รีเซต

หรือจะต้องเรียงประวัติศาสตร์ใหม่ ? ยืนยันรอยเท้ามนุษย์เก่าแก่ที่สุดในอเมริกาเหนือ

หรือจะต้องเรียงประวัติศาสตร์ใหม่ ? ยืนยันรอยเท้ามนุษย์เก่าแก่ที่สุดในอเมริกาเหนือ
TNN ช่อง16
10 ตุลาคม 2566 ( 15:59 )
66

นักวิทยาศาสตร์จากกรมสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Geological Survey) ตีพิมพ์งานวิจัยเผยแพร่ ยืนยันแล้วว่า รอยเท้ามนุษย์โบราณที่พบเมื่อปี 2021 ในรัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐฯ มีอายุมากกว่า 20,000 ปีจริง ๆ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น อาจจะต้องมีการเรียงลำดับไทม์ไลน์การอพยพของมนุษย์มายังทวีปอเมริเหนือใหม่อีกครั้ง 


ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันมาหลายสิบปีแล้วว่ามนุษย์กลุ่มแรกที่อพยพเข้ามายังทวีปอเมริกาเหนือคือชาวโคลวิส (Clovis) ซึ่งมีหลักฐานยืนยันว่ามีอายุอยู่ราว ๆ 13,000 ปีก่อน แต่เมื่อปี 2021 มีการค้นพบรอยเท้ามนุษย์โบราณในอุทยานแห่งชาติไวท์แซนด์ส ในรัฐนิวเม็กซิโก มีอายุประมาณ 21,000 - 23,000 ปี ซึ่งอายุที่สันนิษฐานดังกล่าวนี้อาจมีข้อกังขาอยู่บ้าง เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์หาอายุรอยเท้าด้วยคาร์บอนกัมมันตรังสีของเมล็ดพืชที่มีชื่อว่า “รุปเปีย ซีร์โรซ่า (Ruppia cirrhosa)” ซึ่งอยู่ในรอยเท้ามนุษย์โบราณเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาก็คือรุปเปีย ซีร์โรซ่าเป็นพืชน้ำ หมายความว่าคาร์บอนที่ตรวจจับได้น่าจะมาจากน้ำ ไม่ใช่มาจากอากาศ ซึ่งอาจส่งผลให้มีอายุมากกว่าอายุรอยเท้าจริง ๆ นั่นเอง


ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงพิสูจน์เพิ่มอีก 2 วิธีเพื่อยืนยันอายุที่แท้จริงของรอยเท้า วิธีการแรก คือการเก็บรวบรวมละอองเรณูนับหมื่นละออง (ละอองเรณูต้นสน ซึ่งเป็นพืชบก) จากชั้นตะกอนทางธรณีวิทยาที่เทียบเคียงกับเมล็ดพืชเดิม จากนั้นหาอายุด้วยคาร์บอนกัมมันตรังสี ผลลัพธ์ยืนยันว่าอายุของรอยเท้าอยู่ราว 21,000 - 23,000 ปี


และอีกวิธีหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้วิธีที่เรียกว่า “การหาอายุด้วยวิธีเปล่งแสง (Optically stimulated luminescence)” ซึ่งเป็นการคำนวณช่วงเวลาล่าสุดที่รอยเท้าสัมผัสกับแสงแดด โดยศึกษาผ่านแร่ควอตซ์ (Quartz) ที่อยู่ในรอยเท้า ผลลัพธ์ออกมาได้อายุที่สอดคล้องกับการหาอายุก่อนหน้า คือพบว่าเม็ดของแร่ควอตซ์ถูกฝังอยู่ราว 21,500 ปีแล้ว


ด้วยเทคนิคการหาอายุทั้ง 3 วิธีนี้ และให้อายุที่อยู่ในกรอบเดียวกัน จึงทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ารอยเท้านี้มีอายุมากกว่า 20,000 ปีจริง ๆ และนั่นก็อาจนำไปสู่การไล่เรียงประวัติศาสตร์ใหม่ อย่างไรก็ตาม คำถามที่ว่ามนุษย์กลุ่มแรกอพยพมายังอเมริกาเหนือได้อย่างไร เพราะช่วงเวลานั้นเป็นช่วงปลายของยุคน้ำแข็งครั้งล่าสุด และมีธารน้ำแข็งขนาดใหญ่กีดขวางเส้นทางจากไซบีเรียไปยังอลาสก้า ทำให้นักวิทยาศาสตร์จะต้องศึกษาและหาคำตอบกันต่อไป 


ที่มาข้อมูล Newatlas, Science, USGS

ที่มารูปภาพ Reuters

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง