นี่คือภารกิจด้านการวิจัยและพัฒนา ใช่ มันอาจจะล้มเหลว" เขากล่าวกับ บีบีซี นิวส์

เขาระบุว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ ขีดความสามารถและความรู้ที่ยูเออีจะได้จากภารกิจนี้

MBRSC
ดาวเทียมโฮป ใช้เวลา 6 ปี ในการพัฒนา

ยูเออีสร้างโครงการนี้ขึ้นมาอย่างไร

รัฐบาลยูเออีบอกกับคณะทำงานโครงการนี้ว่า ยูเออีไม่สามารถซื้อยานอวกาศมาจากบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ได้ ยูเออีต้องสร้างดาวเทียมเอง ทำให้ต้องร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งของสหรัฐฯ ที่มีประสบการณ์ด้านนี้

วิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ของทั้งสองชาติ ทำงานร่วมกันในการออกแบบและสร้างระบบของดาวเทียมดวงนี้ และอุปกรณ์ศึกษาดาวอังคารที่นำไปอีก 3 ชิ้น

การสร้างดาวเทียมดวงนี้ ใช้ทั้งห้องปฏิบัติการด้านฟิสิกส์อวกาศและบรรยากาศ (Atmospheric and Space Physics--LASP) ที่มหาวิทยาลัยโคโรลาโด เมืองโบลเดอร์ และศูนย์อวกาศโมฮัมเหม็ดบินราชิด (Mohammed Bin Rashid Space Centre--MBRSC) ในนครดูไบ

เบร็ต แลนดิน วิศวกรระบบอาวุโสของ LASP เชื่อว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์พร้อมแล้วที่จะทำภารกิจใหม่ด้วยตัวเอง หลังจากมีประสบการณ์ตรงในการสร้างดาวเทียมดวงนี้

ESA/DLR/FU Berlin
ลักษณะพื้นผิวของดาวอังคารบ่งชี้ว่า เคยมีน้ำมหาศาลไหลผ่าน

โฮป จะทำภารกิจทางวิทยาศาสตร์อะไรบ้างที่ดาวอังคาร

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไม่ต้องการทำภารกิจทางวิทยาศาสตร์แบบเดียวกับที่ชาติอื่นทำไปแล้ว พวกเขาจึงไปถามคณะกรรมการที่ปรึกษาของนาซา ที่ชื่อว่า กลุ่มวิเคราะห์โครงการสำรวจดาวอังคาร (Mars Exploration Program Analysis Group--MEPAG) ว่ามีการวิจัยใดบ้างที่ดาวเทียมของยูเออีสามารถทำได้ และจะเป็นประโยชน์เพิ่มเติมจากความรู้เดิมที่มีอยู่แล้ว

คำแนะนำของ MEPAG ได้ช่วยจำกัดกรอบเป้าหมายของโฮป ภารกิจหนึ่งที่ดาวเทียมดวงนี้จะศึกษาคือ พลังงานเคลื่อนย้ายผ่านชั้นบรรยากาศจากชั้นบนลงมาชั้นล่างได้อย่างไร โดยจะศึกษาตลอดทั้งวัน และตลอดทุกฤดูของปี

มันจะแกะรอยฝุ่นที่ลอยอยู่ในอากาศ ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่ออุณหภูมิในชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร

นอกจากนี้ก็จะดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับอะตอมที่เป็นกลางของไฮโดรเจนและออกซิเจนที่บริเวณจุดสูงสุดของชั้นบรรยากาศด้วย มีการตั้งข้อสงสัยว่าอะตอมเหล่านี้ มีบทบาทสำคัญต่อการกัดเซาะชั้นบรรยากาศของดาวอังคารจากอนุภาคที่ทรงพลังที่ออกมาจากดวงอาทิตย์

เรื่องนี้จะทำให้มีความเข้าใจว่า เหตุใดน้ำส่วนใหญ่บนดาวเคราะห์ดวงนี้จึงเหือดแห้งไปจากเดิมที่เคยมีอยู่

ในการสังเกตการณ์เพื่อเก็บข้อมูลต่าง ๆ ดาวเทียมโฮปจะต้องโคจรรอบดาวอังคารในแนวเส้นศูนย์สูตร ในระยะห่างจากดาวอังคารประมาณ 22,000 กิโลเมตรถึง 44,000 กิโลเมตร

เดวิด เบรน จาก LASP ซึ่งเป็นผู้นำคณะนักวิทยาศาสตร์ในโครงการดาวเทียมโฮป อธิบายว่า "การที่ต้องการเห็นพื้นผิวดาวอังคารอย่างละเอียดในทุกช่วงเวลาของวัน ทำให้วงโคจรต้องใหญ่และเป็นรูปไข่"

เขาบอกว่า การตัดสินใจทำเช่นนั้น จะทำให้ดาวเทียมดวงนี้ไปลอยอยู่เหนือภูเขาไฟโอลิมปัสมอนส์ (Olympus Mons) ภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยจักรวาล ในขณะที่ภูเขาไฟลูกนี้กำลังเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาที่แตกต่างกันของวัน นอกจากนี้ก็จะมีบางช่วงที่จะให้ดาวอังคารหมุนวนอยู่ใต้ดาวเทียมดวงนี้ด้วย ซึ่งจะได้ภาพเต็มของดาวอังคาร

MBRSC
ซาราห์ อัล อามิรี

มีรัฐมนตรีหญิงเป็นแกนนำ

ผู้นำด้านวิทยาศาสตร์อีกคนในโครงการส่งดาวเทียมโฮปคือ ซาราห์ อัล อามิรี รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ขั้นสูงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

เธอเข้ามาร่วมงานครั้งแรกกับ MBRSC ในฐานะวิศวกรซอฟต์แวร์ นอกจากซาราห์แล้ว ยังมีผู้หญิงจำนวนมากได้ร่วมงานในภารกิจนี้ โดย 34% ของชาวเอมิเรตส์ที่ทำงานในโครงการโฮปคือผู้หญิง ซาราห์บอกว่าที่สำคัญกว่านั้นคือ มีสัดส่วนจำนวนผู้หญิงเท่ากับผู้ชายในระดับผู้นำภารกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง