แก่ก่อนรวย! ห่วงผู้สูงอายุไทยเงินไม่พอใช้หลังเกษียณ
เป็นที่น่ากังวล หากไทยจะใกล้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น และรายได้หลังเกษียณของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน ถึงตอนนั้นสังคมไทยจะเป็นอย่างไร? คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุจะไปในทิศทางไหน?
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)คาด อีก20ปี ไทยจะมีผู้สูงอายุพุ่งถึง 31% ขณะที่รัฐบาลยก “วาระสูงอายุ” เป็นวาระแห่งชาติ เน้นให้คนแก่ มีงานทำ มีเงินออม สุขภาพดี อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี แต่จะทำได้จริงหรือไม่
เกิดอะไรขึ้นกับสังคมผู้สูงอายุ?
• ปัจจุบัน มีแรงงานอีกกว่า 14.5 ล้านคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบ หรือไม่มีประกันสังคม เมื่อคนกลุ่มนี้มีอายุถึง 60 ปี จะได้รับสิทธิประโยชน์เพียงอย่างเดียว คือ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 600 บาท/คน สวนทางกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
• ปัญหาการออม การลงทุนต่ำ
• การก่อหนี้ในระดับสูง ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิต ทำให้ครัวเรือนต้องนำรายได้ส่วนหนึ่งมาจ่ายหนี้จนไม่มีเงินออม
• คนไทยอายุยืนยาวขึ้น แต่มีเพียง 5% ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุมักประสบอุบัติเหตุภายในบ้าน และสถานที่ที่ทำกิจกรรมบ่อยๆ
• พบผู้สูงอายุจำนวนมากที่อาศัยอยู่ตัวคนเดียวตามลำพัง ไม่มีผู้ดูแล
ปัญหาสังคมสูงวัยที่เกี่ยวข้องกับคนทุกวัย
• จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น เด็กเกิดใหม่ลดลง สัดส่วนแรงงานจึงมีแนวโน้มลดลงด้วย
• คนวัยทำงานจะต้องรับดูแลผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น
• ในอนาคตจะมีแรงงานจ่ายภาษีซึ่งเป็นงบประมาณของประเทศน้อยลง อาจทำให้เกิดวิกฤตทางการคลัง ภาษีอากร และระดับการออมลดลง
• เมื่อผู้สูงอายุมีจำนวนน้อยลงแล้ว คุณภาพของประชากรไทยอาจจะด้อยลงในอนาคต เพราะครอบครัวที่พร้อมมองว่าการมีลูกเป็นภาระ จึงไม่มีลูกหรือมีแค่คนเดียว แต่คุณแม่วัยใสซึ่งท้องโดยไม่พร้อมกลับเพิ่มมากขึ้น
แนวทางอยู่รอดของผู้สูงอายุช่วงเกษียณ
โดยนโยบายเหล่านี้ทางสภาพัฒน์ฯและภาคเอกชนได้เสนอแนวทางส่งถึงรัฐบาลให้หยิบยกแต่ละรูปแบบมาปรับใช้เพื่อสร้างสังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ อาทิ
• เร่งการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต เน้นพัฒนาคนให้มีทักษะสูงให้ทันต่อเทคโนโลยี เสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาตั้งแต่แรกเกิด ส่งเสริมการทำงานของทุกช่วงวัย
• จูงใจให้นักเรียน นักศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงานเร็วขึ้น ส่วนผู้สูงอายุก็ส่งเสริมให้ขยายอายุการเกษียณจาก 60 ปี เป็น 63 ปี รองรับการขาดแคลนแรงงาน
• ส่งเสริมและมีมาตรการบังคับให้คนทำงานมีการออมเงินเพื่อเป็นหลักประกันให้ตัวเองยามชรา หรือตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ ส่งเสริมให้ประชาชนออมต่อเนื่องตั้งแต่วัยหนุ่มสาวไว้ใช้หลังเกษียณ
• ปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้าน ที่อยู่อาศัย อาคาร สวนสาธารณะ และระบบขนส่งให้ปลอดภัย เพื่อรองรับคนชราและผู้พิการ
• รณรงค์ให้คนไทยออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง มีโภชนาการที่เหมาะสม มีความฉลาดรู้ด้านสุขภาพ เพื่อยืดเวลาในช่วงสุขภาพดียาวออกไปมากที่สุด
• สร้างกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้สูงอายุด้วยกัน เช่น จัดตั้งชมรมต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดความโดดเดี่ยว หรืออยู่คนเดียวตามลำพัง
จะเห็นได้ว่า ปัญหาสังคมผู้สูงอายุหลังเกษียณ เป็นเรื่องที่ต้องจับตาและให้ความสนใจ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังขาดการเตรียมพร้อมและขาดมาตรการรองรับที่ครอบคลุมจากภาครัฐ ทำให้คนไทยกลายเป็นคนที่ “แก่ก่อนรวย” แทนที่จะเป็นคนที่ “รวยก่อนแก่”
ก่อนจะถึง 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยต้องสร้างระบบสุขภาพให้คนไทยมีสุขภาพดี มีช่วงเวลาเจ็บป่วยก่อนเสียชีวิตสั้นลงและช่วยกันปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่ให้ปลอดภัยสอดคล้องกับสังคมสูงวัย ที่สำคัญต้องสร้างรากฐานการออมที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขในยามชรา
ข้อมูลจาก สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), งานสัมมนา “สังคมอายุยืน เตรียมตัวรับมืออย่างไร”