รีเซต

NASA เลือก SpaceX สร้างยานนำสถานีอวกาศนานาชาติ ISS กลับลงมาเผาไหม้ในบรรยากาศโลก

NASA เลือก SpaceX สร้างยานนำสถานีอวกาศนานาชาติ ISS กลับลงมาเผาไหม้ในบรรยากาศโลก
TNN ช่อง16
30 มิถุนายน 2567 ( 11:53 )
27
NASA เลือก SpaceX สร้างยานนำสถานีอวกาศนานาชาติ ISS กลับลงมาเผาไหม้ในบรรยากาศโลก

องค์การนาซาประเทศสหรัฐอเมริกา เลือกบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ทำสัญญามูลค่า 843 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 30,954 ล้านบาท เพื่อพัฒนายานอวกาศสำหรับใช้ทำภารกิจส่งสถานีอวกาศนานาชาติ ISS กลับเข้าชั้นบรรยากาศโลกและเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศอย่างปลอดภัย โดยคาดว่าชิ้นส่วนของสถานีอวกาศที่เผาไหม้ไม่หมดจะตกลงสู่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ตามแผนการปลดประจำการสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ภายในปี 2030 ซึ่งบริษัท สเปซเอ็กซ์ ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการ หรือรูปแบบของยานอวกาศที่จะทำหน้าที่บังคับให้สถานีอวกาศตกลงสู่ชั้นบรรยากาศโลก


สำหรับสถานีอวกาศนานาชาติ ISS เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหน่วยงานด้านอวกาศหลายประเทศ เช่น ESA (European Space Agency), JAXA (Japan Aerospace Exploration Agency), CSA (Canadian Space Agency), State Space Corporation Roscosmos (Russia) และนาซา ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นการส่งโมดูลแรกขึ้นสู่อวกาศในปี 1998 ก่อนประกอบชิ้นส่วนโครงสร้างหลักสำเร็จในปี 2011


แม้ว่าตลอดระยะเวลากว่า 24 ปี สถานีอวกาศนานาชาติ ISS ได้เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของความร่วมมือระหว่างประเทศในการสำรวจอวกาศและการค้นพบใหม่ ๆ ด้านอวกาศ แต่สถานีอวกาศแห่งนี้มีต้นทุนในการบำรุงรักษาที่สูง คาดว่าในแต่ละปีนาซาต้องใช้เงินงบประมาณ 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 478,000 ล้านบาท สำหรับการบำรุงรักษาสถานีบนอวกาศ และอีกประมาณ 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 662,000 ล้านบาท สำหรับใช้ภารกิจขนส่งลูกเรือ และทรัพยากรต่าง ๆ ขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ISS


ปัจจุบันสถานีอวกาศนานาชาติ ISS มีโครงสร้างน้ำหนักรวมทั้งหมด 419.7 ตัน นับเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่สุดบนอวกาศของมนุษย์ โดยมีความเร็วในการโคจรมากกว่า 29,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือโคจรรอบโลกในทุก ๆ 90 นาที โดยกล่าวกันว่านักบินอวกาศบนสถานีอวกาศแห่งนี้มองเห็นพระอาทิตย์ขึ้น 16 ครั้งต่อวัน ตามการโคจรรอบโลกของสถานีอวกาศ นอกจากนี้ยังเคยมีนักบินอวกาศจาก 23 ประเทศ ได้มีโอกาสเดินทางขึ้นไปทำการทดลองวิทยาศาสตร์ และทำภารกิจอื่น ๆ บนสถานีอวกาศแห่งนี้


นาซาพยายามยืดอายุการใช้งานสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ให้นานมากที่สุด โดยใช้ความร่วมมือกับบริษัทเอกชน เช่น บริษัท Axiom Space ซึ่งจะพัฒนาโมดูลสถานีอวกาศใหม่ และส่งขึ้นไปเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติ ISS มูลค่าโครงการมากกว่า 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5,142 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นห้องทดลองและสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับนักบินอวกาศเอกชน อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ยุติภารกิจในปี 2030 โมดูลของบริษัท Axiom Space จะสามารถแยกตัวออกมาแบบอิสระจากสถานีอวกาศนานาชาติ ISS เพื่อทำภารกิจต่อไปบนอวกาศ ในขณะที่สถานีอวกาศนานาชาติ ISS ตกลงสู่ชั้นบรรยากาศโลก


สำหรับเป้าหมายต่อไปขององค์การนาซาและประเทศพันธมิตรอยู่ที่วงโคจรของดวงจันทร์ โดยปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนเตรียมส่งสถานีอวกาศสำหรับโคจรรอบดวงจันทร์ หรือ Lunar Gateway ไปโคจรรอบดวงจันทร์ เพื่อใช้เป็นจุดเชื่อมต่อสำหรับภารกิจส่งมนุษย์ไปลงจอดบนดวงจันทร์ และภารกิจการสำรวจดาวอังคารในอนาคต ภารกิจแรกของสถานีอวกาศโคจรรอบดวงจันทร์คาดว่าจะมีขึ้นในปี 2024


ที่มาของข้อมูล

Newatlas

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง