รีเซต

จีนเตรียมส่งดาวเทียม 10,000 ดวง หวังแข่งขันด้านอวกาศกับ Starlink

จีนเตรียมส่งดาวเทียม 10,000 ดวง หวังแข่งขันด้านอวกาศกับ Starlink
TNN ช่อง16
3 มิถุนายน 2567 ( 12:30 )
27
จีนเตรียมส่งดาวเทียม 10,000 ดวง หวังแข่งขันด้านอวกาศกับ Starlink

ณ เดือนเมษายน 2024 ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมอย่างสตาร์ลิงก์ (Starlink) ของเจ้าพ่อเทคโนโลยีอย่างอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศไปแล้ว 5,874 ดวง โดยเป้าหมายของสตาร์ลิงก์คือจะเพิ่มดาวเทียมให้มากถึง 42,000 ดวงในวงโคจรโลกต่ำ เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตราคาประหยัดแก่สถานที่ห่างไกลทั่วโลก


แต่ตอนนี้ การแข่งขันกำลังค่อย ๆ สูงขึ้น ล่าสุดบริษัทด้านคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์สัญชาติจีนอย่าง เซี่ยงไฮ้ หลานเจียน หงชิง เทคโนโลยี (Shanghai Lanjian Hongqing Technology) หรือ หงจิง เทคโนโลยี (Hongqing Technology) ได้ทำการยื่นเอกสาร Advance Publication Information (API) หรือเป็นเอกสารที่ต้องแจ้งหากต้องการเปิดตัวเครือข่ายหรือระบบดาวเทียม ต่อสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union หรือ ITU) เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อส่งกลุ่มดาวเทียมหงหู-3 (Honghu-3) ซึ่งประกอบด้วยดาวเทียม 10,000 ดวง ขึ้นไปยังอวกาศ โดยจะกระจายอยู่ในระนาบวงโคจร 160 ระนาบ เป้าหมายคือเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกำหนดเวลาว่าจะปล่อยเมื่อใด


แผนกลุ่มดาวเทียมหงหู ถือเป็นความคิดริเริ่มหลักแผนที่ 3 ของจีน ในการติดตั้งเครือข่ายดาวเทียมขนาดใหญ่บนอวกาศ ก่อนหน้านี้มีอีก 2 แผน คือ แผนกั๋วหวางแห่งชาติ (National Guowang Plan) และ แผน G60 Starlink ที่ได้รับการสนับสนุนจากเซี่ยงไฮ้ (แนวคิดคล้าย ๆ กับ Starlink แต่อยู่ภายใต้หน่วยงานของจีน) ซึ่งโครงการเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ของจีนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านอวกาศ และสร้างตำแหน่งผู้นำในตลาดอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม


ความกังวลด้านดาราศาสตร์

แน่นอนว่าเมื่อการแข่งขันด้านการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมสูงขึ้น แปลว่าจะมีดาวเทียมบนวงโคจรโลกมากขึ้น ซึ่งก็นำไปสู่ข้อกังวลด้านอวกาศ โดยนักดาราศาสตร์กังวลว่า ความสว่างของกลุ่มดาวเทียมจะทำให้เกิดการสะท้อนแสงจนเป็นอุปสรรคต่อการสำรวจดวงดาวในจักรวาล ทำให้การถ่ายภาพจักรวาลเป็นเรื่องยากขึ้น รวมไปถึงเมื่อดาวเทียมเพิ่มมากขึ้น ก็จะเกิดความเสี่ยงของการชนกันในวงโคจรโลกต่ำ นอกจากจะเสียหายแล้ว ก็จะเป็นการเพิ่มเศษซากอวกาศด้วย


ที่มาข้อมูล SpacenewsInterestingEngineering

ที่มารูปภาพ Freepik

ข่าวที่เกี่ยวข้อง