รีเซต

"KBANK" กำไรลด 1% หลังรายได้ดอกเบี้ย-NIM หดตัว มองเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังเสี่ยงไม่โต

"KBANK" กำไรลด 1% หลังรายได้ดอกเบี้ย-NIM หดตัว มองเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังเสี่ยงไม่โต
TNN ช่อง16
21 กรกฎาคม 2568 ( 09:19 )
13

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK รายงานผลการดำเนินงานสำหรับงวด 6 เดือนปี 2568 เปรียบเทียบกับงวด 6 เดือนปี 2567 ที่ปรับปรุงใหม่ ธนาคาร และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และภาษีเงินได้มีจำนวน 56,847 ล้านบาท ลดลงจำนวน 2,470 ล้านบาท หรือ 4.16%

เป็นผลจากการลดลงของรายได้จากการดำเนินงานสุทธิหลัก ๆ จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 70,080 ล้านบาท ลดลงจำนวน 5,234 ล้านบาท หรือ 6.95% สอดคล้องกับภาวะอัตราดอกเบี้ย และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือแบงเบาภาระให้ลูกค้ามีความยืดหยุ่นทางการเงินมากขึ้น และช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ

ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ หรือ Net interest margin : NIM ลดลงอยู่ที่ระดับ 3.36% แม้ว่ารายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย มีจำนวน 27,622 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 2,409 ล้านบาท หรือ 9.55% หลัก ๆ จากกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน รายได้จากการลงทุน และรายได้ค่าธรรมเนียม และบริการสุทธิ

ในขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ มีจำนวน 40,855 ล้านบาท ลดลงจำนวน 355 ล้านบาท หรือ 0.86% จากการบริหารจัดการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องภายใต้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ หรือ Cost to income ratio อยู่ที่ระดับ 41.82%

นอกจากนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยยังคงยึดหลักความระมัดระวังอย่างรอบคอบตามที่ได้ปฏิบัติมาอย่างสม่ำเสมอ จึงพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น หรือ Expected credit loss : ECL จำนวน 19,868 ล้านบาท เพื่อให้สำรองฯมีความเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ และภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวน และยังคงเผชิญกับความท้าทาย ส่งผลให้กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารสำหรับงวด 6 เดือนปี 2568 มีจำนวน 26,280 ล้านบาท ลดลงจำนวน 260 ล้านบาท หรือ 0.98%

สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 นั้น มองว่าเศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มเติบโตในระดับต่ำกว่าครึ่งแรกของปีค่อนข้างมาก หรือมีความเสี่ยงที่จะไม่เติบโต เนื่องจากการส่งออกมีแนวโน้มหดตัวลึกหลังจากขยายตัวสูงไปแล้วในช่วงครึ่งปีแรก

ประกอบกับอัตราภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ที่จะเก็บจากสินค้าไทยอาจสูงกว่าคู่แข่งสำคัญหลายประเทศ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเนื่องต่อบรรยากาศการลงทุน ในขณะทีแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยวมีแนวโนมชะลอลงแรง แต่เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐทำได้เพียงในระดับจำกัด นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวจะมีผลกดดันต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2569 ด้วยเช่นกัน 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง