รีเซต

เตือน! กิมจิปนเปื้อนโนโรไวรัส ทำป่วยอาหารเป็นพิษ

เตือน! กิมจิปนเปื้อนโนโรไวรัส ทำป่วยอาหารเป็นพิษ
TNN ช่อง16
12 กรกฎาคม 2567 ( 11:03 )
32
เตือน! กิมจิปนเปื้อนโนโรไวรัส ทำป่วยอาหารเป็นพิษ

ข้อมูลจากสำนักข่าว KBS NEWS ของเกาหลีใต้ รายงานพบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากการรับประทานกิมจิพุ่งสูงถึง 1,024 ราย ในเมืองนัมวอน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา มัธยมต้น และมัธยมปลาย รวม 24 แห่ง ผู้ป่วยมีอาการอาเจียน ท้องเสีย และปวดท้อง สาเหตุเกิดจาก  การติดเชื้อ "โนโรไวรัส" จากการรับประทาน "กิมจิ" ที่มีเชื้อปนเปื้อน จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังการรับประทานอาหารหมัก ดอง ที่ไม่ผ่านการปรุงด้วยความร้อน พร้อมแนะนำให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” ป้องกันอาหารเป็นพิษ


กรมควบคุมโรค รายงานผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจำนวนมากในเกาหลีใต้ ผู้ป่วยรายแรกเริ่มมีอาการเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 67  ต่อมาวันที่ 6 ก.ค. 67 พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วรวม 1,024 ราย และตรวจพบเชื้อโนโรไวรัสในผู้ป่วย และกิมจิ ซึ่งรับประทานในโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน เชื้อนี้แพร่กระจายได้ง่าย เข้าสู่ร่างกายผ่านการรับประทานอาหาร น้ำ น้ำแข็งที่ปนเปื้อนเชื้อ นอกจากนี้ สามารถติดต่อผ่านการสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อ หรือจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อ มักพบการระบาดในช่วงอากาศเย็น สามารถป่วยได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หลังได้รับเชื้อผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสีย อาจมีไข้ อาเจียน ปวดท้อง เวียนศีรษะ ร่วมด้วย ผู้ที่มีอาการท้องเสียรุนแรงอาจเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ประเทศไทยมีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีรายงานอาหารเป็นพิษจากเชื้อโนโรไวรัสแบบกลุ่มก้อน ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก แต่ควรระมัดระวังการรับประทานอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงด้วยความร้อน ควรเลือกซื้ออาหารจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ มีเครื่องหมายรับรองคุณภาพ บรรจุภัณฑ์ปิดสนิท รูป รส กลิ่น สี ไม่ผิดไปจากเดิม


นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า หากมีอาการท้องเสีย อาเจียน การปฐมพยาบาลเบื้องต้นทำได้ด้วยการดื่มน้ำเกลือแร่ (ORS) โดยจิบทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง เพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไปจากการถ่ายอุจจาระและอาเจียน เด็กที่ดื่มนมแม่สามารถให้เด็กดื่มนมแม่ต่อได้ หากเด็กดื่มนมผงให้ชงเจือจางลงจากเดิมและให้ดื่มนมสลับกับการดื่มน้ำเกลือแร่ ในระยะนี้ให้รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ซุป ไม่แนะนำให้กินยาหยุดถ่าย หรือยาปฏิชีวนะ หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปสถานพยาบาล ควรเลือกซื้ออาหาร โดยคำนึงถึงความปลอดภัย อาหารที่เลือกซื้อต้องปราศจากเชื้อโรค เวลาเลือกซื้อต้องดูถึงความสะอาด ตรวจสอบอาหาร และวันเดือนปีที่ผลิตทุกครั้ง มีบรรจุภัณฑ์ที่สมบูรณ์ และแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือได้ด้วยหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง