รีเซต

ติดโควิด บริจาคเลือด ได้ไหม? เช็กร่างกายให้พร้อม ก่อนบริจาคเลือด

ติดโควิด บริจาคเลือด ได้ไหม? เช็กร่างกายให้พร้อม ก่อนบริจาคเลือด
Ingonn
31 สิงหาคม 2564 ( 10:38 )
9.3K
ติดโควิด บริจาคเลือด ได้ไหม? เช็กร่างกายให้พร้อม ก่อนบริจาคเลือด

นอกจากวิกฤตโควิด จะทำให้ร่างกายเราต้องต่อสู้กับเชื้อร้ายแล้ว ยังทำให้เกิดวิกฤตขาดแคลนเลือดไปทั่วประเทศอีกด้วย หลังจากที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ขอให้คนไทยสุขภาพดีช่วยกันบริจาคโลหิตอย่างเร่งด่วน เพราะเลือดไม่เพียงพอ ต่อผู้ป่วยที่ต้องเลื่อนการผ่าตัดและการรักษาพยาบาลออกไป โดยสามารถจ่ายโลหิตให้ได้เพียง 28% เท่านั้น 

 

 

 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การบริจาคเลือดทั่วประเทศลดลงอย่างมาก วิกฤติในครั้งนี้รุนแรงกว่าในรอบปีที่ผ่านมา จากกราฟเป็นข้อมูลการบริจาคเลือดทั่วประเทศ การบริจาคลดลง ซึ่งในภาวะปกติ จะเห็นว่าต้องมีเลือดรักษาผู้ป่วยเดือนละ 200,000 ยูนิต โดยเฉพาะเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาได้รับเลือดจากการบริจาคเพียง 149,384 ยูนิต มีการขาดแคลนสะสมยาวนานมากกว่า 5 เดือน จึงมีผู้ป่วยที่ต้องเลื่อนการผ่าตัดและการรักษาพยาบาลออกไปอีกเป็นจำนวนมาก

 

 

 

สิ่งที่หลายคนสงสัยกันว่า “ติดโควิด บริจาคเลือดได้ไหม” 

 

ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติฯ ได้กำหนดมาตรการเพื่อคัดกรองประวัติสุขภาพของผู้บริจาคเลือดอย่างรัดกุม ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยขอให้ผู้บริจาคคัดกรองตนเองก่อนเดินทางมาบริจาคโลหิต เช่น หากมีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส เดินทางไปยังสถานบันเทิงหรือสถานที่แออัด อาศัยอยู่ในพื้นที่หรือเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 หรือเป็นผู้ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด-19 ต้องงดบริจาคโลหิตชั่วคราวอย่างน้อย 28 วันหรือ 4 สัปดาห์ สิ่งสำคัญที่ต้องขอความร่วมมือคือ ผู้บริจาคจะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับสุขภาพตนเองด้วยความเป็นจริง และภายใน 14 วัน 

 

 


หลังจากการบริจาคเลือดแล้ว หากพบหรือได้รับการยืนยันว่าติดโรคโควิด-19 ผู้บริจาคโลหิตต้องแจ้งให้หน่วยงานที่ไปบริจาคเลือดทราบทันที เพื่อจะได้ดำเนินการกักกันหรือเรียกคืนส่วนประกอบโลหิตกลับมาและไม่นำไปใช้รักษาผู้ป่วยรายอื่น

 

 

 


หายป่วยโควิดแล้ว “บริจาคพลาสมา” ได้นะ


พลาสมาของผู้ที่หายจากโรคโควิด-19 จะมีภูมิต้านทานต่อไวรัส สามารถนำไปใช้เสริมการรักษาผู้ติดเชื้อรายใหม่ มีประโยชน์อย่างมากในการใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวม และมีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ หากได้ให้ตั้งแต่เริ่มแรกจะได้ผลดี

 

 

โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว พบว่าสามารถป้องกันการดำเนินโรคไม่ให้ทรุดลง ทำให้ผู้ป่วยลดการใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งพลาสมาที่ใช้จะต้องมีระดับภูมิต้านทานสูง (1:320 ขึ้นไป) ป้องกันความรุนแรงของโรค โดยยับยั้งไวรัสก่อนที่จะเข้าไปทำลายเซลล์ปอดขั้นรุนแรงได้ และพบว่าเพศชายจะมีคุณสมบัติในการบริจาคพลาสมาได้มากกว่าเพศหญิง เนื่องจาก

 

 

1.มีภูมิต้านทานต่อเชื้อ COVID-19 มากกว่า และรักษาระดับอยู่ในร่างกายนานกว่าเพศหญิง


2.มีเส้นเลือดบริเวณข้อพับแขนชัดเจนกว่าเพศหญิง


3.ความเข้มโลหิตผ่านเกณฑ์มากกว่าเพศหญิง


4.ลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนของผู้รับมากกว่าเพศหญิง

 

 

สนใจบริจาคพลาสมา สอบถามโทร. 0 2256 4300

 

 

 

การบริจาคเลือดก่อนและหลังฉีดวัคซีนโควิด-19

 

บริจาคเลือดก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19


หากไม่มีอาการอ่อนเพลียสามารถฉีดวัคซีนได้ในวันถัดไป ไม่ควรบริจาคโลหิตวันเดียวกับวันที่ฉีดวัคซีนโควิด

 

 

บริจาคเลือดหลังฉีดวัคซีนโควิด-19


กรณีได้รับวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการรับรองจาก อย.เว้น 7 วัน หลีงฉีด

 

 

กรณีมีอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 


ขอให้หายดีก่อนเว้น 7-14 วัน ตามความรุนแรงของอาการ

 

 


การคัดกรองโควิด-19 ก่อน “บริจาคเลือด”


ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทยปรับ มาตรการป้องกันการระบาดของ COVID-19 เพื่อให้ผู้บริจาคโลหิตคัดกรองตนเองก่อนมาบริจาคโลหิต ดังนี้

 

1. คัดกรองและประเมินตนเองก่อนมบริจาคโลหิต เพื่ความปลอดภัยของท่านและส่วนรวม

 


2. กรณีได้รับวัคซีน COVID-19 เว้น 7 วัน บริจาคโลหิตกรณีมีอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน เว้น 7 – 14 วัน บริจาคโลหิตได้

 


3. หากมีความเสี่ยง และมีผลตรวจ RT-PCR เป็นลบ งดบริจาคโลหิต 14 วัน

 


4. หากสัมผัสใกล้ชิดหรือพูดคุยกับผู้ป่วย COVID-19 โดยไม่ใส่หน้ากากอนามัย นานเกิน 5 นาที งดบริจาคโลหิต 28 วัน

 


5. กรณีติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 งดบริจาคโลหิต 28 วัน นับตั้งแต่หายป่วย ไม่มีอาการ

 


6. กรณีมีการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายใน 7 วัน หลังบริจาคโลหิตแจ้งหน่วยงานที่รับบริจาคโลหิตทราบทันที

 

 

 

ใครบริจาคเลือดได้บ้าง?


- อายุตั้งแต่ 17-70 ปี หากอายุ 17 ปีจะต้องได้รับความยินยอมจากครอบครัว หากเป็นผู้บริจาคครั้งแรกไม่ควรอายุเกิน 55 ปี


- มีน้ำหนักตั้งแต่ 45 กิโลกรัมขึ้นไป


- สุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์


- นอนหลับอย่างเพียงพอในคืนก่อนมาบริจาคเลือด คือนอนหลับอย่างน้อย 6 ชั่วโมง

 

- ไม่มีอาการท้องเสีย หรือเป็นไข้หวัด ในช่วง 7 วันก่อนบริจาคเลือด


- ไม่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ ไม่เคยมีการคลอดบุตรหรือแท้งบุตรในช่วย 6 เดือนที่ผ่านมา


- ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักลดลงผิดปกติในช่วง 3 เดือนก่อนบริจาคเลือด


- ไม่เป็นโรคหอบหืด โรคผิวหนังเรื้อรัง หรือภูมิแพ้ต่าง ๆ


- หากมีการทำทันตกรรม เช่น ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน หรือรักษารากฟัน ควรทิ้งระยะห่างก่อนบริจาคเลือดอย่างน้อย 3 วัน


- หากเคยผ่านการผ่าตัดใหญ่จะต้องทิ้งระยะห่างเกิน 6 เดือน หากเป็นผ่าตัดเล็ก ควรทิ้งระยะห่างอย่างน้อย 1 เดือน


- ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ หรือมีคู่ครองที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ


- ไม่มีประวัติการเสพยาเสพติด


- หากเพิ่งพ้นโทษ ต้องทิ้งระยะห่างเกิน 3 ปีจึงจะบริจาคเลือดได้


- หากมีการเจาะหู สัก ลบรอยสัก หรือฝังเข็ม ควรทิ้งระยะห่าง 1 ปี


- หากมีประวัติเคยเจ็บป่วยและเคยได้รับการให้เลือดจากผูู้อื่นจะต้องทิ้งระยะห่าง 1 ปี


- หากมีประวัติป่วยเป็นมาลาเรีย ต้องทิ้งระยะเวลาห่างหลังจากหายจากโรคแล้ว 3 ปี หากเคยเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดจะต้องทิ้งระยะห่างอย่างน้อย 1 ปี


- ต้องไม่เคยได้รับวัคซีนในช่วง 14 วันก่อนบริจาคเลือด หากเคยได้รับเซรุ่มควรทิ้งระยะห่าง 1 ปี

 

 

 

ใครที่บริจาคเลือดไม่ได้?

 

- ผู้ที่มีปริมาณของฮีโมโกลบินไม่เพียงพอ


- สตรีที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์


- ผู้ที่เพิ่งกลับมาจากการเดินทางไปต่างประเทศ


- ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงหรือต่ำผิดปกติ


- ผู้ที่อยู่ในระหว่างการรับประทานยารักษาอาการ


- ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ อาทิ ติดเชื้อเอชไอวี


- ผู้ที่เพิ่งมีการใช้เข็มฉีดยา เจาะร่างกาย หรือสักภายในระยะเวลา 1 ปี

 

 

ทั้งนี้หากมีโรคประจำตัว หรือไม่แน่ใจว่าสามารถบริจาคเลือดได้หรือไม่ ควรสอบถามเจ้าหน้าที่หรือแพทย์ พยาบาลภายในหน่วยบริจาคเลือด โดยจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาคัดกรองของเจ้าหน้าที่

 

 


สรุปแล้ว หากติดเชื้อโควิด-19 ต้องทิ้งช่วงไว้ประมาณ 28 วัน หรือ 4 สัปดาห์ถึงมาบริจาคเลือดได้ และหากพบว่าหลังจากบริจาคเลือดแล้วติดโควิด ต้องรีบแจ้งหน่วยงานที่เราไปบริจาคเลือดทันที สุดท้ายไม่ควรบริจาคโลหิตวันเดียวกับวันที่ฉีดวัคซีนโควิด

 

 

ข้อมูลจาก ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง