รีเซต

ปลาดึกดำบรรพ์ซีลาแคนท์ “ฟอสซิลที่ยังมีชีวิต” อาจมีอายุยืนยาวได้ถึงหนึ่งศตวรรษ

ปลาดึกดำบรรพ์ซีลาแคนท์ “ฟอสซิลที่ยังมีชีวิต” อาจมีอายุยืนยาวได้ถึงหนึ่งศตวรรษ
ข่าวสด
20 มิถุนายน 2564 ( 21:13 )
95
ปลาดึกดำบรรพ์ซีลาแคนท์ “ฟอสซิลที่ยังมีชีวิต” อาจมีอายุยืนยาวได้ถึงหนึ่งศตวรรษ

 

ปลาซีลาแคนท์ (Coelacanth) ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น "ฟอสซิลที่ยังมีชีวิต" เพราะเป็นปลาดึกดำบรรพ์ที่ดำรงเผ่าพันธุ์สืบต่อกันมาได้นานถึง 420 ล้านปี อาจเป็นปลาที่มีอายุยืนยาวกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยคิดเอาไว้

 

 

เดิมเชื่อกันว่าปลาซีลาแคนท์มีอายุขัยเฉลี่ยราว 20 ปี แต่ผลการศึกษาล่าสุดของทีมนักวิจัยฝรั่งเศส ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Current Biology พบว่าพวกมันอาจอยู่ดูโลกได้นานเป็นร้อยปี เหมือนกับฉลามบางชนิดและปลารัฟฟี (Roughy)

 

 

 

มีการใช้แสงโพลาไรซ์ตรวจสอบเส้นลายที่อยู่บนเกล็ดปลาซีลาแคนท์ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงอายุของปลาได้เหมือนกับวงปีบอกอายุของต้นไม้ การใช้แสงชนิดพิเศษนี้ทำให้ทีมผู้วิจัยค้นพบเส้นลายขนาดเล็กบนเกล็ดปลาเพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก โดยเมื่อนำมาคำนวณดูแล้วสามารถชี้ได้ว่า ปลาซีลาแคนท์อาจมีอายุยืนยาวได้ถึงหนึ่งศตวรรษเลยทีเดียว

 

 

ผลการตรวจสอบตัวอ่อนของปลาซีลาแคนท์ 2 ตัว ซึ่งเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ยังชี้ว่า ตัวอ่อนทั้งสองมีอายุราว 5 ปี แสดงว่าปลาซีลาแคนท์ตัวเมียมีการตั้งท้องที่กินเวลายาวนานอย่างเหลือเชื่อ

 

 

ข้อมูลใหม่เหล่านี้บ่งชี้ว่า นอกจากมันจะเป็นปลาที่เคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้าแล้ว ปลาซีลาแคนท์ยังมีการเจริญเติบโตในอัตราที่ช้ามากอีกด้วย โดยปลาตัวเมียจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์อย่างเต็มที่เมื่อถึงวัยเกือบ 60 ปี และปลาตัวผู้จะเข้าสู่ช่วงวัยเดียวกันเมื่อมีอายุได้ 40 - 69 ปี

 

 

การที่ปลาซีลาแคนท์โตช้าและมีลูกหลานได้น้อย ทำให้เสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ได้อย่างมาก ทำให้นักอนุรักษ์จำเป็นจะต้องทราบถึงข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับอายุขัยและลักษณะทางประชากรของมันอย่างถูกต้อง เพื่อนำไปวางแผนและดำเนินงานอนุรักษ์ปลาสายพันธุ์หายากนี้ต่อไป

 

 

เมื่อช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นักวิทยาศาสตร์คิดว่าปลาซีลาแคนท์ได้สูญพันธุ์ไปจากโลกแล้ว แต่กลับมีผู้พบเห็นมันอีกครั้งเมื่อปี 1938 หลังปลาชนิดนี้ติดเข้ามาในอวนของชาวประมงที่นอกชายฝั่งประเทศแอฟริกาใต้ โดยปลาซีลาแคนท์ที่โตเต็มที่อาจมีขนาดใหญ่ถึง 1.8 เมตร และหนักกว่า 90 กิโลกรัม

 

 

ปัจจุบันมีแหล่งที่อยู่ของปลาซีลาแคนท์เพียงสองแห่งในโลก คือที่บริเวณชายฝั่งเกาะสุลาเวสีของอินโดนีเซีย และตามแนวชายฝั่งทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา ซึ่งประชากรปลาซีลาแคนท์กลุ่มหลังนี้อาจเหลืออยู่เพียงไม่กี่ร้อยตัว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง