รีเซต

ส่องนวัตกรรมเพื่อสัตว์โลก |TNN Tech Reports

ส่องนวัตกรรมเพื่อสัตว์โลก |TNN Tech Reports
TNN ช่อง16
11 ธันวาคม 2566 ( 16:30 )
34
ส่องนวัตกรรมเพื่อสัตว์โลก |TNN Tech Reports



เทคโนโลยีไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่มนุษย์เพียงอย่างเดียว แต่ยังถูกนำมาใช้สำหรับดูแลสัตว์โลก และสัตว์เลี้ยงด้วย โดยเฉพาะในยามที่เจ้าของบ้านไม่อยู่ นวัตกรรมและเทคโนโลยี ก็จะกลายเป็นสิ่งที่เข้ามาทำหน้าที่ทดแทน 


หรือแม้กระทั่งสัตว์ป่า สัตว์ที่อยู่ตามสิ่งแวดล้อม ก็มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการศึกษา เฝ้าระวัง ดูแลความปลอดภัยโดยไม่กระทบกับความเป็นอยู่ของสัตว์เหล่านี้ 


ปะการังเทียมดูดซับความร้อนใต้ทะเล


การออกแบบโครงสร้างปะการังเทียมใต้น้ำที่ชื่อว่า นีเรียดส์ (Nereids) มีแนวคิดเพื่อช่วยดูดซับความร้อนโดยรอบ ทำให้ท้องทะเลบริเวณนั้นเย็นขึ้น เป็นฝีมือนักออกแบบผลิตภัณฑ์ชาวอิสราเอล “ซันนี่ ลัสทอฟ” (SUNNY LUSTOV) ตั้งเป้าช่วยบรรเทาปัญหาอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน ที่สัตว์น้ำและปะการังใต้ท้องทะเลต้องเผชิญ 


โดยหน้าตาคล้ายกับเสาทรงตรงที่มีแผ่นเจลบาง ๆ ลักษณะคล้ายเห็ดสีขาวติดตั้งอยู่ทั่วทั้งต้น แต่ละโครงสร้าง ประกอบด้วยไฮโดรเจลที่ตอบสนองต่อความร้อนและเข้ากันได้ทางชีวภาพที่เรียกว่า นีป้า (NIPA) ซึ่งเมื่อเจอกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น ตัวเจลจะเปลี่ยนสถานะไป จะเกิดการดูดซับความร้อน ทำให้หน้าตาของตัวเจลเปลี่ยนแปลงไป จากเจลใส ๆ ก็จะมีลักษณะสีขาวขุ่นขึ้น และหดตัวลง


โดยการระบายความร้อนอาศัยการทำงานร่วมกัน 2 ส่วน 


  1. 1. การระบายความร้อนแบบแอคทีฟของเจลเอง โดยนักวิจัยระบุว่าแต่ละกรัมของนีป้า มีความสามารถในการทำให้น้ำ 10 กรัม เย็นลง 1 องศาเซลเซียส
  2. 2. จะใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของเจลตามธรรมชาติ เพราะในอุณหภูมิปกติ ตัวแผ่นเจลจะเปิดให้น้ำไหลผ่านได้อย่างอิสระ และเมื่อได้รับความร้อน มันจะหดตัวและพับห่อหุ้มน้ำเย็นไว้ภายใน  ตัวโครงสร้างนี้ ก็จะกลายเป็นเหมือนภาชนะเก็บความเย็น ที่ช่วยรักษาอุณหภูมิที่สมดุลให้กับบริเวณโดยรอบ


อย่างไรก็ตาม โครงสร้างนี้ก็ยังเป็นเพียงผลงานออกแบบและแนวคิดเบื้องต้นเท่านั้น


แอปพลิเคชันระบุตัวตนสัตว์เลี้ยงจาก “รอยพิมพ์จมูก”


นวัตกรรมเพื่อสัตว์เลี้ยงนี้ เป็นผลงานจากเพ็ตนาว (Petnow) บริษัทจากเกาหลีใต้ กับการพัฒนาแอปพลิเคชันระบุตัวตนสัตว์เลี้ยงจาก “รอยพิมพ์จมูก” โดยเฉพาะสุนัข และแมว เพื่อหวังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการทดแทนการฝังไมโครชิป การติดแท็ก ไปจนถึงการใส่ปลอกคอ


โดยปกติแล้วจมูกของสุนัขจะมีลักษณะบ่งชี้ที่คล้ายคลึงกับลายนิ้วมือของมนุษย์ ผู้พัฒนาจึงเอาจุดนี้มาสร้างเป็นฐานข้อมูลไบโอเมตริกซ์ (Biometric) หรือฐานข้อมูลจากลักษณะเฉพาะทางชีวภาพของสัตว์เลี้ยงแต่ละตัว 


ซึ่งบริษัทมองว่า วิธีการนี้จะช่วยให้เก็บข้อมูลและระบุตัวตนของสัตว์เลี้ยงได้ง่ายขึ้น โดยเคลมว่าตัวแอปฯ สามารถระบุตัวตนสัตว์เลี้ยงได้แม่นยำอยู่ที่ 98% 


สำหรับการทำงานของแอปฯ สำหรับสุนัข เจ้าของเพียงแค่ถ่ายภาพหน้าตรงเห็นจมูกไว้ จากนั้นปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะทำหน้าที่ประมวลผลและเก็บข้อมูลของสัตว์เลี้ยงตามที่เรากรอกไว้ ผูกเข้ากับภาพรอยพิมพ์จมูก

สำหรับแมว จะใช้ระบบจดจำจากใบหน้าแทน เนื่องจากจมูกของมันอาจเล็กเกินกว่าจะระบุตัวตนได้ 


หลังจากใช้แอปฯ สแกนไปที่จมูก หรือใบหน้าของสัตว์เลี้ยงครั้งต่อไป เราก็จะทราบข้อมูลเช่น ชื่อ วันเกิด อายุของสัตว์เลี้ยง  รวมถึงสามารถใช้แอปฯ เดียวกันแจ้งสัตว์หาย หรือเมื่อพบเจอสัตว์ที่หายไปได้ด้วย


โดรนบินติดแท็กวาฬ


นวัตกรรมนี้ถือเป็นความพยายามของทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ที่ได้ทดสอบการติดตามวาฬด้วยวิธีใหม่ คือ การใช้โดรนบินเพื่อติดเครื่องมือติดตาม เพื่อลดความเสี่ยงจากการที่มนุษย์ต้องไปเข้าใกล้วาฬ และลดการรบกวนวาฬจากการติดแท็กด้วยวิธีเดิม


สำหรับขั้นตอนการติดแท็กหรือเครื่องมือติดตามแบบใหม่นี้ จะใช้โดรนบินไร้คนขับบินนำแท็กเข้าไปใกล้วาฬ ขณะที่วาฬว่ายน้ำขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ ก่อนติดแท็กที่มีตัวดูดเข้ากับด้านหลังของวาฬ 


ซึ่งจากการดำเนินการทดสอบภาคสนาม 8 วัน ในน่านน้ำรอบ ๆ อุทยานแห่งชาติโลเรโต เบย์ (Loreto Bay National Park) ในประเทศเม็กซิโก ทีมนักวิจัยได้ใช้โดรนบินติดตั้งแท็กบนตัววาฬจำนวน 29 ครั้ง ทำสำเร็จถึง 21 ครั้ง และใช้เวลาเฉลี่ยในการติดแท็กแต่ละครังเพียง 2 นาที 45 วินาที 


การทดสอบนี้ ตั้งเป้าให้เกิดการสนับสนุนการใช้อากาศยานไร้คนขับเพื่อเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการติดแท็กวาฬขนาดใหญ่ ที่ว่ายน้ำอย่างอิสระและทำได้จากระยะทางไกลในช่วงเวลาสั้น ๆ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการติดแท็ก รวมถึงช่วยลดการรบกวนวาฬ และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับวาฬและคนได้


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง