รีเซต

องค์กรสิทธิฯ จับตา ปัญหาเฮตสปีช หลัง อีลอน มัสก์ เข้าซื้อทวิตเตอร์สำเร็จ

องค์กรสิทธิฯ จับตา ปัญหาเฮตสปีช หลัง อีลอน มัสก์ เข้าซื้อทวิตเตอร์สำเร็จ
ข่าวสด
26 เมษายน 2565 ( 10:59 )
33

 

องค์กรสิทธิมนุษยชน กังวล ปัญหาเฮตสปีช การใช้คำพูดแสดงความเกลียดชังที่อาจเพิ่มมากขึ้น หลัง อีลอน มัสก์ เข้าซื้อทวิตเตอร์-วางแผนเปลี่ยนทวิตเตอร์ให้เสรีขึ้น

Reuters

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2564 สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานว่า กลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการใช้คำพูดแสดงความเกลียดชัง หรือ “เฮตสปีช” ที่อาจเพิ่มมากขึ้นในอนาคตของโซเชียลมีเดียทวิตเตอร์ หลังจาก นาย อีลอน มัสก์ ได้เข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ ด้วยมูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1,500,000 ล้านบาท

กลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนได้แสดงความกังวลว่า จากการเข้าซื้อกิจการดังกล่าว อาจมอบอำนาจให้นายยมัสก์ สนับสนุนการใช้คำพูดแสดงความเกลียดชังในแพลตฟอร์มทวิตเตอร์มากขึ้นได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ นายมัสก์ ได้ประกาศตนเองว่าเป็น ผู้สนับสนุนเสรีภาพในการพูดอย่างไม่มีขีดจำกัด

Reuters

นาย อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีนักประดิษฐ์ชาวสหรัฐฯ ผู้ก่อตั้งกิจการ เทสลา มอเตอร์ รถยนต์ไฟฟ้าชื่อดัง ได้เปิดเผยตนเองว่าเป็นผู้สนับสนุนเสรีภาพในการพูดอย่างไม่มีขีดจำกัด นายมัสก์ เคยวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการกลั่นกรองเนื้อหาบนแพลตฟอร์มของทวิตเตอร์ โดยให้ความเห็นว่า ทวิตเตอร์จำเป็นต้องเป็นกระดานสนทนาที่เสรีอย่างแท้จริง และนายมัสก์เคยเสนอว่า ทวิตเตอร์ควรจะปรับรูปแบบให้มีเสรีภาพในการพูดมากขึ้น ซึ่งในช่วงเวลาก่อนหน้านี้กรรมการผู้บริหารทวิตเตอร์เคยแสดงท่าทีปฏิเสธข้อเสนอและออกมาตรการเพื่อไม่ให้ นายมัสก์ ซื้อหุ้นของทวิตเตอร์ได้สำเร็จ

Twitter

โดยหลังจากนายมัสก์ ได้บรรลุข้อตกลงในการเข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์แล้ว นาย มัสก์ ได้ทวีตคำกล่าวแถลงการณ์พร้อมอีโมจิ โดยมีใจความว่า เสรีภาพในการพูดเป็นรากฐานของประชาธิปไตยที่ใช้การได้ และทวิตเตอร์เป็นพื้นที่สาธารณะดิจิทัล ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งการอภิปรายประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญต่ออนาคตของมนุษยชาติ ทวิตเตอร์มีศักยภาพมหาศาล จึงอยากจะทำทวิตเตอร์ให้ดีกว่าเดิมด้วยนโยบายต่าง ๆ เช่น เพิ่มคุณสมบัติใหม่ เปิดอัลกอริทึมให้เป็นโอเพนซอร์สเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่น จัดการกับปัญหาบอทสแปม การยืนยันตัวตนผู้ใช้งาน เป็นต้น

Amnesty International

ขณะเดียวกัน เดโบราห์ บราวน์ นักวิจัยอาวุโสและผู้สนับสนุนด้านสิทธิดิจิทัล จากองค์กรฮิวแมนไรตส์วอตช์ เปิดเผยความคิดเห็นกับสำนักข่าวรอยเตอร์ โดยระบุว่า ทวิตเตอร์ไม่ได้เป็นเพียงบริษัทธรรมดาทั่วไป ไม่ว่าใครก็ตามที่จะเป็นเจ้าของกิจการทวิตเตอร์ ทวิตเตอร์ก็ยังมีบทบาทความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชนในการเคารพสิทธิของคนทั่วโลก บนโลกที่พึ่งพาแพลตฟอร์มการเปลี่ยนแปลงนโยบาย คุณสมบัติ และอัลกอริธึม ไม่ว่าจะใหญ่หรือเพียงเล็กน้อยก็สามารถสร้างผลกระทบที่ไม่ได้สัดส่วนและบางครั้งอาจเกิดความเสียหายที่ใหญ่หลวง รวมถึงอาจส่งผลให้เกิดความรุนแรงในโลกนอกจอได้ "

“เสรีภาพในการแสดงออกไม่ใช่สิทธิเด็ดขาดสมบูรณ์ จึงเป็นเหตุผลที่ทวิตเตอร์จำเป็นต้องลงทุนในความพยายามที่จะรักษาผู้ใช้งานทวิตเตอร์ที่มีความเปราะบางให้ได้รับความปลอดภัยมากที่สุด” เธอกล่าวเสริม อย่างไรก็ตาม ทวิตเตอร์ยังไม่ได้ตอบสนองต่อความกังวลของกลุ่มสิทธิมนุษยชน

Amnesty International

"ในขณะที่ อีลอน มัสก์ เป็นสมาชิกสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน และเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนที่สำคัญที่สุดของสหภาพฯ แต่ก็ยังเป็นอันตรายมากมายที่อำนาจมหาศาลตกอยู่ในมือของคนเพียงคนเดียว" นาย แอนโทนี่ โรเมโร กรรมการบริหารของสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกันกล่าวกับรอยเตอร์ หลังจากมีการประกาศบรรลุซื้อขายกิจการ

ด้านองค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า องค์กรมีความกังวลในทุกด้านที่เกี่ยวกับการตัดสินใจของทวิตเตอร์ ที่อาจถูกใช้หลังจากการครอบครองทวิตเตอร์ของนายมัสก์ โดยเฉพาะการบั่นทอนการบังคับใช้นโยบายและกลไกที่ออกแบบมาเพื่อลดการใช้คำพูดแสดงความเกลียดชังในโลกออนไลน์

"เราไม่ต้องการทวิตเตอร์ที่จงใจมองข้ามคำพูดที่รุนแรงและไม่เหมาะสมต่อผู้ใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างไม่สมส่วนมากที่สุด เช่น ผู้หญิง บุคคลนอน-ไบนารี และอื่นๆ" นาย ไมเคิล ไคลน์แมน ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีและสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐฯ กล่าว

Reuters

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง