จีนพบ 'ฟอสซิลยูคาริโอตหลายเซลล์' อายุ 1.63 พันล้านปี เก่าแก่สุดในโลก
(ภาพจากสถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาหนานจิง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน : ไมโครฟอสซิลชิงซาเนีย แมกนิฟิกา ที่พบในเทือกเขาเยียนซานทางตอนเหนือของจีน)
ปักกิ่ง, 26 ม.ค. (ซินหัว) -- คณะนักโบราณคดีของจีนค้บพบฟอสซิลสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ในวงศ์ยูคาริโอต (eukaryote) ที่มีอายุย้อนกลับไป 1.63 พันล้านปีก่อน โดยถือเป็นการค้นพบฟอสซิลประเภทนี้ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกการค้นพบดังกล่าวเผยแพร่ในวารสารไซแอนซ์ แอดวานซ์ (Science Advances) ของสัปดาห์นี้ โดยระบุว่ามีการขุดพบไมโครฟอสซิลชิงซาเนีย แมกนิฟิกา (Qingshania magnifica) ที่ยังคงอยู่ในสภาพดี บริเวณเทือกเขาเยียนซานทางตอนเหนือของจีนคณะนักวิจัยจากสถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาหนานจิง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ค้นพบฟอสซิลข้างต้น ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าหลังจากที่พวกเขาพบฟอสซิลในวงศ์ยูคาริโอตขนาดเดซิเมตรในภูมิภาคดังกล่าวในปี 2016 และบ่งชี้ว่าการปรากฏของสิ่งมีชีวิตประเภทนี้เก่าแก่ไปจากเดิมอีกราว 70 ล้านปีฟอสซิลที่ค้นพบใหม่ประกอบด้วยเส้นสาย (filament) เดี่ยวแบบไม่แตกแขนงขนาดใหญ่ โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางของเซลล์ยาวถึง 190 ไมโครเมตร และมีลักษณะพิเศษคือโครงสร้างภายในเซลล์ทรงกลมบางเซลล์ บ่งชี้ว่าพวกมันอาจสืบพันธุ์โดยสปอร์ เช่นเดียวกับสาหร่ายยูคาริโอตหลายชนิด นักวิจัยจึงสันนิษฐานเพิ่มเติมว่าฟอสซิลเหล่านี้น่าจะเป็นสาหร่ายที่สังเคราะห์แสงได้อนึ่ง รายงานระบุว่าฟอสซิลในวงศ์ยูคาริโอตที่เก่าแก่ที่สุดในปัจจุบัน เป็นฟอสซิลรูปแบบสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่มีอายุย้อนไปถึง 1.65 พันล้านปีก่อน ซึ่งพบในทางตอนเหนือของจีนและตอนเหนือของออสเตรเลีย ส่วนชิงซาเนีย แมกนิฟิกาเกิดขึ้นภายหลังเล็กน้อย บ่งชี้ว่ายูคาริโอตพัฒนาไปสู่การเป็นสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มในประวัติศาสตร์ของพวกมัน