รีเซต

บทเรียน “เหตุกราดยิง” ถึงเวลาเพิ่มโทษนักฆ่าเยาวชน?

บทเรียน “เหตุกราดยิง”  ถึงเวลาเพิ่มโทษนักฆ่าเยาวชน?
TNN ช่อง16
12 ตุลาคม 2566 ( 19:20 )
67

“สิ่งที่น่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่ากฎหมายในการลดอัตราความเสี่ยงของเยาวชนที่จะกระทำผิดกฎหมาย น่าจะเป็นการให้ความสำคัญในการปลูกฝังค่านิยมและวิธีคิด รวมทั้งคุณค่าทางสังคมของเยาวชน ตั้งแต่ในระดับครอบครัวจนถึงโรงเรียนและมหาวิทยาลัย” (ทนายลูกแก้ว)


    เหตุการณ์เด็กชายวัย 14 ปี ก่อเหตุกราดยิงกลางห้างดัง เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมา ทำให้นักท่องเที่ยวหญิงชาวจีนเสียชีวิต 1 คน และหญิงชาวเมียนมาอีก 1 คน รวมเป็น 2 คน นอกจากนี้ยังมีผู้บาดเจ็บทั้งคนไทยและชาวต่างชาติอีกหลายคน นับเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่สร้างผลกระทบทางด้านสังคมเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ก่อเหตุยังเป็นเด็ก ขณะเดียวกัน มีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุ และแรงจูงใจที่ทำให้เด็กชายก่อเหตุรุนแรงขึ้น รวมถึง “บทลงโทษ” ตามกฎหมาย ว่าผู้กระทำผิดจะได้รับโทษอย่างไร เนื่องจากมีพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวฯ คุ้มครองอยู่ สรุปคือเด็กมีความผิด แต่อายุไม่ถึง 15 ไม่ต้องรับโทษอาญา




    ทั้งนี้ พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 4 นิยามว่า “เด็ก” หมายความว่า บุคคลอายุยังไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์ ส่วน “เยาวชน” หมายความว่า บุคคลอายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ หากเป็นกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นเด็กอายุยังไม่เกิน 12 ปี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 73 กำหนดว่า “เด็กอายุยังไม่เกิน 12 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่กรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นเด็กอายุกว่า 12 ปี แต่ยังไม่เกิน 15 ปี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 กำหนดว่า “เด็กอายุกว่า 12 ปีแต่ยังไม่เกิน 15 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการ ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้นแล้วปล่อยตัวไป และถ้าศาลเห็นสมควรจะเรียกบิดา มารดา ผู้ปกครอง มาตักเตือนด้วยก็ได้ และถ้าศาลเห็นว่าสามารถดูแลเด็กได้ จะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กไป โดยวางข้อกำหนดให้ระวังไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนด ซึ่งต้องไม่เกิน 3 ปี และกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควร ซึ่ง บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง จะต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้งละ10,000 บาท ในเมื่อเด็กก่อเหตุร้ายขึ้น และอีกแนวทาง คือ ส่งตัวเด็กไปยังสถานศึกษา หรือสถานฝึกและอบรมทางจิต หรือสถานที่ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก ตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่ไม่ให้เกินกว่าวันที่เด็กนั้นจะมีอายุครบ 18 ปี


ในมุมมองนักกฎหมายมีการแสดงความเห็นเรื่องนี้อย่างหลากหลาย ว่า ถึงเวลาที่จะต้องทบทวน เพื่อแก้ไขกฎหมาย ไม่ให้พิจารณาแค่อายุ แต่ให้พิจารณาจากพฤติการณ์ของการก่อเหตุ เพราะย้อนไปดูคดีอาชญากรรมที่ก่อเหตุโดยอาชญากรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น คดีหลานสาววัย 14 ปี ร่วมแฟนหนุ่มฆ่าปาดคอยาย, คดีเด็กหญิงอายุ 13 ปี และ 15 ปี ร่วมกันก่อเหตุฆาตกรรมเพื่อนโดยจับกดน้ำจนเสียชีวิต, คดีเยาวชนอายุ 16 ปีขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดงชนคนเสียชีวิต เป็นต้น



ผู้เขียนมีโอกาสได้สัมภาษณ์นักกฎหมาย 2 คน ในมุมมองต่อการแก้ไขกฎหมายเพิ่มโทษเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดร้ายแรง คนแรก คือ ทนายลูกแก้ว ศรินทร เลืองวัฒนะวณิช  อุปนายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ และอีกคน คือ นักกฎหมายด้านสิทธิเด็กและเยาวชน เพื่อสะท้อนมุมมองและเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาในเรื่องนี้


-กฎหมายควรเด็ดขาดกับเยาวชนที่กระทำความผิด?


ทนายลูกแก้ว : ส่วนตัวเห็นว่า กฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญที่เป็นหลักที่กำหนดการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข อย่างไรก็ดี บทลงโทษตามกฎหมายอาจไม่ใช่เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันอาชญากรรมของเยาวชน การเพิ่มบทลงโทษกับเยาวชน หรือ การปรับลดอายุของเยาวชนที่ต้องได้รับการลงโทษอาจจะไม่ใช่วิธีการที่มีประสิทธิภาพ ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้เลย คือ เยาวชนอาจยังมีความบกพร่องในการยับยั้งชั่งใจ การแยกแยะเรื่องผิดถูกกฎหมายและศีลธรรม รวมทั้งยังมีความต้องการเป็นที่ยอมรับในกลุ่มเพื่อน จนทำให้เข้าใจผิดว่า ความกล้าหาญในการกระทำความรุนแรงหรือความกล้าหาญในการยุ่งเกี่ยวกับสิ่งของหรือการกระทำที่ผิดกฎหมายเป็นความเท่ และจะทำให้ได้รับการยอมรับจากเพื่อนฝูง สิ่งเหล่านี้มักเป็นส่วนผสมที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มีการกระทำความผิด และระดับความรุนแรงของการลงโทษมักจะไม่ได้เป็นสิ่งที่ผู้กระทำความผิดนำมาคิดตรึกตรองเพื่อประกอบการตัดสินใจลงมือกระทำความผิดเท่าใดนัก


สิ่งที่น่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่ากฎหมายในการลดอัตราความเสี่ยงของเยาวชนที่จะกระทำผิดกฎหมาย น่าจะเป็นการให้ความสำคัญในการปลูกฝังค่านิยมและวิธีคิด รวมทั้งคุณค่าทางสังคมของเยาวชน ตั้งแต่ในระดับครอบครัวจนถึงโรงเรียนและมหาวิทยาลัย การให้โอกาสเยาวชนที่พลาดพลั้งกระทำความผิดให้กลับมามีโอกาสเหมือนเยาวชนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการศึกษา และการเป็นที่ยอมรับในโรงเรียนหรือกลุ่มเพื่อน การถูกพักการเรียน หรือการเข้าไปอยู่ในสถานพินิจ ยิ่งเป็นการลดโอกาสของเยาวชนในการกลับสู่สังคมและมีชีวิตอย่างคนทั่วไป และอาจส่งผลให้เกิดการตีตราเด็ก จนทำให้กลับสู่สังคมปกติไม่ได้ สภาพสังคมอาจจะกดดันเด็ก จนเด็กไม่มีทางเลือก จนต้องเลือกเดินทางที่ผิดเพื่อให้สามารถอยู่ในกลุ่มสังคมที่ตนได้รับการยอมรับ 



นักกฎหมายด้านสิทธิเด็กฯ : การจะไปแก้กฎหมายลงโทษเด็กหรือเยาวชนให้หนักมากขึ้น น่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด เพราะเด็กหรือเยาวชน สภาพสมองและพัฒนาการยังไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่เกิดจากการเลี้ยงดูของครอบครัวในสภาพบริบทสังคมปัจจุบัน ซึ่ง มีการแก่งแย่งแข่งขันกันมากขึ้นด้วย 


การที่จะมาคิดแก้ไขกฎหมายให้ดำเนินการเด็กและเยาวชนอย่างเด็ดขาด หรือลงโทษรุนแรงมากขึ้น  เราต้องคิดทบทวนให้ดีว่า เรากำลังจะแก้ไขปัญหา เด็กหรือเยาวชนอย่างยั่งยืน หรือ เราแค่ต้องการความสะใจ ในการดำเนินคดี เพราะกฎหมายเป็นแค่ ยานพาหนะที่พาเราไปสู่เป้าหมาย ไม่ว่าเครื่องแรงหรือเทคโนโลยีดีขนาดไหน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือคนใช้กฎหมาย การบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย คือคนขับ ลำพังกฎหมายปัจจุบันที่เรามีอยู่นี้ยังไม่ได้ใช้ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ อย่างเต็มประสิทธิภาพ ยังไม่เกิดประสิทธิผล ยังจะสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาใช้งานอีก?


ประเทศเราไม่มีการให้ความรู้อย่างเป็นระบบในเรื่องการ สมรส ไม่มีหลักสูตรบังคับในการวางแผนก่อนมีครอบครัว ขับรถยังต้องมีการอบรมก่อนได้ใบอนุญาต แต่ประเทศไทยไม่มีขั้นตอนดังกล่าว การจะไปคาดหวังให้เด็กหรือเยาวชนเติบโตในประเทศอย่างมีคุณภาพจึงเป็นไปยาก การแก้ไขกฎหมายให้ลงโทษเด็กหนักขึ้นจึงเป็นการแก้ปัญหาแค่ปลายเหตุ เหมือนค่านิยมคนไทยว่าเด็กทำผิดต้องตีหนักๆ แต่ไม่เคยย้อนกลับดูตัวเองว่า ปัญหาเกิดจากตัวผู้ใหญ่หรือไม่ ลำพังกระบวนการทางกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันเกี่ยวกับเรื่องเด็กและเยาวชนยังไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างเต็มที่ด้วยซ้ำ การไปแก้ไขกฎหมาย ให้ลงโทษเด็กและเยาวชนหนักขึ้น หรือ ”เด็ดขาดขึ้น“ จึงไม่เกิดประโยชน์อะไร


-การตีความอาการป่วยทางจิตมีผล หรือ เป็นช่องโหว่ในการรับโทษ?


ทนายลูกแก้ว :ในกฎหมาย เรามีระดับความหนักของการลงโทษ โดยพิจารณาจากเจตนาของผู้กระทำความผิด ผู้ที่ลงมือกระทำความผิดโดยตั้งใจและวางแผนมาก่อน ก็สมควรที่จะได้รับการลงโทษหนักกว่าผู้ที่ทำความผิดโดยความประมาท หรือกระทำความผิดไปเพราะถูกยุยงหรือยั่วให้โกรธ หรือ เพราะความบกพร่องทางจิต กฎหมายได้กำหนดให้เหตุเหล่านี้ เป็นเหตุที่ศาลสามารถพิจารณากำหนดโทษให้ต่ำกว่าระดับผู้ที่กระทำความผิดโดยการวางแผน หรือโดยจงใจได้ ซึ่ง ก็น่าจะตรงกันกับตรรกะของสังคม การเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าช่องโหว่คงไม่ถูกต้อง แต่เรียกว่าเป็นช่องทางให้ศาลกำหนดบทลงโทษไว้ให้เหมาะสมกับสภาวะแห่งจิตของผู้กระทำความผิดในขณะกระทำความผิด 


นักกฎหมายด้านสิทธิเด็กฯ : ปัจจุบันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 และตามแนวการตีความของศาลฎีกาไทย ค่อนข้างมีแนวที่ชัดเจนว่า การจะเป็นคนวิกลจริตได้จะต้องถึงขั้นไม่รู้ตัวโดยสิ้นเชิง


-สถาบันครอบครัวต้องรับผิดชอบต่อการกระทำผิดของเด็ก?


ทนายลูกแก้ว : ต้องแบ่งการรับผิดชอบออกเป็น 2 กรณี คือ กรณีความรับผิดทางแพ่งหรือความรับผิดเป็นตัวเงินนั้น กฎหมายได้กำหนดให้ บิดามารดาหรือผู้ปกครองต้องร่วมกันรับผิดกับบุตรผู้เยาว์ เว้นแต่พ่อแม่ผู้ปกครองจะพิสูจน์ได้ว่าใช้ความระมัดระวังในการดูแลดีแล้ว ส่วนในอืกกรณีหนึ่ง คือความรับผิดในทางอาญาที่มีเป้าหมายในการลงโทษผู้กระทำความผิด ที่ลงโทษโดยการประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ หรือริบทรัพย์สิน กรณีนี้จะลงโทษกับตัวผู้กระทำความผิดโดยตรง พ่อแม่ผู้ปกครองจึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับเด็ก อย่างไรก็ดี การลงโทษเด็กหรือผู้เยาว์มีการกำหนดวิธีการพิเศษไว้เป็นการเฉพาะ ซึ่ง มีความแตกต่างหลากหลายกันไปตามความรุนแรงของพฤติการณ์และฐานความผิด ทั้งนี้โทษประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิตจะไม่นำมาใช้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และเด็กที่อายุไม่เกิน 10 ปี กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษ


    นักกฎหมายด้านสิทธิเด็กฯ :แน่นอนที่สุดว่าสถาบันครอบครัวมีส่วนหลักในการดูแลเด็กและเยาวชน  ให้เติบโตสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ค่านิยมการเลี้ยงดูลูกในอดีต อาจจะไม่สามารถนำมาใช้ได้ในบริบทสังคมปัจจุบัน ปัจจุบันหากเด็กกระทำความผิดพ่อแม่ก็ต้องร่วมรับโทษทางแพ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429  ด้วยหากพิสูจน์ได้ว่า ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังเพียงพอในการดูแล แต่ในส่วนคดีอาญาก็จะต้องดูเป็นกรณีๆไป ว่าพ่อแม่มีส่วนโดยตรงที่ทำให้เกิดเหตุที่เป็นคดีอาญาดังกล่าวขึ้นหรือไม่ 


ก่อนหน้านี้ ตามสื่อต่างๆ มีการเปิดเผยข้อมูลตัวอย่าง การรับโทษกรณีผู้ก่อเหตุกราดยิงเป็นเยาวชนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่ง จะไม่มีการยกเว้นโทษ แม้เป็นเยาวชนก็ต้องได้รับโทษคุมขังในสถานพินิจ หรือในรายที่ทำผิดร้ายแรง แม้อายุ 14 ไม่ถึง 18 ปี ตามที่กำหนด ศาลอาจพิจารณาลงโทษเท่ากับผู้ใหญ่ หากการกระทำผิดนั้นร้ายแรง หรือ กรณี คดี อีธาน ครัมบลีย์ ผู้ต้องหาวัย 15 ปี (ปัจจุบันอายุ 17 ปี) ที่ก่อเหตุกราดยิงที่โรงเรียนในรัฐมิชิแกน ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 คน เมื่อปี 2564 โดย อีธาน ถูกดำเนินคดีแบบผู้ใหญ่ และเมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า อีธานมีสิทธิได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต และคดีดังกล่าวพ่อแม่ถูกดำเนินคดีด้วย


สำหรับแนวทางในการแก้กฎหมายเพิ่มโทษเด็กและเยาวชนในไทย เป็นเพียงแนวคิดที่เริ่มมีการส่งเสียงสะท้อนออกมา ถึงความใจดีของกฎหมายที่อาจทำให้เด็กและเยาวชนที่มีแนวโน้มก่อเหตุรุนแรงในอนาคตอาจก่อเหตุขึ้นได้ เพราะบทเรียนจากหลายคดีที่ผ่านมาจนถึงคดีล่าสุด ผู้ก่อเหตุต่างได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัตินั้น การแก้กฎหมายคงไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องหารือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างระมัดระวังเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนรวมทั้งต้องพิจารณษเรื่องสิทธิมนุษยชนสำหรับเด็กและเยาวชนด้วย 


เรียบเรียงโดย : กาญธิกา มาเรียน อังคณิต           

ข่าวที่เกี่ยวข้อง