รีเซต

ทำไมต้องดับไฟด้วยโฟมแทนการใช้ฝน #ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว

ทำไมต้องดับไฟด้วยโฟมแทนการใช้ฝน #ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว
Ingonn
6 กรกฎาคม 2564 ( 12:12 )
3K

 

เป็นเวลากว่า 1 วันแล้ว ที่สถานการณ์ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว ยังคงปะทุอย่างต่อเนื่อง ทำให้เจ้าหน้าที่นักดับเพลิงต้องทำงานอย่างหนักในการหยุดควันไฟ และเชื้อเพลิงที่ยังคงไม่หมด โดยล่าสุดจากเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย บาดเจ็บมากกว่า 30 ราย

 

 

เมื่อช่วงเย็นวันที่ 5 ก.ค. 64 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงช่วยบรรเทาฝุ่นควันจากเหตุดังกล่าวแต่ก็ได้ยกเลิกภารกิจนี้ไป เนื่องจากไม่เหมาะกับสถานการณ์ระงับเหตุในครั้งนี้

 

 

วันนี้ TrueID จึงจะพามาทำความเข้าใจการใช้โฟมดับไฟแทนการใช้น้ำหรือฝน พร้อมทั้งวิธีดับไฟต่างๆมาฝากกัน

 

 


ทำไมต้องใช้โฟมดับไฟ

 

“โฟมดับเพลิง” เป็นเทคโนโลยีการดับเพลิงในพื้นที่ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อช่วยในการลดโอกาสความสูญเสียเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ เมื่อฉีดโฟมดับเพลิง ไปบนของเหลวติดไฟ โฟมจะปกคลุมอยู่บนบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ ทำให้ไฟดับไฟได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากโฟมมีลักษณะเป็นฟองขนาดเล็กที่มีผนังเป็นสารละลายลดแรงตึงผิว จึงรวมกันเป็นชั้นโฟมที่มีเนื้อยึดเหนี่ยวอย่างมั่นคง ทำให้อากาศไม่สามารถผ่านเข้าไปยังเชื้อเพลิงและเปลวไฟได้

 

 

จุดสำคัญ “โฟมดับเพลิง” มีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำและน้ำมัน จึงปกคลุมได้ในแนบราบและลอยตัวอยู่เหนือของเหลวติดไฟ โดยโฟมจะเคลื่อนที่อย่างอิสระไปตามผิวหน้าของของเหลวที่กำลังลุกไหม้ เพื่อไล่อากาศและป้องกันไม่ให้เปลวไฟสัมผัสกับอากาศในบริเวณเพลิงไหม้ และช่วยขัดขวางไอสารไวไฟไม่ให้กระจายไปตามแรงลมและลดความร้อนลง

 

 

 

คุณสมบัติของโฟมดับเพลิง


1. ดับไฟเร็วและคุลมเชื้อเพลิงได้


เมื่อฉีดโฟมลงไปบนเปลวไฟที่กำลังลุกไหม้อยู่บนเชื้อเพลิงเหลว โฟมจะคลุมผิวหน้าเชื้อเพลิงที่กำลังลุกไหม้ได้อย่างรวดเร็ว และแผ่คลุมพื้นที่ของพื้นผิวเชื้อเพลิงได้ทั้งหมด เมื่อฉีดลงบนเปลวไฟแล้วพบว่ามีการลุกไหม้น้อยลงนั้นแสดงว่าประสิทธิภาพการทำงานของโฟมนั้นมีประสิทธิภาพ โดยสามารถฉีดซ้ำลงไปเป็นสร้างเป็นชั้นโฟมได้

 

 

2. ทนความร้อนได้ดี 


ความร้อนจัดจากการเผาไหม้ไม่ได้มาจากเปลวไฟเพียงอย่างเดียว แต่มาจากปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ไอสารไวไฟ รวมถึงพื้นผิวร้อนจัดของวัตถุในบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ โดยเป็นผลต่อเนื่องจากการดับเปลวไฟและการแผ่คลุมเชื้อเพลิง ทำให้โฟมดับเพลิงต้องมีคุณสมบัติในการต่อต้านผลกระทบเชิงลบของรังสีความร้อนที่แผ่ออกมาได้ดี

 

 

3. ต้านทานเชื้อเพลิงได้ดี 


โฟมดับเพลิงที่ดีต้องมีชั้นฟิล์มโฟมที่เหนียวแน่น เพื่อป้องกันการแทรกซึมของเชื้อเพลิงเหลวโดยเฉพาะสารกลุ่มไฮโดรคาร์บอนและปิโตรเคมี ถ้าโฟมถูกสารเหล่านี้ผสมเข้าไปในเนื้อโฟมจะทำให้สูญเสียประสิทธิภาพในการควบคุมเพลิงได้

 

 

4. ยับยั้งการแพร่กระจายไอเชื้อเพลิง 


โฟมดับเพลิงสามารถควบคุมไอเชื้อเพลิงไม่ให้สัมผัสกับอากาศได้ ลดการแพร่กระจายของไอเชื้อเพลิงที่อยู่ด้านล่าง ที่พร้อมจะลุกติดไฟได้อีกครั้งเมื่อสัมผัสกับอากาศ

 

 

5. มีความสามารถในการต่อต้านแอลกอฮอล์ 


เมื่อแอลกอฮอล์ละลายในน้ำที่เป็นส่วนผสมของโฟมดับเพลิง จะทำให้กลายเป็นของเหลวไวไฟและเกิดการลุกไหม้ได้อีกครั้ง โฟมดับเพลิงที่ดีต้องมีคุณสมบัติในการยับยั้งไม่ให้เชื้อเพลิงเหล่านั้นมารวมตัวกับน้ำ

 

 


จากข้อมูลเบื้องต้น “โฟมดับเพลิง” เหมาะสำหรับใช้ดับไฟในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเมื่อเกิดไฟไหม้จะมีความอันตรายมากกว่าไฟไหม้ทั่วไป เนื่องจากปริมาณของเหลวติดไฟที่มีมวลหรือปริมาณมากกว่า รวมถึงยังมีสารเคมีที่เป็นองค์ประกอบของการระเบิดเมื่อไฟไหม้

 

 


ทำไมห้ามใช้ “ฝนเทียม” ดับไฟ


จากกรณีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้สั่งการเพิ่มเติมว่าการทำฝนหลวงจะไม่เหมาะกับสถานการณ์ระงับเหตุในครั้งนี้ เนื่องจากอาจได้รับผลกระทบจากสารเคมีที่ปนเปื้อนได้ จึงได้สั่งการให้ยกเลิกภารกิจดังกล่าวที่เตรียมการไว้แล้ว จึงสรุปได้ว่าการใช้น้ำดับไฟประเภทนี้ไม่ได้ เนื่องจาก ไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่มีลักษณะเป็นของเหลวและก๊าซ เช่น น้ำมันทุกชนิด แอลกอฮอล์ ทินเนอร์ ยางมะตอย จารบี และก๊าซติดไฟทุก ชนิด วิธีดับไฟประเภทนี้ดีที่สุดคือใช้ผงเคมีแห้งใช้ฟองโฟมคลุม 

 

 

การใช้น้ำจะยิ่งทำให้เพลิงฟุ้งกระจาย ควบคุมได้ยาก หากมีฝนตกลงมาแล้วไปชะล้างกลุ่มควันนี้ ซึ่งเป็นสารพิษ อาจทำให้สารพิษกระจายสู่แม่น้ำ ลำคลอง หรือบ่อน้ำ และอาจกระทบต่อประชาชนในการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค

 

 

 

รู้จักน้ำฝนเป็นพิษ


ตามปกติน้ำฝนที่ตกลงมาจะมีสภาพเป็นกรดเล็กน้อย เนื่องจากในบรรยากาศมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อรวมตัวกับน้ำฝนก็จะได้กรดคาร์บอนิก แต่ในปัจจุบันฝนที่ตกลงมา โดยเฉพาะในประเทศอุตสาหกรรมจะมีสภาพเป็นกรดมาก เพราะโรงงานอุตสาหกรรมได้ปล่อยก๊าซพิษเข้าสู่บรรยากาศ 

 

 

เมื่อก๊าซเหล่านี้เมื่อรวมตัวกับหยดน้ำในบรรยากาศก็จะกลายเป็นกรดผล ทำให้ความเป็นกรดของน้ำฝนเพิ่มขึ้น ถ้าหากดื่มน้ำฝนที่มีรสเปรี้ยวๆ นอกจากรสชาดไม่อร่อยแล้ว ยังมีผลทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะประชาชนในชนบทนิยมดื่มน้ำฝนกันมาก

 

 

ฝนกรดยังทำลายธาตุอาหารบางชนิดในดิน เช่น ไนเตรท ฟอสเฟต ทำให้ดินมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้น มีผลทำให้ผลผลิตของพืชลดลง และฝนกรดที่ตกลงมายังทำความเสียหายกับวัสดุสิ่งก่อสร้างและอุปกรณ์บางชนิด ฝนกรดจะค่อย ๆ กัดกร่อนทำลายสิ่งก่อสร้าง ทำให้เสียค่าซ่อมแซมบำรุงมากขึ้น เช่น หลังคาบ้านบริเวณใกล้โรงงานบางประเภทจะผุเร็วกว่าบริเวณอื่น ๆ นอกจากนี้เครื่องแอร์ ตู้เย็น ก็จะมีการผุกร่อนค่อนข้างเร็วด้วย 

 

 

สำหรับน้ำฝนในประเทศไทยทั่วไปยังมีคุณภาพดี เว้นแต่บริเวณที่มีการทำอุตสาหกรรม มีแนวโน้มว่าน้ำฝนจะมีความเป็นกรดมากขึ้น นอกจากนั้นน้ำฝนในเมืองหรือบริเวณอุตสาหกรรมจะมีสิ่งเจือปนจำพวก ฝุ่นละออง สิ่งสกปรกต่าง ๆ มาก บางครั้งน้ำฝนจะรวมเอาสารพิษที่ปล่อยมาจากโรงงาน หรือจากการฉีดสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทำให้น้ำฝนมีสารมีพิษเจือปนอยู่ด้วย

 

 


วิธีการดับไฟที่ควรรู้


1.ไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่มีลักษณะเป็นของแข็งเชื้อเพลิงธรรมดา เช่น ฟืน ฟาง ยาง ไม้ ผ้า กระดาษ พลาสติก หนังสติ๊ก หนังสัตว์ ฯลฯ 


วิธีดับไฟประเภทนี้ คือ การใช้น้ำ

 

 

2.ไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่มีลักษณะเป็นของเหลวและก๊าซ เช่น น้ำมันทุกชนิด แอลกอฮอล์ ทินเนอร์ ยางมะตอย จารบี และก๊าซติดไฟทุก ชนิด เป็นต้น


วิธีดับไฟประเภทนี้ คือ ใช้ผงเคมีแห้งใช้ฟองโฟมคลุม

 


3.ไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่มีลักษณะเป็นของแข็งที่มีกระแสไฟฟ้าไหลอยู่ เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด การสปาร์ค


วิธีดับไฟประเภทนี้ คือ ตัดกระแสไฟฟ้าแล้วจึงใชก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือน้ำยาเหลวระเหยที่ไม่มี CFC ไล่ออกซิเจนออกไป
 

 

4.ไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่มีลักษณะเป็นโลหะและสารเคมีติดไฟ เช่น วัตถุระเบิด ผงแมกนีเซียม, ปุ๋ยยูเรีย (แอมโมเนียมไนเตรต) ฯลฯ


วิธีดับไฟประเภทนี้ดี คือ ใช้สารเคมีเฉพาะ (ห้ามใช้น้ำเป็นอันขาด) ซึ่งต้องศึกษาหาข้อมูลแต่ละชนิดของสารเคมีหรือโลหะนั้นๆ

 

 

5.ไฟที่เกิดจากน้ำมันที่ติดไฟยาก เช่น น้ำมันทำอาหาร น้ำมันพืช ไขมันสัตว์ติดไฟ 


วิธีดับไฟประเภท คือ ใช้ถังดับเพลิงที่มีสารชนิดพิเศษที่สามารถดับไฟชนิดนี้โดยเฉพาะ

 

 

 


ข้อมูลจาก ศูนย์พิษวิทยา , Harn Engineering Solutions , เฟซบุ๊ก เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง - Earth Pongsakorn Kwanmuang , TNN , มติชน

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง