เมื่อไหร่ต่างชาติจะกลับมาซื้อหุ้นไทย
TNN Wealth
19 พฤษภาคม 2564 ( 12:45 )
81
ข่าววันนี้ นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด โพสต์ในเฟซบุ๊ก ว่า คนที่อยู่ในแวดวงการลงทุนจะทราบดีว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติทยอยขายหุ้นไทยมาโดยตลอด ถ้าดูจากสถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2554 จะพบว่าต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิไปแล้วกว่า 900,000 ล้านบาท และขายต่อเนื่องทุกปี ยกเว้นในปี 2555 และ 2559
แม้กระทั่งในปีนี้ ที่หลายคนคาดว่าน่าจะได้เห็นการกลับมาของเม็ดเงินต่างชาติ จากเหตุผลที่ตลาดหุ้นไทยมีหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจจำนวนมาก ซี่งหุ้นเหล่านี้จะได้รับประโยชน์จากการเริ่มเปิดประเทศทั่วโลก และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ต่างชาติก็ยังขายหุ้นไทยสุทธิออกไปอีกกว่า 50,000 ล้านบาท นับจากต้นปี
แน่นอน การดูแค่มูลค่าซื้อขายสุทธิไม่อาจบอกได้ถึงสถานะที่แท้จริงของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การซื้อขายแบบเก็งกำไรรายวันโดยใช้โปรแกรม Algorithmic Trading คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 60-70% ของธุรกรรมของต่างชาติ แปลง่ายๆ ว่า ตัวเลขขายสุทธิส่วนใหญ่อาจเกิดจากการซื้อขายของกองทุนเหล่านี้
ข้อมูลที่สะท้อนสถานะของนักลงทุนต่างชาติได้ดีกว่าคือ “มูลค่าหุ้นที่ถือครองโดยต่างชาติ” ล่าสุด ตัวเลขนี้อยู่ที่ 4.71 ล้านล้านบาท ซึ่งแทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากยอด 4.66 ล้านล้านบาทเมื่อปี 2556 (ที่เทียบกับปี 2556 เพราะ SET Index ในปีนั้นอยู่ใกล้เคียงกับระดับปัจจุบัน) แสดงว่าต่างชาติไม่ได้ลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นเลยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา
จึงไม่น่าแปลกใจที่สัดส่วนการถือครองหุ้นไทยของต่างชาติ หรือ Foreign Ownership ลดลงมาโดยตลอด จากระดับสูงสุดในปี 2555 ที่ 36.8% ของมูลค่ารวมตลาดหุ้นไทย เหลือเพียง 26.7% ในปัจจุบัน
หลายคนคงอยากทราบว่า เกิดอะไรขึ้นกับตลาดหุ้นไทย
ผมมองว่าสาเหตุหลักเกิดจาก 3 ปัจจัย คือ
หนึ่ง ประเทศไทยขาดความน่าสนใจในระดับมหภาค ทั้งจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจ และปัญหาโครงสร้างประชากรที่จำนวนคนในวัยทำงานลดลงเรื่อย ๆ ทั้งหมดนี้ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
สอง ตลาดหุ้นไทยขาดหุ้น New Economy เช่น หุ้นเทคโนโลยี หุ้น Unicorn ถึงแม้เรามีหุ้นใหม่เข้าตลาดอย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่เป็นกิจการประเภท Old Economy ที่ต่างชาติไม่ค่อยสนใจ ซึ่งสะท้อนได้จากระดับการถือครองหุ้น IPO โดยนักลงทุนต่างชาติ เฉลี่ยเพียง 7% ในระยะ 10 ปีท่ผ่านมา
สาม น้ำหนักตลาดหุ้นไทยใน Benchmark ที่นักลงทุนต่างชาติใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงในการลงทน ถูกปรับลดลงมาโดยตลอด เช่น MSCI AC Asia ex. Japan Index น้ำหนักหุ้นไทยลดลงจาก 7-8% เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เหลือ 2-3% เมื่อ 10 ปีที่แล้ว และ 1.8% ในปัจจุบัน ทำให้กองทุนส่วนใหญ่ต้องลดการลงทุนในตลาดหุ้นไทยตาม
มองไปข้างหน้า โอกาสที่จะเห็น Foreign Ownership กลับไปสู่ระดับ 35-40% เหมือนในอดีตยังไม่น่าเป็นไปได้ ถ้าปัญหาเหล่านี้ยังไม่ถูกแก้ไข
แต่ผมเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่เราจะเริ่มเห็นเม็ดเงินต่างชาติประเภท Tactical Trading (ลงทุนระยะสั้น) กลับมาซื้อหุ้นไทยในระยะ 6-12 เดือนข้างหน้า โดยมีปัจจัยการเร่งฉีดวัคซีน การเปิดประเทศ และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว เป็นจุดขายหลัก บวกกับระดับ SET Index ที่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด ในขณะที่หลายตลาดหุ้นได้พ้นจุดนั้นไปแล้ว
อีกหนึ่งตัวช่วยคือกระแสเงินโลกที่คาดว่าจะไหลกลับเข้า Emerging Markets ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมีแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ เป็นปัจจัยสนับสนุนหลัก
การจะทำให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาเนื้อหอมอีกครั้งในสายตานักลงทุนสถาบันระยะยาวระดับโลก รัฐบาลจะต้องเริ่มแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสร้างกลไกขับเคลื่อนชุดใหม่ให้กับระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งปฎิรูปการเมืองไทยให้หลุดพ้นจากวงจรความขัดแย้งเดิม ๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศ
ตลาดหลักทรัพย์เองก็ต้องเร่งหากิจการขนาดใหญ่ประเภท New Economy มาจดทะเบียน ควบคู่กับการหากลยุทธ์เพิ่มน้ำหนักตลาดหุ้นไทยในดัชนีอ้างอิงต่างๆ เช่น หาแนวทางเพิ่ม Free Float ของหุ้นไทยที่อยู่ในดัชนีอ้างอิงก็อาจเป็นวิธีหนึ่ง เนื่องจากดัชนีอ้างอิงส่วนใหญ่ให้น้ำหนักเฉพาะกับ Market Cap ในส่วนที่เป็น Free Float
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก