ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว รู้จักสารตั้งต้นผลิตโฟมพลาสติก "สไตรีนโมโนเมอร์"
จากข่าวการระเบิดของโรงงานอุตสาหกรรม ภายในซอยกิ่งแก้ว ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เมื่อเช้าตรู่วันที่ 5 ก.ค. นี้ โรงงานที่เกิดระเบิดและเพลิงไหม้นี้เป็นโรงงานผลิตโฟมพลาสติกประเภทสไตรีน โดยมีสารตั้งต้นในการผลิตคือ สไตรีนโมโนเนอร์ นั้น
วันนี้ (6 ก.ค.64) เพจเฟซบุ๊ก "Doctor D" โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม โพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับ สาร "สไตรีนโมโนเมอร์" (Styrene monomer) โดยมีสูตรเคมี คือ C₈H₈ มีโครงสร้างหลักของโมเลกุลเป็นตัวเบนซีน (เบนซีน (Benzene) ซึ่งเป็นไฮโดรคาร์บอน ประเภท 6 เหลี่ยม จัดเป็นสารก่อมะเร็ง (Carcinogen) และสารประกอบระเหยง่าย (Volatile Organic Compound : VOC)
อุตสาหกรรมที่ใช้: ใช้เป็นส่วนผสมอยู่ในน้ำมันแก๊สโซลีน (Gasoline) เพื่อแยกชนิดน้ำมัน และใช้ในกระบวนการผลิต เช่น จานข้าวโฟม กล่องข้าวโฟม กาว พลาสติก ปุ๋ยเคมี หม้อแปลงไฟฟ้า รองเท้า สี เคมีสิ่งทอ เป็นต้น
ลักษณะทางกายภาพ: เป็นของเหลวใส ไม่มีสี มีจุดเดือดที่ 145 °C จุดวาบไฟที่ 31 °C ในภาชนะปิดและ 36-37 °C ภาชนะเปิด
ความรุนแรงตามมาตรฐาน NFPA มีดังนี้
- ความอันตรายด้านสุขภาพ ระดับที่ 2 : อันตรายปานกลาง (ระดับสีน้ำเงิน)
- ความไวไฟ ระดับ 2 : ไวไฟสูง (ระดับสีแดง)
- แสดงความไวต่อปฏิกิริยา ระดับ 2 : ปฏิกิริยาเคมีรุนแรง (ระดับสีเหลือง)
- ข้อมูลพิเศษ : ไม่มี (ระดับสีขาว)
ข้อมูลด้านพิษวิทยา
1. ความเป็นพิษเฉียบพลัน
- เมื่อถูกผิวหนัง จะเกิดการระคายเคือง
- เมื่อเข้าตา จะระคายเคืองต่อดวงตา
- เมื่อหายใจเข้าไป จะเป็นอันตรายเมื่อสูดดม ก่อให้เกิดการระคายเคืองของเยื่อบุทางเดินหายใจทำให้ไอ และหายใจลำบาก เมื่อดูดซึมจนถึงระดับที่ก่อให้เกิดพิษ ทำให้ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ง่วงซึม
- เมื่อกลืนกิน ระคายเคือง และเป็นแผลไหม้ที่ปากและกระเพาะอาหาร
2. ความเป็นพิษเรื้อรัง
- ทำให้เกิดความผิดปกติของโครโมโซม
- อาจทำให้เป็นมะเร็งในคนและสัตว์
- เพิ่มการแท้งในสตรีมีครรภ์ที่สัมผัสสาร
- ทำให้เกล็ดเลือดต่ำ ต่อมน้ำเหลืองผิดปกติ มีผลต่อประสาททำให้อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อได้รับหรือสัมผัสสารสไตรีนโมโนเนอร์
- เมื่อถูกผิวหนัง : ชะล้างออกด้วยน้ำปริมาณมาก ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนออกทันที
- เมื่อเข้าตา : ชะล้างออกด้วยน้ำปริมาณมาก โดยลืมตากว้างในน้ำอย่างน้อย 10 นาที นำส่งจักษุแพทย์
- เมื่อสูดดม : ให้รับอากาศบริสุทธิ์ ใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจหากหายใจไม่สะดวก
- เมื่อกลืนกิน : ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำปริมาณมาก กระตุ้นให้อาเจียน นำส่งแพทย์ทันที
ผู้ปฐมพยาบาลต้องมีความรู้เกี่ยวกับสไตรีนโมโนเมอร์
หากได้รับสารนี้เกิน 700 ppm อาจจะมีอันตรายถึงชีวิต ดังนั้น ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินหรือการเข้าไปสัมผัสกับสารที่ไม่ทราบระดับความเข้มข้นหรือเข้าไปในบริเวณที่มีสภาวะอากาศทีมีสารนี้เกิน 700 ppm ต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันทางเดินหายใจประเภทจัดส่งอากาศสำหรับการหายใจ (Air Supplying Respirator) พร้อมที่ครอบหน้าแบบครอบเต็มใบหน้าที่มีการทำงานแบบความดันภายในเป็นบวก หรือแบบที่ใช้การทำงานร่วมกันระหว่างอุปกรณ์ป้องกันทางดินหายใจชนิดมีถังอากาศในตัวและแบบความดนภายในเป็นบวก แต่ถ้าไม่มีอุปกรณ์เหล่านี้เบื้องต้นสามารถใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำ ปิดจมูกแล้วออกจากที่เกิดเหตุโดยเร็วที่สุด
หากการเกิดระเบิดแล้วมีการเผาไหม้ สารเคมีเหล่านี้จะเกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดควันไฟสีดำ และเทา ซึ่งก็คือก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) ปนกับสารเหล่านี้ที่เป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย ถ้าสูดดม CO จะหมดสติ วิงเวียนศีรษะ ถ้าสูดดมสไตรีนกับเบนซีน ระคายเคืองระบบหายใจ และก่อให้เกิดสารก่อมะเร็ง หน้ากากอนามัยที่ใช้ป้องกันโควิด ไม่สามารถป้องกันได้เพราะเป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย ต้องใช้หน้ากากที่ป้องกันสารอินทรีย์ ดังนั้นเพื่อนๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณการเกิดระเบิดและควันไฟไปถึงควรอพยพออกไปให้พ้นระยะ และหากเกิดอาการหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก มึนงง คลื่นไส้ ปวดหรือเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีนะ
Dr.D และทีมงานของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ขอส่งกำลังใจให้เจ้าหน้าที่และผู้ประสบภัยทุกท่าน ขอให้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัยและเกิดความสูญเสียน้อยที่สุด
ข้อมูลจาก Doctor D