รีเซต

7 สิ่งประดิษฐ์ที่คนสร้างรู้สึก ‘เสียใจ’ ภายหลัง

7 สิ่งประดิษฐ์ที่คนสร้างรู้สึก ‘เสียใจ’ ภายหลัง
แบไต๋
17 พฤศจิกายน 2565 ( 12:37 )
66

มนุษย์กับความรู้สึกเสียใจเป็นของคู่กัน แม้จะไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่ตัวเองทำวันนี้จะมีผลตามมายังไง แต่ทุกการตัดสินใจนั้นมีผลที่ตามมาเสมอ ไม่เว้นแม้แต่สิ่งประดิษฐ์ที่ภายหลังถูกใช้เพื่อฆ่าชีวิตคนนับล้านทั่วโลก

Albert Einstein – ระเบิดปรมาณู

Albert Einstein – ระเบิดปรมาณู

E = mc2 (พลังงาน เท่ากับมวลคูณความเร็ว ยกกำลังสอง) ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) เป็นเหมือนแผนที่ที่นำไปสู่การสร้างอาวุธนิวเคลียร์และระเบิดปรมาณู แม้ว่าไอน์สไตน์ คิดค้นทฤษฎีนี้ขึ้นมา เพื่อสร้างพลังงานสะอาด ไม่ได้มุ่งหวังสร้างอาวุธเพื่อทำลายล้างชีวิตของผู้คน แต่มันก็ถูกใช้ไปในทางนั้นด้วย

เขาเชื่อว่าเยอรมันกำลังจะประสบความสำเร็จในการสร้างระเบิดปรมาณูของตัวเอง ในปี 1939 จึงตัดสินใจเขียนจดหมายไปถึง แฟรงกลิน โรสเวลต์ (Franklin Roosevel) ประธานาธิบดีของสหรัฐในสมัยนั้นเพื่อสนับสนุนให้สร้างระเบิดปรมาณูของพวกเขาเองซึ่งก็เป็นที่มาของระเบิดที่ไปลงที่ญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สองนั่นเอง ซึ่งการระเบิดนั้นก็ทำให้ไอน์สไตน์รู้สึกผิดมากและบอกในภายหลังว่าถ้าเขา ‘รู้ว่าพวกเยอรมันไม่มีทางสร้างระเบิดปรมาณูสำเร็จ เขาจะไม่เขียนจดหมายนั้นเลย’

Mikhail Kalashnikov — AK-47

Mikhail Kalashnikov — AK-47

มีฮาอิล คาลาชนิคอฟ (Mikhail Kalashnikov) ได้เห็นความโหดร้ายของสิ่งประดิษฐ์ของตัวเองในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ปืนไรเฟิลอัตโนมัติที่ถูกออกแบบให้สร้างขึ้นมาได้ในปริมาณมากและราคาไม่แพง ทำให้มันกลายเป็นปืนที่ถูกใช้ในการทหารในวงกว้าง ซึ่งถือว่าเป็นปืนรุ่นที่พรากชีวิตคนไปมากที่สุด เขาเสียชีวิตไปในปี 2014 แล้วเคยกล่าวไว้ในจดหมายถึงผู้นำของโบส์ที่รัสเซียว่า

“ผมกลับมาที่คำถามเดิมซ้ำ ๆ ถ้าไรเฟิลของผมพรากชีวิตคน มันในฐานะผู้ที่มีความเชื่อแบบดั่งเดิมเป็นผู้ต้องรับผิดชอบต่อความตายเหล่านั้นไหม แม้ว่าพวกเขาจะเป็นศัตรูก็ตาม?”

Tim Berners Lee – Double Slash (// ในลิ้งค์เว็บไซต์)

Tim Berners Lee

เซอร์ทิโมที จอห์น เบอร์เนิร์ส-ลี (Tim Berners Lee) ผู้คิดค้นและประดิษฐ์ภาษา HTML และ World Wide Web พื้นฐานและต้นแบบของเว็บไซต์ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน มันเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้โลกนี้เชื่อมต่อถึงกันผ่านข้อมูลและโครงข่าย แต่ถ้ามีสิ่งหนึ่งที่เขาจะเสียใจก็คงหนีไม่พ้นเจ้า ‘//‘ (Double Slash) ที่ต้องใส่หลังจาก ‘https:’ นั่นแหละ ในบทความของเว็บไซต์ Business Insider เขากล่าวว่า

“จริงนะ ถ้าลองคิดดู มันไม่จำเป็นต้องมี // ผมสามารถออกแบบโดยที่ไม่ต้องมี // ก็ได้”

Ethan Zuckerman – โฆษณาป็อปอัพ (Pop-up ads)

Ethan Zuckerman

เชื่อว่าไม่มีใครชอบโฆษณาป็อปอัพที่โผล่ขึ้นมาตอนเข้าไปที่เว็บไซต์ต่าง มันยุ่งเหยิงและรบกวนการอ่าน บางอันไม่ใช่แค่โฆษณาแต่เป็นสแปมหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวก็มี

อีธาน ซักเกอร์แมน (Ethan Zuckerman) คือคนที่อยู่เบื้องหลังการสร้างเจ้าโฆษณาป็อปอัพนี้ขึ้นมาครับ เขาเขียนบทความลงบนเว็บไซต์ The Atlantic ชื่อว่า “The Internet’s Original Sin”โดยบอกว่าเขาขอรับผิดชอบกับการสร้างเจ้าหน้าต่างป็อปอัพโฆษณาเหล่านี้เอง ตอนนั้นเขาทำงานที่บริษัท Tripod ที่เป็นเว็บไซต์หนึ่ง พยายามหาช่องทางสร้างรายได้มาห้าปีแล้ว “สุดท้ายแล้วโมเดลธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับเราคือโฆษณา โดยโมเดลที่ทำให้เราถูกซื้อกิจการคือการวิเคราะห์หน้าเว็บไซต์ของผู้ใช้งานแต่ละคนแล้วก็ส่งโฆษณาไปให้พวกเขา ตลอดเส้นทางเราได้สร้างเครื่องมือที่ถูกเกลียดมากที่สุดในกล่องเครื่องมือของนักโฆษณาที่เรียกว่า ‘โฆษณาป็อปอัพ’”

Dong Nguyen – Flappy Bird

Flappy Bird

ถ้ายังจำได้เมื่อหลายปีก่อนมีเกมมือถืออันหนึ่งที่ฮิตมาก เป็นนกตัวสีเหลือง ๆ ที่บินขึ้นลงเพื่อหลบสิ่งกีดขวางชื่อว่า “Flappy Bird” เกมนี้ถูกสร้างขึ้นมาโดยชายที่ชื่อ ด่อง เหงียน (Dong Nguyen) และทำรายได้ให้เขามากกว่า 1.5 ล้านบาทต่อวัน มียอดดาวน์โหลด 50 ล้านครั้ง

ด่อง เหงียน กลับรู้สึกว่าชื่อเสียงและความสนใจที่เขาได้รับนั้นมันมากเกินไป ไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ ทั้งมีคนโทรมาหา ทวีต อีเมลต่าง ๆ นานา สุดท้ายเขาก็ทวีตว่า “พอแล้วรับไม่ได้อีกแล้ว” และดึงเกมออกจาก iOS เลย

แต่กลายเป็นว่าหลังจากนั้นคนก็ยังพยายามติดต่อเขาอยู่เพื่อขอให้เอาเกมกลับคืนมา บางคนถึงขั้นขู่ทำร้ายร่างกายก็มี โทรศัพท์เครื่องไหนที่มีเกมนี้ติดตั้งอยู่ก็มีการขายเพื่ออัพราคาผ่าน eBay ด้วย หลังจากนั้นก็มีเกมก็อปปี้ที่คล้าย ๆ กันออกมามากมาย

Bob Propst – Cubicles (คอกทำงาน)

Bob Propst – Cubicles

ในช่วงที่ทำงานให้กับบริษัท Herman Miller (บริษัทผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์สำนักงานชั้นนำระดับโลก)ในยุค 60’s บ๊อบ พร็อพสท์ (Bob Propst) ได้ออกแบบแผนผังออฟฟิศการทำงานรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า ‘Open Plan Office’ หรือออฟฟิศแบบพื้นที่โล่งแทนที่จะเป็นออฟฟิศแบบเป็นห้องเหมือนสมัยก่อน ตามมาด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘คอกทำงาน’ (Cubicles) ซึ่งเขาก็บอกว่าสำนักข่าว The New York Times ในปี 1997 ว่ามันเป็นการมอบอิสระภาพให้กับสภาพแวดล้อมที่ลื่นไหลมากกว่าที่จะเป็นเขาวงกตของออฟฟิศแบบเป็นห้อง ๆ เหมือนสมัยก่อน

แต่ภายหลังเขาก็มารู้สึกเสียใจกับสิ่งที่สร้างขึ้นมาเพราะบริษัทต่าง ๆ นำมันไปใช้เพื่อเป็นหนทางในการประหยัดเงิน อัดคนให้อยู่ในคอกเล็ก ๆ “การเอาคนไปอยู่ในคอกทำงานขององค์กรสมัยใหม่นั้นเป็นความบ้าบอันยิ่งใหญ่มาก”

Anna Jarvis – Mother’s Day (วันแม่)

Anna Jarvis

แอนนา จาร์วิส (Anna Jarvis) ผู้ก่อตั้งวันแม่ขึ้นมาในวันที่ 10 มิถุนายน 1908 ด้วยความรักที่เธอมีต่อแม่และความต้องการที่สร้างวันหยุดนี้เพื่อให้เฉลิมฉลองความรักระหว่างลูกกับแม่

ปัญหาคือเมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ เธอก็เริ่มรู้สึกว่าความหมายของวันแม่นั้นแตกต่างไปจากที่เธอคาดหวังเอาไว้ในตอนแรก ความตั้งใจที่อยากจะให้วันนี้เป็นการระลึกถึงคุณแม่ทุกคนบนโลก แต่กลายเป็นว่าวันแม่ถูกใช้ไปในเชิงธุรกิจและสร้างรายได้ให้กับบริษัทองค์กรต่าง ๆ มากกว่า

ตั้งแต่ร้านดอกไม้ที่ฉวยโอกาสขึ้นราคา ของฝาก ของขวัญ ห้างสรรพสินค้า ร้านขายการ์ด ร้านขนม ร้านอาหาร หรือแม้แต่รับบริจาค ฯลฯ ทุกอย่างต่างฉกฉวยโอกาสจากแนวคิดอันบริสุทธิ์จนทำให้มันแปดเปื้อน เธอบอกว่าอยากให้วันนี้เป็นวัน “แห่งการหวนระลึกถึงกัน ไม่ใช่เพื่อผลกำไร”

==================

Mental Floss

Business Insider

Reader Digest

The Atlantic

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง