หมอเตือน! ทุกๆ 1 ชม. มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 8 คน รีบป้องกันก่อนสายไป

หมอเจด เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “หมอเจด” ได้โพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ เรื่อง ทุกๆ 1 ชม. คนเสียชีวิตจากโรคนี้ 8 คน รีบป้องกันก่อนสายๆไป
โดยระบุว่า จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขปี 2565 มีผู้เสียชีวิตจาก “โรคหัวใจและหลอดเลือด” มากถึง 70,000 รายต่อปี หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ถือว่าเยอะและน่าตกใจมาก เมื่อก่อนเราก็จะคิดว่าโรคนี้เป็นโรคของคนอายุเยอะ หรือคนที่มีโรคประจำตัว แต่ปัจจุบัน การใช้ชีวิต ไลฟ์สไตล์ก็เพิ่มความเสี่ยงโดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งจริงๆ แล้วมันมีวิธีป้องกันอยู่ อ่านให้จบนะ จะได้ลดความเสี่ยงได้ถูกวิธี
1. โรคหัวใจและหลอดเลือดคืออะไร? ทำไมถึงน่ากลัว?
คำว่า "โรคหัวใจและหลอดเลือด" (Cardiovascular Disease) เป็นชื่อเรียกรวมของกลุ่มโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด เช่น
-หลอดเลือดหัวใจตีบ
-หัวใจล้มเหลว
-โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
-ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
โรคที่พูดมา มันไม่มีสัญญาณเตือนที่ชัดเจนนะ บางคนรู้ตัวอีกทีก็ตอนที่หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือเส้นเลือดในสมองแตก ซึ่งอาจเกิดขึ้นในเวลาไม่กี่นาที และบางครั้งก็ไม่ทันได้ไปถึงโรงพยาบาล
2. ทำไมโรคนี้ถึงพบมากขึ้นเรื่อยๆ?
ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 30-40 ปีก่อน โรคหัวใจยังเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนทั่วไป แต่ปัจจุบัน โรคหัวใจกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก เพราะ ไลฟ์สไตล์สมัยนี้มันเปลี่ยนไป ลองสังเกตดู เชื่อว่าหลายคนเป็นแบบที่พูดนะคือ
-การนอนน้อย เครียดบ่อย
-อาหารแปรรูป น้ำตาล ไขมันทรานส์เพียบ
-ขาดการออกกำลังกาย
-สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์
-มีโรคประจำตัวอย่างเบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง
หลายคนอาจไม่ได้รู้สึกป่วย หรืออาการก็ไม่ชัดเจนจนทำให้ชะล่าใจ เช่น เจ็บหน้าอกนิด ๆ เหนื่อยง่ายขึ้นเล็กน้อย ปล่อยไว้ก็อาจกลายเป็น “สัญญาณเตือนที่มองข้ามไป”
3. อาการที่ควรรู้ว่า “อาจเสี่ยง” โรคหัวใจ
ถึงอาการของโรคหัวใจจะหลากหลาย แต่อยากให้จำไว้ว่า ไม่ต้องรอให้ปวดแบบ “เจ็บแน่นอกแบบหนังหมอผ่าตัด” ถึงจะเรียกว่าผิดปกติ อาการที่น่าสงสัย เช่น
-เจ็บแน่นหน้าอก หรือเหมือนมีอะไรทับอกโดยเฉพาะตอนออกแรง
-เหนื่อยง่ายผิดปกติ เหนื่อยจนต้องหยุดพักทั้งที่ทำกิจกรรมเบาๆ
-ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ
-หน้ามืด เป็นลม โดยไม่ทราบสาเหตุ
-ขาบวม นอนราบแล้วหอบเหนื่อย
บางคน โดยเฉพาะผู้หญิงและผู้สูงอายุ อาจไม่มีอาการเจ็บหน้าอกแบบชัดเจน แต่จะมีแค่อ่อนเพลียหรือเหนื่อยง่ายเฉยๆ
ก็อาจเป็นสัญญาณของ หัวใจขาดเลือดแบบไม่แสดงอาการ (Silent ischemia) ได้เหมือนกัน
4. กลุ่มเสี่ยงที่ควรระวังเป็นพิเศษ
โรคหัวใจและหลอดเลือดอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ แต่บางกลุ่ม มีความเสี่ยงมากกว่าปกติ และควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด นข่าย
กลุ่มที่ควรเฝ้าระวัง
-ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ/หลอดเลือด
เช่น พ่อแม่หรือพี่น้องเป็นโรคหัวใจขาดเลือด, เส้นเลือดในสมองตีบ, เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจวายกะทันหัน
-ผู้ที่มีโรคประจำตัว
•เบาหวาน
•ความดันโลหิตสูง
•ไขมันในเลือดสูง
โดยเฉพาะถ้าไม่ได้ควบคุมอย่างต่อเนื่อง
-ผู้ชายอายุ > 45 ปี และผู้หญิง > 55 ปี
หลังหมดประจำเดือน ผู้หญิงจะสูญเสียฮอร์โมนที่เคยช่วยปกป้องหัวใจ
-ผู้ที่มีภาวะอ้วนลงพุง (Metabolic syndrome)
รอบเอวเกิน 90 ซม. (ชาย) / 80 ซม. (หญิง) มักมาพร้อมกับไขมันสะสมและดื้อต่ออินซูลิน
-ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือเคยสูบบุหรี่ระยะยาว
แม้จะเลิกแล้ว แต่ความเสี่ยงยังคงสะสมอยู่ในหลอดเลือด
-ผู้ที่มีภาวะเครียดเรื้อรัง นอนไม่พอ หรือมีภาวะซึมเศร้า
อารมณ์และจิตใจกระทบต่อสุขภาพหัวใจผ่านระบบประสาทอัตโนมัติและฮอร์โมนความเครียด
-ผู้ที่ทำงานหนักเกินไป ไม่ค่อยออกกำลังกาย
กลุ่มออฟฟิศซินโดรมที่ดูเหมือนปกติ แต่นั่งทั้งวัน + กินอาหารไม่เป็นเวลา = หลอดเลือดเสื่อมแบบเงียบ ๆ
-ผู้ที่มีโรคไตเรื้อรัง
ความดัน-เกลือแร่-สมดุลไขมันในกลุ่มนี้มักมีปัญหาโดยเฉพาะเรื่องหลอดเลือด
ใครที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ผมพูดมา แนะนำแบบนี้นะว่า
•เข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง
•ตรวจวัดค่าที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงหัวใจ เช่น LDL, HDL, Triglyceride, HbA1c, BP
•พิจารณาทำ EKG หรือ Echo หากมีอาการผิดปกติหรือประวัติเสี่ยง
•ใช้ชีวิตแบบ “ไม่ประมาท” แม้จะยังไม่มีอาการก็ตาม
5. ป้องกันหัวใจวาย ทำได้ง่ายกว่าที่คิด
หลายคนคิดว่าการป้องกันโรคหัวใจต้องยาก แต่จริง ๆ แล้ว การดูแลหัวใจให้แข็งแรงสามารถเริ่มได้ง่าย ๆ จาก “พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน”
ปรับพฤติกรรมอย่างยั่งยืน
-หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ น้ำตาลเกินความจำเป็น และโซเดียมที่มากเกินไป
หันมาเน้น ไขมันดี เช่น ปลาทะเลน้ำลึกอย่างแซลมอน ทูน่า หรือแมคเคอเรล ซึ่งเป็นแหล่งของโอเมก้า 3 (Omega-3)
โดยเฉพาะชนิด EPA และ DHA ที่ช่วยลดการอักเสบของหลอดเลือด และลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือด
อย่างไรก็ตาม คนไทยจำนวนมากยังบริโภคปลาทะเลไม่ถึงสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
ถ้ารับจากอาหารธรรมชาติไมาเพียงพอ ก็ทานเป็นแบบอาหารเสริมเพิ่มก็ได้ครับ
-ขยับตัวมากขึ้น ออกกำลังกายระดับปานกลางอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ เช่น เดินเร็ว ว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยาน
-พักผ่อนให้พอ นอนหลับวันละ 6–8 ชั่วโมง อย่างมีคุณภาพ
-เลิกบุหรี่ ลดแอลกอฮอล์ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำลายหลอดเลือดอย่างชัดเจน
-ตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น ความดัน เบาหวาน ไขมันสูง หรือมีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
ฝากด้วยนะครับโรคหัวใจและหลอดเลือดไม่ใช่เรื่องของ “คนแก่” หรือ “คนมีโรคประจำตัว” เสมอไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- หมอเตือน! แสบหน้าอก เรอบ่อย ระวังกรดไหลย้อนเสี่ยงมะเร็ง
- เช็กด่วน! สัญญาณเตือนอาจเป็น "มะเร็ง" ได้ใน 6 เดือน อาการอะไรบ้างที่ต้องจับตา
- โรคหลอดเลือดสมอง! คร่าชีวิตคนไทยสูงรองจากมะเร็ง เช็กอาการ-วิธีป้องกัน
- 5 ปัจจัย คนไทยอายุต่ำกว่า 50 ปีป่วย "มะเร็ง" มากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึง 2 เท่า