รีเซต

สืบจากงา! แมมมอธอายุ 17,000 ปีอาจตายเพราะโลกร้อน?

สืบจากงา! แมมมอธอายุ 17,000 ปีอาจตายเพราะโลกร้อน?
TNN ช่อง16
15 สิงหาคม 2564 ( 15:53 )
372

เราอาจจะคิดว่าแมมมอธตัวใหญ่ยักษ์คงจะเดินทางไปไหนไม่ได้ไกลนัก และนั่นอาจจะทำให้มันมีพื้นที่หาอาหารได้จำกัด และเชื่องช้าจนต้องสูญพันธ์จากการโดนไล่ล่า แต่ผลการศึกษาใหม่ให้ข้อมูลที่น่าตกใจยิ่งกว่า เมื่อพบกว่ามันเคยเดินทางไกลเกือบจะเท่ากับเดินทางรอบโลก 2 รอบ และอาจจะตายเพราะโลกร้อนอีกด้วย

Matthew Wooller นักวิจัยจาก University of Alaska Fairbanks ได้ทำการศึกษาช้างแมมมอธขนยาวเพศผู้ตัวหนึ่ง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อให้ว่า "คิก" (Kik) ซึ่งพวกเขาค้นพบว่ามันได้ไปเยือนหลายพื้นที่ของอลาสก้าในช่วงชีวิตของมัน ซึ่งมันน่าทึ่งมากเมื่อคิดว่าอลาสก้านั้นกว้างใหญ่แค่ไหน

 

ทีมนักวิจัยทำการศึกษาโดยวิเคราะห์สัดส่วนไอโซโทปในงาของเจ้าคิก ซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อ 17,000 ปีก่อน เพื่อทำแผนที่การเดินทางของมัน เนื่องจากงาของช้างแมมมอธนั้นจะมีการสร้างชั้นใหม่เคลือบทับชั้นเก่าในทุกวัน ทำให้สามารถวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีที่อยู่ในเนื้องาแต่ละชั้น ทำให้รู้ว่าสภาพความเป็นอยู่ของมันเป็นอย่างไรบ้าง เปรียบเสมือนไดอารี่จากธรรมชาติที่ช่วยให้นักวิจัยทำงานได้ง่ายขึ้นมากทีเดียว

โดยกลุ่มนักวิจัยนานาชาติได้วิเคราะห์ลักษณะไอโซโทปในงาของแมมมอธตัวนี้ ซึ่งมีความยาว 1.7 เมตร จากธาตุสตรอนเทียมและออกซิเจน จากนั้นจึงทำการเปรียบเทียบข้อมูลดังกล่าวกับผลการวิเคราะห์ฟันของสัตว์ฟันแทะขนาดเล็กจากทั่วรัฐ เพื่อเทียบระดับความความแปรผันของไอโซโทปทั่วรัฐอลาสก้า และพบว่ามันเดินทางมากแล้วกว่า 70,000 กิโลเมตรเป็นระยะทางมากพอที่จะโคจรรอบโลกได้เกือบสองเท่า

อย่างไรก็ตามเจ้าคิกก็ไม่ได้มีชีวิตที่ราบรื่นนัก เพราะจากการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมอย่างกะทันหันเมื่อมันอายุประมาณ 15 ปี ซึ่งหมายความว่ามันอาจจะถูกขับออกจากฝูง และยิ่งในช่วงฤดูหนาวสุดท้ายของชีวิต พบว่ามันหากินอยู่ในบริเวณแคบ ๆ ใกล้กับสถานที่ที่มนุษย์พบซากของมัน นั่นก็คือบริเวณเทือกเขาบรูกส์เรนจ์ (Brooks Range) โดยนักวิจัยคาดว่ามันอาจจะป่วย บาดเจ็บ หรือถูกไล่ล่า จนไม่สามารถเดินทางไปไหนไกลได้ และในงาของมันก็มีไอโซโทปไนโตรเจนที่พุ่งสูงขึ้นมาก ซึ่งหมายถึงมันตายเพราะขาดสารอาหารนั่นเอง


อย่างไรก็ตาม เมื่อทีมวิจัยนำข้อมูลไปเปรียบเทียบกับสภาพอากาศในช่วงเวลาดังกล่าว พบว่าตรงกับช่วงที่จะสิ้นสุดยุคน้ำแข็งพอดี ดังนั้นทีมวิจัยจึงคาดว่าภาวะโลกร้อนทำให้สภาพระบบนิเวศและภูมิประเทศแถบนั้นเปลี่ยนไป ทำให้มันออกหากินได้ยากขึ้น และสุดท้ายก็ต้องตายไปนั่นเอง

การวิจัยครั้งนี้ทำให้เราได้รู้จุดจบที่น่าเศร้าของแมมมอธหนุ่มตัวหนึ่ง แต่ที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือเพื่อนสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ยังคงอยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือของโลกในขณะนี้ เช่น หมีขั้วโลก พวกมันก็กำลังเผชิญกับภาวะโลกร้อนที่อาจจะทำให้พวกมันเสี่ยงต่อการสูญพันธ์เช่นกัน 


ดังนั้นการศึกษาครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่การทำความเข้าใจชีวิตของสิ่งที่สูญพันธุ์ไปแล้วเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อเป็นการทำความเข้าใจและเอามาใช้คาดการณ์อนาคตที่อาจจะเกิดขึ้น หากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องมีจุดจบอันน่าเศร้าเหมือนกับเจ้าคิกนั่นเอง



ขอบคุณข้อมูลจาก

cnet

bbc

youtube

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง