KBANKฮุบแมสเปี้ยน ทัพหน้ารุกอินโดนีเซีย
#KBANK #ทันหุ้น - KBANK ลงทุนเพิ่มในธนาคารแมสเปี้ยน ที่อินโดนีเซียเป็น 67.5% เบ็ดเสร็จแล้ว พร้อมวางเกมขึ้นเบอร์ 1 ใน East Java โบรกชมเป็นอัพไซด์ ระยะยาว ช่วยขยายตลาดอินโดนีเซียที่เศรษฐกิจเติบโตดี ชู KBANK มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีจาก NIM ที่เพิ่มขึ้น แต่กำไรของธนาคารแมสเปี้ยนยังเป็นสัดส่วนไม่มากเทียบกำไรทั้งหมด
นายธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า การที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคาร แมสเปี้ยน ประเทศอินโดนีเซีย เป็น67.5% นั้น มองว่าเป็น Upside ต่อธุรกิจของ KBANK ในอนาคต เนื่องจากทำให้ช่วยขยายตลาดสินเชื่อในต่างประเทศได้มากขึ้น ซึ่งประเทศอินโดนีเซีย นับได้ว่าเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี และนับเป็นตลาดใหญ่
อย่างไรก็ตามฝ่ายวิจัยทรีนีตี้ ยังคงราคาเป้าหมายของหุ้น KBANK เท่าเดิมที่ 177 บาทต่อหุ้น เพราะมองว่ากำไรของธนาคารแมสเปี้ยน มีสัดส่วนที่ไม่มากอย่างมีนัยสำคัญ ต่อผลประกอบการของ KBANK ซึ่งคำแนะนำยังแนะซื้อ เพราะมองว่า KBANK เป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่น่าสนใจ และราคาหุ้นยังมี Upside จากราคาเป้าหมายที่น่าสนใจ รวมถึงมองว่าแนวโน้มผลประกอบการในปีหน้ามีการเติบโต ซึ่งมาจากส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิหรือ NIM ที่เพิ่มขึ้น
ส่วนแนวโน้มกำไรไตรมาส 4/2565 ของ KBANK นั้น คาดว่าจะอ่อนตัวลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากค่าใช้จ่ายตามฤดูกาล แม้ว่าจะได้รับผลบวกจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ คาดว่าจะยังทรงตัวจากไตรมาสก่อน
แม้ว่าธนาคารจะเน้นกลยุทธ์การบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL ในเชิงรุก แต่กำไรไตรมาส 4/2565 ก็ยังมีการเติบโตที่ดีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
**ทุ่ม 6.5 พันลบ.ถือหุ้นเพิ่ม
ทั้งนี้ นายภัทรพงศ์ กันหสุวรรณ ประธานกรรมการ บริษัท กสิกร วิชั่น ไฟแนนเชียล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม KBANK เปิดเผยว่า ธนาคารเดินหน้ากลยุทธ์การขยายธุรกิจสู่การเป็นธนาคารแห่งภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง ล่าสุดบริษัท กสิกร วิชั่น ไฟแนนเชียล จำกัด ได้รับอนุมัติจากธนาคารกลางประเทศอินโดนีเซีย และดำเนินการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนในธนาคารแมสเปี้ยน จากเดิมมีสัดส่วนอยู่ที่ 9.99% เพิ่มเป็น 67.5% ด้วยมูลค่าการลงทุน 186.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 6,500 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อย ส่งผลให้บริษัทของธนาคารกสิกรไทย กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ (Controlling Shareholder) ของธนาคารแมสเปี้ยน
การเข้าซื้อกิจการของธนาคารแมสเปี้ยน ซึ่งเป็นธนาคารมีขนาดสินทรัพย์ 888 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 31,100 ล้านบาท และมีสาขาจำนวน 50 แห่งทั่วประเทศอินโดนีเซีย นับเป็นการควบรวมกิจการ (M&A) ครั้งแรกของธนาคารกสิกรไทย ภายใต้กลยุทธ์การขยายธุรกิจในระดับภูมิภาค ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้นับว่าเกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่เหมาะสม ทั้งในแง่ความต้องการสินเชื่อที่กำลังเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอินโดนีเซียในช่วงการฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และในแง่ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน
**เปิดกลยุทธ์รุก 3 กลุ่ม
โดยจะผลักดันให้ธนาคารแมสเปี้ยนโตเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดใน East Java และพร้อมรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในระยะยาวต่อไป ผ่านการดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มองค์กร/ธุรกิจขนาดใหญ่(Corporate) จะเพิ่มศักยภาพในการปล่อยสินเชื่อและให้บริการด้านธนาคารที่ครบวงจร เพื่อเป็นหนึ่งในแหล่งเงินทุนที่ตอบสนองความต้องการของ ธุรกิจท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยธนาคารพร้อมที่จะเป็นสะพานเชื่อมการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เข้ามาในอินโดนีเซีย ทั้งจากธุรกิจไทย และธุรกิจต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ (กลุ่มประเทศ AEC+3)กลุ่มธุรกิจขนาดกลาง (Commercial) ธนาคารให้การสนับสนุนด้วยการปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจขนาดกลางที่มีจำนวนมาก เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเต็มที่ ช่วยให้ธุรกิจขนาดกลางกลุ่มนี้ดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และพร้อมขยายไปเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ได้ในอนาคต
และกลุ่มลูกค้ารายย่อย (Retail) ธนาคารมุ่งขยายฐานลูกค้ารายย่อยในอินโดนีเซียผ่านการให้บริการ โมบายแบงกิ้ง หรือ บริการธุรกรรมออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร เพื่อตอบสนองความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้ารายย่อย ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคและธุรกิจขนาดเล็ก (MSME) ที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างจำกัด แต่มีความสามารถในการใช้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลได้มากขึ้น
ทั้งนี้ การเข้าซื้อกิจการธนาคารแมสเปี้ยนของธนาคารกสิกรไทย ในปี 2565 ครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญของการยกระดับธนาคารกสิกรไทยในฐานะธนาคารระดับภูมิภาค AEC+3 ครั้งล่าสุด หลังจากได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจธนาคารท้องถิ่นใน สปป.ลาว ปี 2557 และได้ใบอนุญาตการประกอบธุรกิจธนาคารท้องถิ่นในประเทศจีนในปี 2559 และประสบความสำเร็จจากการเปิดสาขาพนมเปญ ในประเทศกัมพูชาปี 2560 และสาขาโฮจิมินห์ ซิตี้ ในประเทศเวียดนามในปี 2564