เช็กสิทธิ ประกันสังคมอัปเดตเพิ่มเติม เยียวยาโควิด-19 ระลอกใหม่
ในสถานการณ์ที่โควิด-19 ระบาดหนักอย่างต่อเนื่องทำให้หลายคนที่ประกอบธุรกิจ หรือลูกจ้าง ได้รับผลกระทบจากการสั่งปิดสถานที่หรือมาตรการควบคุมการระบาดจากทางสาธารณสุข จนทำให้ขาดรายได้ รวมถึงผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันกระทรวงแรงงานได้ประสานไปยังสำนักงานประกันสังคมเพื่อเตรียมมาตรการเยียวยาให้กับลูกจ้าง และพร้อมให้การดูแลผู้ประกันตนรับสิทธิว่างงานเหตุสุดวิสัย มีอะไรอัพเดทบ้างไปดูกัน
ประกันสังคมช่วยเหลือลูกจ้างโควิดระลอกใหม่
สำหรับผู้ประกันตน ที่สถานประกอบการถูกสั่งปิดชั่วคราวจากโควิด
ความช่วยเหลือแก่ลูกจ้างโดยเฉพาะพนักงานหน้าร้าน ในกรณีภาครัฐสั่งปิดสถานประกอบการชั่วคราวเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 มีประกาศห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้านค้าและอนุญาตให้นำกลับไปรับประทานที่บ้านนั้น ซึ่งส่งผลให้พนักงานที่บริการหน้าร้านต้องหยุดงานชั่วคราว
กระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ซึ่งระบุว่า ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่จะได้รับสิทธิดังกล่าว โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
1.ต้องส่งเงินสมทบครบ 6 เดือนใน 15 เดือน
2.ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานเนื่องจากต้องกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น หรือลูกจ้างไม่ได้ทำงานเนื่องจากนายจ้าง หยุดประกอบกิจการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนเนื่องจากทางราชการมีคำสั่งให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ โควิด-19 ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ
3. ผู้ประกันตนไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้นมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน
สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอีเว้นท์และที่เกี่ยวข้อง
ประเภทกิจการภาครัฐไม่ได้สั่งให้ปิด แต่ส่วนใหญ่ต้องปิดกิจการ เพราะไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่อไปได้ นอกจากนั้นยังมองไม่เห็นว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติได้เมื่อไหร่
มีแนวทางการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยตามกฎกระทรวงแรงงาน การได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ.2563 (เพิ่มเติม) มีเงื่อนไข ดังนี้
1.ทางราชการมีคำสั่งให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว โดยสั่งให้ปิด หรือห้าม หรืองดใช้สถานที่ เช่น สถานที่จัดนิทรรศการ ศูนย์การแสดงสินค้า ศูนย์ประชุม สถานที่ให้บริการห้องประชุม ห้องจัดเลี้ยง สถานที่จัดเลี้ยง รวมถึงสถานที่อื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน ทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการในสถานที่ดังกล่าวได้ เช่น ประเภทกิจการที่มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย การจัดประชุม การจัดสัมมนา การจัดเลี้ยงทั้งในและนอกสถานที่ หรือกิจกรรมอื่นในลักษณะเดียวกันที่กระทำในสถานที่นั้นๆ
2.ระยะเวลาการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย ให้พิจารณาจากการปิด หรือห้าม หรืองดใช้สถานที่โดยให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือจังหวัด หรือคำสั่งของทางราชการที่มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตรายกำหนด ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง คราวละไม่เกิน 90 วัน
3.ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างรับรอง ในประเด็นที่นายจ้างไม่ได้ประกอบกิจการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวตามคำสั่ง/ประกาศของทางราชการ โดยลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น
ขั้นตอนขอรับสิทธิเงินทดแทนกรณีว่างงาน
1.ผู้ประกันตนต้องดำเนินการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนโดยกรอกแบบขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01/7) พร้อมเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้และแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของตนเอง
2.นำส่งให้นายจ้างรวบรวมแบบฯ เพื่อบันทึกข้อมูลลูกจ้างตามแบบฯ สปส.2-01/7 และหนังสือรับรองการ หยุดงานกรณีราชการสั่งปิด/กรณีกักตัว (นายจ้างที่ใช้ระบบครั้งแรกต้องลงทะเบียนเพื่อใช้ระบบก่อน)
3.เมื่อนายจ้างบันทึกข้อมูลลูกจ้างเสร็จสิ้นให้นำส่งแบบฯ และหนังสือรับรองในระบบ e-Service ส่งมายังสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ทางไปรษณีย์ (ลงทะเบียน) ภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่บันทึกข้อมูลในระบบ e-Service บน www.sso.go.th
ทั้งนี้นายจ้างผู้ประกันตน มีข้อสงสัยติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/ จังหวัด/สาขา ที่ท่านสะดวกหรือผ่านโทรศัพท์สายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง
อัพเดทมาตรการเยียวยาจากประกันสังคมเพิ่มเติม
จ่ายเงินทดแทน 50% ในกรณีว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19
กองทุนประกันสังคมจะจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (ชั่วคราว) จากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 ในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายงาน หรือสูงสุดไม่เกิน 7,500 บาทต่อเดือน โดยผู้ประกันตนมีสิทธิ์ได้รับเงินทดแทนดังกล่าวไม่เกิน 90 วันภายในระยะเวลา 1 ปี สำหรับเงื่อนไขเป็นดังนี้
1.เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 (ลูกจ้าง) ที่ส่งเงินสมทบครบ 6 เดือน ภายใน 15 เดือนย้อนหลัง
2.ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนอย่างใดอย่างหนึ่งจากไวรัสโควิด-19 ได้แก่ ต้องกักตัวเพื่อเฝ้าระวังการระบาดของโรค หรือนายจ้างต้องหยุดกิจการ เนื่องจากคำสั่งของราชการ
3.ลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น
จ่ายเงินทดแทน 70% กรณีว่างงานปกติ เนื่องจากถูกเลิกจ้าง
กรณีว่างงาน เพราะถูกเลิกจ้าง ประกันสังคม มาตรา 33 จะได้รับเงินชดเชย 70% ของค่าจ้างรายวัน ปีละไม่เกิน 200 วัน จากเดิมกองทุนฯ จ่ายเงินชดเชย 50% ของค่าจ้าง เป็นเวลา 180 วันต่อปี
จ่ายเงินทดแทน 45% กรณีว่างงานปกติ เนื่องจากลาออก
กรณีว่างงาน เพราะลาออก ผู้ประกันตนมาตรา 33 จะได้รับเงินชดเชย 45% ของค่าจ้างรายวัน ปีละไม่เกิน 90 วัน จากเดิมจะได้รับเงินชดเชย 30% ไม่เกินปีละ 90 วัน
ดึง “มาตรา 33” หลุดระบบ สมัครเป็นมาตรา 39
ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ส่งเงินสมทบกองทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และความเป็นผู้ประกันตนได้สิ้นสุดลง เนื่องจากสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 หากประสงค์อยู่ในระบบ ประกันสังคม ต่อ สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 (ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ) ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564
ขยายเวลาส่งเงินสมทบ “มาตรา 39”
ผู้ประกันตนมาตรา 39 และผู้ประกันตนที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนด้วยสาเหตุ 1.ไม่ส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน และ 2. ภายในระยะเวลา 12 เดือน ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน ได้รับการขยายระยะเวลานำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม สำหรับเงินสมทบที่ต้องนำส่งประจำงวดเดือนมีนาคม 2563 ถึงงวดเดือนพฤษภาคม 2564 โดยให้นำส่งภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2564
ข้อมูลจาก รัฐบาลไทย , thebangkokinsight
ข่าวที่เกี่ยวข้อง