รีเซต

'ดีอีเอส'​ เล็งหารือ 'กสทช.'​ เสนอบอร์ดดีอี ใช้งบยูโซ่ อุดหนุนการนำสายสื่อสารลงดินใน กทม.

'ดีอีเอส'​ เล็งหารือ 'กสทช.'​ เสนอบอร์ดดีอี ใช้งบยูโซ่ อุดหนุนการนำสายสื่อสารลงดินใน กทม.
มติชน
15 มิถุนายน 2563 ( 17:57 )
269
'ดีอีเอส'​ เล็งหารือ 'กสทช.'​ เสนอบอร์ดดีอี ใช้งบยูโซ่ อุดหนุนการนำสายสื่อสารลงดินใน กทม.

‘ดีอีเอส’​ เล็งหารือ ‘กสทช.’​ เสนอบอร์ดดีอี ใช้งบยูโซ่ อุดหนุนการนำสายสื่อสารลงดินใน กทม.

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผย​ว่า ในการประชุมหารือการนำสายสื่อสารลงใต้ดินพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในเส้นทางที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ไม่มีการรื้อถอนเสาไฟฟ้าและไม่มีสภาพบังคับ โดยมีผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมด้วย ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บริษัท​ ทีโอที จำกัด (มหาชน)​ และรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ข้อสรุปว่า ในส่วนของ ทีโอที สามารถดำเนินการได้ทันทีในส่วนของ 12 เส้นทางแรก ระยะทาง 48.7 กิโลเมตร ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีการก่อสร้างหรือขออนุญาตขุดเจาะพื้นผิวจราจร

 

ขณะที่ ในพื้นที่อื่นๆ ของทีโอที ซึ่งรายงานว่ามีระยะทางราว 2,500 กิโลเมตรที่มีท่อร้อยสายใต้ดินอยู่แล้ว แต่อาจจำเป็นต้องมีการขออนุญาต กทม. เพื่อขุดเจาะพื้นผิวจราจรบางส่วน เพื่อสร้างจุดเชื่อมต่อสายจากใต้ดินขึ้นมาสู่พื้นดินตรงหน้าริมฟุตบาท (ไรเซอร์) สำหรับเชื่อมไปยังอาคารบ้านเรือนผู้ใช้งาน ก็จะมีการเจรจากับ กทม. เป็นพื้นที่ๆ ว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ อย่างไรต่อไป

สำหรับการประชุมหารือในวันนี้ เพื่อให้เกิดการดำเนินการนำสายโทรคมนาคมลงดินตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือนมกราคม 2562 ที่ให้ กทม.ดำเนินการในพื้นที่กทม.ทั้งหมด เพื่อให้เมืองมีทัศนียภาพสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่รกรุงรัง อีกทั้งสอดคล้องกับที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 ซึ่งมีมติให้กรุงเทพมหานครจัดทำแผนการดำเนินงาน มาตรการและกลไกในการขับเคลื่อนการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร

 

“เดิมเตรียมใช้การประชุมวันนี้เพื่อเสนอ กทม. โดยอิงกับมติ ครม. และมติบอร์ดดีอีก่อนหน้านี้ ว่าอยากให้ กทม. และทีโอที ร่วมกันสำรวจเส้นทางโดยต้องอิงกับการใช้งานจริง เพื่อไม่ลงทุนทับซ้อนกันในพื้นที่ซึ่งมีท่อร้อยสายพร้อมใช้งานอยู่แล้ว เพื่อผลักดันให้ทั้งคู่เดินหน้าต่อไปได้ เพราะตามมติ ครม. มีระบุว่า การทำต้องไม่ทำในที่ทับซ้อน”  นายพุทธิพงษ์ กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ยืนยันในที่ประชุมว่า กทม. มีการลงนามว่าจ้างบริษัทผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินโครงการนี้แล้ว และมีการทำ pilot project ในบางเส้นทาง อีกทั้งมีความจำเป็นที่ต้องจัดหาเทคโนโลยีและเงื่อนไขที่สอดคล้องกับแผนงานของ กทม. ดังนั้น จึงต้องพับแนวคิดการลงสำรวจพื้นที่ร่วมกัน

 

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า แนวทางที่มีความเป็นไปได้เพื่อเร่งให้เกิดการดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารลงใต้ดิน จะมีการหารือกับ กสทช. เพื่อขอให้สนับสนุนด้วยการใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือยูโซ่ มาสนับสนุน เพื่อสร้างแรงจูงใจผู้ให้บริการโทรคมนาคม (โอเปอเรเตอร์) ดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน โดยไม่จำกัดว่าต้องใช้บริการจากเจ้าของท่อร้อยสายรายใด

 

เนื่องจากที่ผ่านมา มีประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายในเรื่องการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน และอัตราค่าเช่าใช้บริการท่อร้อยสายใต้ดินตามประกาศของ กสทช. ในอัตรา 9,650 บาทต่อเดือน ซึ่งผู้ให้บริการโทรคมนาคมยังมองว่าราคาสูงเกินไป

 

“หากได้ข้อสรุปร่วมกับ กสทช. ว่าจะสามารถนำเงินจากกองทุนยูโซ่ ไปช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่ายส่วนนี้ราว 50% หรือตัวเลขใดที่เหมาะสม ผมก็พร้อมจะนำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดดีอีในครั้งต่อไป เพื่อให้ทุกฝ่ายเดินหน้าได้” นายพุทธิพงษ์กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม หลังการประชุมวันนี้ ได้มีการเดินทางร่วมกับทีโอที และ กสทช. ลงพื้นที่ตรวจสอบเส้นทางระยะที่ 1 ที่สามารถร้อยสายได้เลย บริเวณถนนอโศกมนตรีตั้งแต่ถนนสุขุมวิทถึงถนนเพชรบุรี ระยะทาง 1.7 กิโลเมตร รวมทั้งสองฝั่งระยะทาง 3.4 กิโลเมตร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง