รีเซต

'พิพัฒน์' ยัน ต้องเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน ไว้ใช้ซื้อประกันเยียวยา นทท.ในไทย-พัฒนาการท่องเที่ยว ไม่เบียดบังเงินภาษี

'พิพัฒน์' ยัน ต้องเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน ไว้ใช้ซื้อประกันเยียวยา นทท.ในไทย-พัฒนาการท่องเที่ยว ไม่เบียดบังเงินภาษี
มติชน
22 กุมภาพันธ์ 2565 ( 10:44 )
80
'พิพัฒน์' ยัน ต้องเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน ไว้ใช้ซื้อประกันเยียวยา นทท.ในไทย-พัฒนาการท่องเที่ยว ไม่เบียดบังเงินภาษี

เมื่อเวลา 09.15 น. วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า จากกรณีที่ฝ่ายค้านได้กล่าวพาดพิงตนในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ เมื่อวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในเรื่องการเรียกเก็บค่าเหยียบแผ่นดินจากชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย คนละ 300 บาทนั้น กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยืนยันว่าต้องเรียกเก็บอย่างแน่นอน แม้จะไม่ใช่เป็นสิ่งที่เริ่มจากทางกระทรวงฯ ในยุคของตน แต่เป็นมติที่ออกมาก่อนหน้านี้

 

ทั้งนี้ เงินที่ได้จากการเรียกเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน เราจะนำไปซื้อประกันให้กับชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทย ส่วนเงินที่เหลือ เรานำไปจัดเก็บเข้ากองทุนพัฒนาการท่องเที่ยว ซึ่งมีปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เป็นประธานกองทุน และมีผู้แทนจากอีก 10 หน่วยงานซึ่งรวมถึงกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จึงขอยืนยันว่าเรามีการใช้จ่ายได้เงินที่ได้มาดังกล่าวอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพราะสามารถตรวจสอบได้

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงที่มาของการเรียกเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน นายพิพัฒน์ กล่าวว่า มาจากกรณีที่เกิดเหตุระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณเมื่อปี 2558 ซึ่งมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้รับบาดเจ็บด้วย ขณะที่สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณมาให้สำหรับการเยียวยาชาวต่างชาติในส่วนนั้น ต่อมาเกิดเหตุการณ์เรือล่มที่จ.ภูเก็ต ซึ่งเราได้รับงบประมาณจากส่วนกลาง ไปเพื่อทำการสนับสนุน แต่เมื่อปี 2562 สำนักงบประมาณได้แจ้งมาทางกระทรวงฯ ว่าจะไม่จัดงบประมาณสำหรับการเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาให้ทางกระทรวงฯแล้ว ทำให้ทางกระทรวงฯ ต้องหาวิธีจัดเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเป็นกองทุนเพื่อการเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในไทย จึงมีการนำเสนอเรื่องการเรียกเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน เข้าสู่ที่ประชุมครม.เมื่อปี 2562

รมว.การท่องเที่ยวฯ กล่าวว่า ทั้งนี้หลายคนอาจไม่รู้ว่าตั้งแต่ปี 2559-2561 กระทรวงสาธารณสุขต้องใช้งบประมาณปีละประมาณ 300 กว่าล้านบาท ไปชำระค่ารักษาพยาบาลให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แต่ถ้าเรามีเงินกองทุนตรงนี้ให้ไปซื้อประกันแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จะทำให้ไม่ต้องไปรบกวนเงินภาษีที่เก็บจากประชาชนคนไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง