รีเซต

วิจัยพบเลเซอร์ความเข้มข้นต่ำ เคลียร์ปัญหาหัวล้านจากพันธุกรรม ได้ผลใน 6 เดือน

วิจัยพบเลเซอร์ความเข้มข้นต่ำ เคลียร์ปัญหาหัวล้านจากพันธุกรรม ได้ผลใน 6 เดือน
TNN Health
8 ตุลาคม 2564 ( 16:24 )
163

“เมื่อใดที่ผมร่วงมากกว่าวันละ 70 – 100 เส้น นั่นคือสัญญาณ “ผมร่วงผิดปกติ” ที่ควรใส่ใจและรีบปรึกษาแพทย์”


ล่าสุดนับเป็นข่าวดีสำหรับผู้มีปัญหาผมบาง ผมร่วง ศีรษะล้าน เป็นอาการที่บั่นทอนความมั่นใจ และคุณภาพชีวิตของหลายคน ไม่ว่าหญิง ชาย คนหนุ่มสาว หรือสูงวัย หลัง ‘รศ.ดร.พญ.รัชต์ธร' ปัญจประทีป หัวหน้าศูนย์โรคเส้นผมและหนังศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหานี้อย่างถึงราก


จากการศึกษาวิจัย “การใช้เลเซอร์ความเข้มข้นต่ำกระตุ้นหนังศีรษะสร้างเส้นผม เพื่อแก้ปัญหาสำหรับผู้ที่มีอาการผมร่วงที่เกิดจากพันธุกรรม” ซึ่งมีประสิทธิภาพกระตุ้นหนังศีรษะ และสร้างเส้นผมได้ผลดีใน 24 สัปดาห์!


รศ.ดร.พญ.รัชต์ธร กล่าวว่า ผมบางและผมร่วงจากพันธุกรรม มีลักษณะแตกต่างจากผมบางที่เกิดจากภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ (Abnormal immune system) หรือ (Alopecia Areata) ที่ทำให้เกิดผมร่วงเป็นหย่อมกลมๆ มีขนาดเท่าเหรียญ 10 บาทอยู่บริเวณหนังศีรษะ การรักษาด้วยเลเซอร์ความเข้มข้นต่ำนั้น เป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดีและรวดเร็ว 2 รูปแบบ คือ


1. หมวกหรือหวีเลเซอร์ปลูกผม เป็นอุปกรณ์เสริมมีลักษณะเป็นหมวกหรือหวีปลูกผม ที่ปล่อยแสงเลเซอร์สีแดง Low-level laser therapy (LLLT) กระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างรากผมแบบเบาๆ เหมาะกับ ผู้ที่มีปัญหาผมบางในระยะเริ่มต้นถึงปานกลาง ใช้อุปกรณ์นี้ต่อเนื่องเป็นเวลา 15 -20 นาทีต่อวัน จะทำให้เส้นผมและรากผมแข็งแรงขึ้น เกิดเส้นผมใหม่และเส้นผมหนาขึ้น


2. แสงเลเซอร์พลังงานต่ำ ที่ปรับจากเลเซอร์ที่ใช้ในการกำจัดขนส่วนเกินต่างๆ ให้เป็นเลเซอร์พลังงานต่ำ นำไปกระตุ้นรากผมทั่วหนังศีรษะ


“การรักษาด้วยการใช้แสงเลเซอร์พลังงานต่ำนี้ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีภาวะผมบางในระยะเริ่มต้น คือ มีอาการน้อย-ปานกลาง ไม่เหมาะกับคนที่มีอาการมาก หรือหนังศีรษะล้านแล้ว คนไข้ควรทำเลเซอร์ต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 5-10 ครั้ง ห่างกันทุก 2 สัปดาห์ ระยะเวลาที่เริ่มเห็นผลคือ 5 ครั้งหลังจากเริ่มทำเลเซอร์ และจะเห็นผลชัดเจน 3 เดือน คนไข้มีผมงอกใหม่และเส้นผมแข็งแรงขึ้น” รศ.ดร.พญ.รัชต์ธร กล่าว


ทั้งนี้ งานวิจัยนี้นับเป็นงานวิจัยชิ้นแรกในเอเชีย ที่ได้รับการยืนยันประสิทธิภาพ กระบวนการรักษาปัญหาโรคผมร่วงจากพันธุกรรม และสามารถคว้ารางวัลสูงสุด Platinum Follicle Award 2019 จากสมาคมศัลยกรรมปลูกผมนานาชาติ (International Society of Hair Restoration Surgery (ISHRS)

—————

ที่มา: คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง